รอคนไทยพร้อมแล้วค่อยเก็บภาษี 'แม่ค้าออนไลน์'

รอคนไทยพร้อมแล้วค่อยเก็บภาษี 'แม่ค้าออนไลน์'

สนับสนุนว่าควรต้องมีการเสียภาษีให้ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการวางแผนนโยบายต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ระหว่างวันที่ 1-15 เม.ย.2561 ที่ผ่านมามีการเปิดประชาพิจารณ์ต่อ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งต้องรอผลว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านออกมาอย่างไรต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะแต่ออนไลน์เท่านั้น เพราะผลกระทบของภาษีนี้จะทำให้ใครก็ตามที่มีรายการโอนเงินเข้าบัญชีไม่ว่าจะมีกี่บัญชีก็ตาม หากมีการฝากหรือการโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือตั้งแต่ 200 ครั้งและมีมูลค่ารวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป ธนาคารจะต้องส่งรายงานไปให้แก่กรมสรรพากร

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเปิดบัญชีกับธนาคารใดก็จะต้องใช้บัตรประชาชนด้วย และเมื่อเวลาที่ใช้อี-แบงกิ้ง ข้อมูลต่างๆ จะขึ้นมาด้วยทั้งหมด ฉะนั้นผลกระทบของเรื่องดังกล่าวจึงไม่ใช่เฉพาะแค่วงการออนไลน์เท่านั้น ขณะที่รัฐบาลและธนาคารต่างๆ พยายามกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้ cashless และยอมไม่คิดค่าธรรมเนียมในการโอน แต่สรรพากรกลับกระทำเหมือนกำลังเดินถอยหลังเข้าคลองโดยประกาศกฎหมายฉบับนี้ออกมา 

ต่อไปพวกพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือผู้ประกอบการทั้งหลายก็คงไม่อยากใช้ไม่ว่าจะพร้อมเพย์หรือ QR Code เพราะแต่ละครั้งที่มีการใช้ก็เท่ากับการนับจำนวนครั้งของบัญชีแล้ว แบบนี้จะกลายเป็นว่าสรรพากรพยายามทำให้คนไทยส่วนหนึ่งหนีออกจากออนไลน์และผลักไปใช้วิธีการชำระเงินแบบอื่นแทน

หากร่างฯ นี้ผ่าน มีโอกาสที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์​ที่เคยใช้บริการธนาคาร อาจใช้วิธีการรับมือโดยการเปิดหลายๆ บัญชี ทั้งเปิดเองหรือให้ญาติพี่น้องหรือคนอื่นๆ เปิดแทน เพื่อกระจายเงินที่ได้ออกไปหลายๆ บัญชีก็เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบทางการเงินจากสรรพากร 

เรื่องนี้ยังอาจกระทบไปถึงธุรกิจสีเทาอื่นๆ อย่างพวกแทงหวย พนันบอล ฯลฯ เผลอๆ พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นอาจใช้วิธีรับเงินผ่านทาง E-Wallet แทน เพราะไม่ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากรเท่านี้ก็รอดแล้ว ไม่เช่นนั้นสรรพากรต้องมาเขียนกฎหมายเพิ่มให้ครอบคลุมผู้ให้บริการ E-Wallet อีก คราวนี้พวกเขาคงย้ายไปใช้ Wallet ต่างประเทศอย่าง PayPal กันหมดแน่ หรืออาจหันมารับจ่ายกันด้วย CryptoCurrency ไปเลย

ที่ผมกังวลอย่างมากก็คือเรื่องของ privacy เราจะต้องอยู่ในประเทศที่ภาครัฐสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลหรือดึงข้อมูลในบัญชีได้หมด? ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจริงจะกระทบเป็นวงกว้างแน่นอน หลายๆ ธุรกิจคงจะหันไปรับเงินสดแบบเดิมเพราะสบายใจมากกว่า ในฐานะที่คร่ำหวอดในวงการออนไลน์มานานและพยายามที่จะแนะนำคนไทยให้หันมาใช้พร้อมเพย์ คิวอาร์โค้ดและโมบายแบงกิ้งกันให้มากขค้น อดรู้สึกผิดหวังเล็กๆ ไม่ได้

กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง อาจทำให้บางคนคิดที่จะเลิกใช้ระบบดิจิทัลแลัวกลับไปใช้เงินสด หรือไม่เอาเงินเข้าธนาคารไทยอีกแล้ว เพราะไม่ต้องการถูกตรวจสอบ พากันย้ายเงินไปนอกประเทศหรือย้ายเงินไปอยู่ในระบบอื่นที่รัฐตรวจสอบไม่ได้ 

ประเทศไทยเรากำลังจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่การดำเนินการเรื่องนี้ผมว่าเร็วเกินไป ดิจิทัลในบ้านเรายังไม่โตเต็มที่ ถ้ารอเวลาอีกสัก 2-3 ปีให้ดิจิทัลได้เข้าไปอยู่ในทุกธุรกิจจริงๆ เสียก่อน ถึงเวลานั้นจะออกกฎหมายอะไรออกมาก็น่าจะเหมาะสมกว่านี้ ส่วนตัวผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฎหมายนี้เท่าใดนักและเชื่อว่ายังมีอีกหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องก็น่าจะไม่เห็นด้วยเช่นกัน

คงต้องรอผลกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ผมเองยังสนับสนุนว่าควรต้องมีการเสียภาษีให้ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามในภาครัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการวางแผนนโยบายต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สนับสนุนกัน มีการปรึกษาหารือกันว่าหน่วยงานใดควรจะเดินหน้า 

หน่วยงานใดควรจะรอเวลาสักพัก หรือหน่วยงานใดควรรับช่วงต่อลุยเต็มที่ แต่ที่สำคัญที่สุดควรต้องให้เวลาคนไทยมีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและความพร้อมมากกว่านี้อีกสักนิด แล้วค่อยมาว่ากันน่าจะเหมาะกว่านะครับ