“ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้” ทำร้ายชีวิต

“ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้” ทำร้ายชีวิต

สิ่งที่เราพบกันอยู่บ่อยๆ จนน่าแปลกใจก็คือ คนที่มีความสามารถไม่สูงมักมีความคิดอย่างไม่ตรงกับความเป็นจริงว่า

ตนเองมีความสามารถสูงกว่าที่ตนเองเป็น ในขณะเดียวกันในจำนวนที่น้อยกว่าก็พบคนที่มีความสามารถสูง แต่คิดว่าตนเองมีความสามารถต่ำกว่าที่เป็นจริง ความเข้าใจเอนเอียงเช่นนี้ไม่เป็นผลดีเพราะทำให้เกิดการไม่พยายามพัฒนาตนเองในกรณีแรกและทำงานต่ำกว่าศักยภาพในกรณีหลัง

ในทางจิตวิทยามีชื่อเรียกการเอนเอียงทางความคิดว่ามีความสามารถมากกว่าความจริงว่า Dunning–Kruger Effect ซึ่งเรียกตามงานศึกษาของนักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ กรณีศึกษาหนึ่งของทั้ง 2 คือการปล้นธนาคารของโจร ชื่อMacArthur Wheeler หนุ่มวัย44ปีในปี1995 ในเมืองPittsburgh สหรัฐ เขามั่นใจว่าเขามีความรู้ดีมากเกี่ยวกับคุณลักษณะพิเศษของน้ำมะนาว จึงเอามาทาหน้าก่อนที่จะบุกเข้าปล้นธนาคาร เขาบอกว่าเมื่อน้ำมะนาวสามารถใช้เป็นส่วนผสมของหมึกที่เขียนแล้วมองไม่เห็นได้จนกว่าจะใกล้ความร้อน ดังนั้นเมื่อเอามาทาหน้ากล้องที่ธนาคารก็จะไม่สามารถจับภาพเขาได้

เขามั่นใจมากเพราะได้ทดลองselfieแล้ว โดยใช้กล้องโพลารอยด์และก็ไม่เห็นหน้าจริงๆ เรื่องนี้คงเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากปล้นธนาคารได้สำเร็จไป 2 แห่งใน 1 วัน จะด้วยความบกพร่องของฟิล์มหรือความโชคร้ายก็แล้วแต่ทำให้เขาเชื่อมั่นอย่างนั้นจริง ๆ

นักวิจัยทั้ง 2 พบว่า คนยิ่งด้อยความสามารถในการกระทำงานหนึ่งมากเพียงใด ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงมากเพียงนั้นที่จะประเมินความสามารถของตนเองสูงเกินความเป็นจริง ประเด็นก็คือ มนุษย์มิได้เก่งไปทุกเรื่อง ดังนั้นDunning–Kruger Effectจึงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเสมอ ถ้าท่านคิดว่ารู้เรื่องซ่อมหลังคาบ้านดี เข้าใจเรื่องความปลอดภัยอย่างเกินความเป็นจริ งท่านอาจพลาดตกจากหลังคาได้

Charle Darwin (ค.ศ. 1809-1882นักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ผู้ระบุว่าสัตว์ทุกเผ่าพันธุ์ล้วนมีที่มาจากบรรพบุรุษร่วมกัน)เคยบอกว่า “ ‘ความไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้บ่อยมากกว่าที่ความรู้สามารถ” (Ignorance more frequently begets confidence than does knowledge.)

Ignorance เป็นคีย์เวิร์ดที่ทุกชีวิตต้องระวัง ไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่า “การไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้ กล่าวคือนึกว่าตนเองรู้โดยแท้ที่จริงแล้วไม่รู้รู้ไม่เพียงพอหรือรู้อย่างผิดๆ(บุคคลสำคัญที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ในโลกปัจจุบันคือนายDonald Trump สื่ออเมริกาบอกว่า“he does not know that he does not know” )จนอาจนำพาชีวิตไปสู่ความเสียหายได้อย่างน่าเสียดายยิ่ง

