พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กับกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมในมาเลเซีย***

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กับกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมในมาเลเซีย***

นคอลัมน์นี้ ผู้เขียนเคยพยายามอธิบายปัญหาของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับเก่าและฉบับแก้ไขใหม่ ไปแล้วหลายครั้ง นานเป็นปีก่อนที่กฎหมายจะออก

โดยเฉพาะ มาตรา 14(1) ซึ่งตลอดสิบปีที่ผ่านมาถูกนำไปใช้ฟ้องคดีหมิ่นประมาทเป็นจำนวนมาก และการใช้มาตรานี้ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่ผ่านมาถูกใช้ฟ้องความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาไม่น้อยกว่า 215 คดี มากกว่าความผิดต่อระบบ (ซึ่งเป็นเจตนารมณ์หลักของการออกกฎหมาย!) ถึง 3.5 เท่า (งานวิจัยนับสถิติปี 2550-2554)

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้หลายครั้ง ความตอนหนึ่งว่า

“วันนี้แก้ไขชัดเจนแล้วว่ามาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีหมิ่นประมาทต่างๆ จะหายไป ที่มีคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลต่างๆ จะหายไปเลยประมาณ 50%

พร.บ.คอมพิวเตอร์ จะว่าด้วยการปลอมแปลงตัวตน หรือปลอมแปลงเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินอย่างเดียว ฉะนั้นไม่มีปัญหาแล้ว”

ผู้เขียนฟังกูรูกฎหมายแล้วก็ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เพราะมาตรา 14(1) ในกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่กำหนดฐานความผิดไว้กว้างขวางและคลุมเครือว่า

โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

ถึงแม้จะมีวลี “อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ห้อยท้ายไว้แล้วก็ตาม ฐานความผิดที่คลุมเครือและกว้างขวาง เปิดช่องให้ตีความตามอำเภอใจ (ใครจะตัดสินว่าข้อความใด เท็จ หรือ บิดเบือน โดยเฉพาะข้อความที่เป็นเพียงความเห็น ? จะพิสูจน์เจตนาได้อย่างไรว่า ผู้โพสไม่ได้ตั้งใจจะ “หลอกลวง” ?) จนผู้เขียนไม่คิดว่ากูรูกฎหมายคนไหนจะรับประกันได้ว่าจะไม่มีการใช้มาตรานี้ในการกลั่นแกล้งปิดปากคนอื่นอีก ดังที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างเช่นคดีฟ้องนักข่าว, ฟ้องนักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชน, ฟ้องสมาชิกสหภาพแรงงาน, และแม้แต่ฟ้องคนธรรมดาที่เพียงแต่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชาย หรือปกป้องชุมชนของตัวเอง

และมาถึงวันนี้ นานข้ามปีหลังจากที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ประกาศใช้ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มาตรา 14(1) ยังคงถูกนำมาใช้ในการกลั่นแกล้ง ปิดปากสื่อ นักสิทธิมนุษยชน และประชาชนที่แสดงความเห็นในโลกออนไลน์ต่อไป ไม่ต่างจากฉบับเดิมก่อนแก้ไข ดังที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่เนืองๆ หลายกรณี

สื่อไทยยังไม่เคยรวมพลังกันท้าทายกฎหมายฉบับนี้ และคำสั่ง คสช. ต่างๆ ที่เซ็นเซอร์และควบคุมการทำงานของสื่อ อย่างมากเท่าที่เห็นก็คือการออกมาเรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่ลิดรอนสื่อ ปีละครั้งสองครั้ง หลังจากนั้นก็เงียบหายไป

ในแง่นี้ สื่อมวลชนมาเลเซียไปไกลกว่านั้น ล่าสุดปลายเม.ย.ปีนี้ MalaysiaKini (มาเลเซียกินี) หัวหอกสื่อทางเลือกในมาเลเซีย ยื่นเรื่องต่อศาลสูงมาเลเซียให้ตีความว่า กฎหมายต่อต้านข่าวปลอม” (Anti Fake News Law) ฉบับที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อตอนต้นเดือน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาเลเซียหรือไม่ โดยมาเลเซียกินีมองว่ากฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิพลเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมาย

ดูเผินๆ จากชื่อกฎหมายฉบับนี้หลายคนอาจบอกว่า ก็ดีแล้วนี่นา “ข่าวปลอม” โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียเป็นปัญหาใหญ่ที่แพร่สะพัดไปทั่วโลก ดีแล้วไม่ใช่หรือที่รัฐจะหาทางจัดการ

