การสร้างบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ (2)

การสร้างบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ (2)

ผมได้รับรูปภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณป่าโดยรอบที่มีการสร้างสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมที่เชียงใหม่

น่าจะเป็นภาพที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะเป็นภาพมุมกว้าง ไม่ใช่พื้นที่ที่เจาะจงเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหา แล้วก็เอามาแชร์ด่าว่า เสียดสี ส่อเสียดผู้พิพากษา ทั้งๆ ที่ผู้พิพากษาไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย เป็นเรื่องของสำนักงานศาลยุติธรรมที่ดำเนินการงานด้านบริหารศาลทั่วประเทศ

จริงๆ แล้วภาพนี้ก็ไม่ชี้ชัดเท่าไรว่าพื้นที่บางส่วนของภาพที่ลึกเข้าไปในป่ามีสภาพอย่างไร แต่เท่าที่ดูก็คือลึกกว่าพื้นที่ที่สร้างบ้านพักให้ข้าราชการศาลยุติธรรมพักค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือเป็นทางน้ำไหล เพราะอยู่ระหว่างสองทิวเขา และน่าจะเป็นแหล่งรับน้ำสำคัญ เพราะน้ำน่าจะไหลมารวมกันตามทางน้ำมากกว่าน้ำที่ไหลทั่วๆ ไปตามไหล่เขา

มีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งเรื่องการก่อสร้างหรือใช้พื้นที่ที่ติดกับภูเขาสูง ว่าถ้าระดับความชันของพื้นที่เกินกว่า 35 องศา จะไม่สามารถเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของปลูกสร้าง รวมถึงใช้เพาะปลูกทำการเกษตร เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน อาจจะมีข้อยกเว้น เช่น สร้างสถูปเจดีย์ วัด หรืออะไรที่ได้รับอนุญาต และไม่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ทั่วประเทศน่าจะมีการฝ่าฝืนกฎหมายนี้ไม่ใช่น้อย เพราะมีสิ่งก่อสร้างชิดเขาสูงชันเกินองศาที่กำหนด และเอาจริงๆ แล้วมีทั่วประเทศที่เป็นแบบนี้

ที่เห็นมากับตาเวลาลงพื้นที่ เช่น ที่ภูเก็ต ถึงขนาดสร้างโรงแรมห้องพักบนภูเขา แถวนครนายก ขนาดเป็นพื้นที่ทหาร อยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนเตรียมทหาร ก็มีคนเข้าไปถากถางเพาะปลูกทำประโยชน์ชิดภูเขาหรือขึ้นไปบนภูเขา ถ้าเพาะปลูกได้ ที่ไม่ใช่พื้นลาด ปลูกพืชอายุสั้น ทางภาคใต้ก็มีจำนวนมากรุกขึ้นไปปลูกผลไม้ ปลูกสะตอ

เกือบทั้งหมดผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีใครฟ้องร้อง ก็อยู่กันไปทำมาหากินกันไป บางทีเป็นชั่วอายุคน พอรัฐจะบังคับใช้กฎหมายก็จะออกมาต่อต้าน เพราะทำมาหากินมานานหลายสิบปีแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เป็นเช่นนั้น

กลับมาดูคำถามสำคัญที่ว่าการก่อสร้างดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ข้อนี้ไม่มีใครแย้งว่าผิดกฎหมายใด แต่ที่โต้แย้งคือชอบธรรมหรือไม่ เพราะพื้นที่ที่ก่อสร้างเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ที่ประชาชนชาวเมืองเชียงใหม่ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผืนป่าที่ต้องอนุรักษ์ การเข้าไปก่อสร้างบ้านพักถือเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นการทำร้ายจิตใจของชาวเมือง ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลง และประชาชนชาวเชียงใหม่ไม่เห็นด้วย

เท่าที่ติดตามจากสื่อทีวีสองสามช่องและสื่อออนไลน์ที่แชร์ เกือบทั้งหมดที่คัดค้านก็มักอยู่ในแนวทางเดียวกัน ต้องอนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลัง ต้องคืนพื้นที่ป่า ต้องรื้อสิ่งก่อสร้างทั้งหมด

ฝ่ายสำนักงานศาลยุติธรรม (ไม่ใช่ศาลยุติธรรม) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านบริหารศาลยุติธรรม ก็ออกมาชี้แจงความถูกต้องตามกฎหมายของการก่อสร้างในพื้นที่ และไม่สามารถรื้อออกได้เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เนื่องจากการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงบประมาณที่ต่อเนื่องมานับสิบปีนับแต่เริ่มดำเนินการ เงินทั้งหมดมาจากภาษีประชาชน แต่รับปากว่าจะพยายามสร้างภูมิทัศน์และปลูกต้นไม้ให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด (ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้)

เรื่องนี้น่าจะมีทางออกสองทางเลือก

1.ให้รัฐบาลใช้อำนาจสั่งยุติการก่อสร้าง และรื้อถอนทุบทิ้งสิ่งก่อสร้างทั้งหมด ไม่อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรมมีสำนักงานใดๆ ในพื้นที่นี้ เพราะแม้ไม่เอาบ้านพักแต่จะเอาอาคารที่ทำงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไว้ ก็จะทำให้คนเมืองจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่ดีทุกครั้งที่เห็นอาคารสำนักงานนี้ จึงควรรื้อถอนทิ้งทั้งหมดและปลูกป่าทดแทนให้เหมือนเดิม ส่วนจะต้องสร้างสำนักงานใหม่ที่ไหน ก็ให้สำนักงานศาลยุติธรรมประสานกับสำนักงานราชพัสดุ และให้ทำประชามติถามคนเชียงใหม่ว่าจะให้สร้างหรือไม่ ถ้าไม่ให้สร้าง สำนักงานศาลยุติธรรมก็ขอเช่าอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ที่ประชาชนสะดวกในการติดต่อ ถ้าไม่มีในเขตเมืองก็อาจไปสร้างนอกเมืองที่สามารถรองรับการให้บริการได้ ส่วนที่พักผู้พิพากษาตุลาการบุคลากรศาล ก็ให้จัดหาเช่าเป็นสัญญาเช่ารายปีไป หรือ

2.ให้ทำประชามติชาวเชียงใหม่ทั้งจังหวัด ว่าต้องการให้พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักผู้พิพากษาและข้าราชการศาลที่ย้ายมาทำงานเป็นการชั่วคราว ณ พื้นที่นี้หรือไม่ ถ้าผลประชามติออกมาอย่างไรก็ดำเนินการไปตามนั้น เป็นการยุติข้อโต้แย้งที่สร้างความลำบากใจให้หลายฝ่าย ถ้าประชาชนชาวเชียงใหม่ไม่เห็นด้วยที่จะสร้าง ก็ให้สำนักงานศาลยุติธรรมจัดเช่าสถานที่ทำงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักของผู้พิพากษาข้าราชการบุคลากรศาลที่ไปทำงานที่เชียงใหม่ชั่วคราว เพราะพวกเขาทั้งหมดไม่ได้ไปอยู่ประจำหลายปี แค่ไปทำงานสองสามปีก็ต้องย้ายไปตามระบบการทำงานของฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

ที่เสนอมานี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบจิตใจประชาชนชาวเชียงใหม่อย่างหนัก ก็ต้องเข้าใจและถอยออกมา การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาจเสียหายสักพันหรือสองพันล้าน ก็ดีกว่าการดันทุรังสร้าง สร้างความหม่นหมองให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกครั้งที่เห็น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลกระทบทางจิตใจที่ประเมินค่ามิได้

และขอให้เป็นบทเรียนที่สำคัญของหน่วยงานรัฐ ที่จะก่อสร้างสำนักงานของหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ให้ทำประชามติถามประชาชนในพื้นที่นั้นก่อน เพราะการดำเนินการที่ถูกกฎหมายนั้นอาจขัดต่อความรู้สึกของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องก่อสร้าง เพราะอาคารพร้อมให้เช่าอาศัยนั้นมีมากมายอยู่แล้ว พิจารณาความสะดวกในการติดต่อของประชาชนมากกว่าความสะดวกสบายของผู้ปฏิบัติงาน อย่างนี้ประชาชนจะพอใจ

ขณะเดียวกันก็อยากขอร้องให้ผู้กล่าวหาผู้พิพากษาตุลาการอย่างผิดๆ ว่าอยากมีอยากได้ที่จะอยู่บ้านพักอย่างดีว่า เรื่องนี้ไม่ใช่กิจการของผู้พิพากษาตุลาการ เป็นเรื่องของการดำเนินการของฝ่ายบริหารที่ดำเนินการมาเป็นระยะ งานของผู้พิพากษาตุลาการคือให้ความเป็นธรรมในคดีความที่มาสู่ศาล เป็นระยะเวลาสั้นๆ สองสามปีแล้วก็ต้องย้ายไปที่อื่นตามระบบของศาล คณะกรรมการตุลาการ หรือ กต. รวมทั้งประธานศาลฎีกา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างอาคารสำนักงานบ้านพักจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ที่เป็นเลขาธิการศาลยุติธรรม แม้จะเป็นผู้พิพากษา แต่ก็ต้องลาออกมาทำหน้าที่เลขาธิการ มีอำนาจสูงสุด ดูแลบริหารงานศาลทั้งหมด ไม่สามารถทำทั้งสองหน้าที่ได้ อย่าหลงด่า ส่อเสียด เสียดสี ตำหนิติเตียนผู้พิพากษาตุลาการที่มาทำหน้าที่ อย่าเหมารวม

เพราะถ้าด่ากราดไปทั้งหมด เพียงเพราะภาพที่แชร์ในสื่อสังคมที่คัดเลือกมาเฉพาะจุด โดยเจตนาเจาะจงสร้างความรู้สึกเกลียดชังสิ่งที่ไม่รู้จริง ผู้ที่ได้รับผลร้ายก็คงหนีไม่พ้นผู้ที่เป็นเหยื่อในสื่อออนไลน์ทั้งหลายนั่นเอง ส่วนผู้แชร์ก็ได้ความสะใจ ที่ไม่รู้ว่าทำให้ใครได้ประโยชน์อย่างไรหรือไม่