คนประเภทน้ำล้นแก้วคือคนที่มั่นใจว่าตนเองเข้าใจหรือรู้เรื่องนั้นอย่างดีเยี่ยมแล้วโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมหรือฟังใครอีกย่อมไม่มีการพัฒนาตนเองและในโลกยามนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าการไม่ตระหนักว่าตนเองต้องรู้เพิ่ม การขาดความรู้ การขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวใหม่ ๆ

Dunning-Kruger Effectสื่อถึงการมีภาพลวงตาว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น(illusory superiority)ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่สามารถใช้กระบวนการคิดเข้าใจตนเองเพื่อประเมินความสามารถที่แท้จริงของตนเองได้ลักษณะเช่นนี้มักเกิดกับคนที่มีความสามารถไม่สูงในการกระทำงานหนึ่งอยู่บ่อย ๆ

สำหรับคนที่มีความสามารถสูงนั้นมีทางโน้มที่จะทึกทักอย่างผิดๆ ว่างานที่ตนเองเห็นว่าง่ายสำหรับเขานั้น น่าจะง่ายสำหรับคนอื่นด้วยหรือคนอื่นน่าจะเข้าใจอย่างเดียวกันกับที่เขาเข้าใจด้วย

คนมีความสามารถไม่สูงที่ประเมินตนเองเกินความจริงนั้นเป็นเรื่องของความคิดภายในและเกี่ยวกับตัวของเขาเอง ส่วนคนที่มีความสามารถสูงจนทึกทักคนอื่นว่าเป็นอย่างตนนั้น เป็นเรื่องของประเมินสิ่งภายนอกที่ผิดและเกี่ยวกับคนอื่น

เหตุใดคนมีความสามารถต่ำมักประเมินตัวเองเกินเลย? Dunning-Krugerทำการทดลองอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับนักศึกษาเพราะมีข้อมูลเรื่องเกรดกับการประเมินตนเอง เป็นฐาน และพบว่ามนุษย์ทุกระดับความสามารถไม่สามารถประเมินความสามารถของตนเองได้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น “ความไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้”มีบทบาทสำคัญสำหรับคนมีความสามารถไม่สูง นอกจากนี้การประเมินตนเองสูงก่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาในด้านบวก กล่าวคือเป็นการขยายความเชื่อว่าตนเองมีความสำคัญ (self esteem)

การประเมินตนเองไม่ถูกต้องไม่ว่าต่ำเกินไปหรือสูงเกินไปล้วนไม่เป็นผลดีเพราะเมื่อไม่ใช่ความจริง(truth)มันก็นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องตามมาเช่น ไม่พัฒนาตนเองเพราะคิดว่าตนเองเก่งแล้วหรือทำงานต่ำกว่าศักยภาพเพราะเข้าใจว่าตนเองยังไม่เก่ง นี่คืออานุภาพของความจริง

ดีกรีของDunning-Kruger Effectแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม เมื่อมีงานวิจัยในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่อเมริกาเหนือก็พบว่าวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายความแตกต่างของดีกรีสำหรับอารยะธรรมตะวันออกที่ถูกสอนให้ถ่อมตน ไม่คิดคุยโม้โอ้อวดนั้นงานศึกษาพบว่ามีดีกรีน้อยกว่าและพบอีกว่าคนญี่ปุ่นมีทางโน้มที่จะประเมินความสามารถของตนเองต่ำเกินไปและมีทางโน้มที่จะมองว่ามันเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเองขึ้นอีกซึ่งหมายถึงการเพิ่มคุณค่าให้แก่สังคมของตนเอง

การสามารถประเมินความสามารถของตนเองได้อย่างถูกต้องนั้น ในพื้นฐานต้องมีignoranceในภาพรวมและในทุกเรื่องให้น้อยที่สุดเพราะสิ่งนี้คือยาพิษที่ทำให้คนๆหนึ่ง“โง่”ได้อย่างง่าย ๆ

เมื่อประมาณ100ปีก่อน William Shakespeareบอกว่า“The fool doth think he is wise, but the wise man knows himself to be a fool”เราควรที่จะเป็นfoolกันเพื่อเราจะได้เป็นwise