แต่เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ อีกร้อยแปดพันเก้าในโลก ในแง่ที่ว่า “ทางออก” ที่รัฐเสนอว่าจะช่วยแก้ปัญหา อาจไม่ได้แก้ปัญหานั้นจริงๆ ซ้ำยังทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ที่รุนแรงกว่าปัญหาเดิม

การมองให้เห็นปัญหานั้นสำคัญก็จริง แต่การเลือก “ทางออก” หรือวิธีแก้ที่ถูกต้อง นั้นสำคัญยิ่งกว่า

ผู้เขียนเห็นว่า “ทางออก” ของปัญหาข่าวปลอมระบาดไม่ใช่การควบคุมสื่อให้เข้มกว่าเดิม ออกกฎหมายนิยาม “ข่าวปลอม” แบบกว้างเป็นทะเลจนสุ่มเสียงว่ากฎหมายจะถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปาก หากแต่ทางออกคือการติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนคนเสพสื่อ เพิ่มระดับการอบรมทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และเรียกร้องความรับผิดชอบมากขึ้นจากบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ในฐานะ “เวที” การเผยแพร่ข่าวปลอม ให้ทำหน้าที่คล้าย “บรรณาธิการ” มากขึ้น เช่น ห้ามไม่ให้ค่ายที่มีสถิติชัดเจนว่าจงใจผลิตข่าวปลอมเป็นหลัก มีช่องทางหารายได้จากการขายโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย, ขึ้นป้ายเตือนคนอ่าน และมีลิงก์ไปยัง “ข่าวจริง” ในกรณีที่มีการตรวจสอบแล้วว่าเนื้อหาใดเป็น “ข่าวปลอม” เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้โซเชียลมีเดียค่ายใหญ่อย่างเฟซบุ๊คทดลองทำแล้ว และทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเผชิญกับความโกรธแค้นของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊ค ตั้งแต่เรื่องข่าวปลอมระบาดหนัก ไปจนถึงการขายข้อมูลส่วนบุคคลให้บริษัทต่างๆ ไปใช้ทำโฆษณาชวนเชื่อโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้ตัว และผู้เขียนก็เชื่อว่าฝ่ายรัฐในหลายประเทศก็จะไม่ลดละความพยายามในการหา “วิธี” กำกับดูแลเฟซบุ๊คอย่างเข้มกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกันไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

แล้วกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมของมาเลเซียแย่อย่างไร ในมุมมองของมาเลเซียกินีและสื่ออื่นๆ อีกหลายค่ายที่ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ ? พวกเขาชี้ว่า กฎหมายนี้นิยาม “ข่าวปลอม” ไว้กว้างมากว่า หมายถึง “ข่าว ข้อมูล ข้อมูลดิบ และรายงานที่เป็นเท็จทั้งหมด หรือเป็นเท็จบางส่วน” โดยครอบคลุมเนื้อหาดิจิทัลและโซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย แถมผู้ที่อาจตกเป็นจำเลยก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชาวมาเลเซีย เป็นชาวต่างด้าวก็ได้ ตราบใดที่เนื้อหาใน “ข่าวปลอม” นั้น “เกี่ยวข้องกับมาเลเซีย ...หรือคนมาเลเซีย”

บทลงโทษของผู้สร้างหรือเผยแพร่ “ข่าวปลอม” ตามกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างสูง กล่าวคือ มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน และค่าปรับสูงสุด 130,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 4 ล้านบาท)

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะปิดกั้นการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรีพัวพันกับกรณีอื้อฉาว ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินของกองทุนของรัฐ ส่งผลให้ประชาชนนับแสนคนออกมาเดินขบวนประท้วงขับไล่ในปี พ.ศ. 2559 แต่ไม่เป็นผล

นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แอนดรูว คู (Andrew Khoo) ชาวมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมกระทบสื่อแน่นอนเพราะ “ยากมากที่ใครจะรับประกันว่าทุกสิ่งทุกอย่างในข่าวถูกต้อง 100% เมื่อมันถูกรายงานขึ้นมาครั้งแรก ...ข่าวย่อมพัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎหรือถูกเปิดออกมามากขึ้น”

 

*** ชื่อเต็ม: สื่อในศตวรรษที่ 21 (18): พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กับกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมในมาเลเซีย