บังคับคดีทรัพย์สินดิจิทัล เตรียมรับมือ‘บิทคอยน์’

บังคับคดีทรัพย์สินดิจิทัล เตรียมรับมือ‘บิทคอยน์’

7-8 พ.ค. นี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ประกาศลงพื้นที่ประชุมครม.สัญจร บุรีรัมย์-สุรินทร์ กระทรวงยุติธรรมเตรียมจัดหาพื้นที่

จัดเวทีสัญจรคู่ขนาน ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดยธ.แย้มว่า บุรีรัมย์ก็มีคดีใหญ่ที่กระทรวงยุติธรรมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มเกษตรกรถูกฟ้องเรียกเก็บค่าปุ๋ย ในชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ความว่า หน่วยงานปกครองในท้องที่เป็นเจ้าของโครงการแจกปุ๋ยให้กลุ่มเกษตร โดยให้รวมตัวกันเปิดบัญชีรับค่าปุ๋ยนำไปจ่ายให้กับบริษัทเอกชน แต่โครงการดังกล่าวถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบพบว่า เป็นการซื้อปุ๋ยแพงจากกระสอบละไม่ถึง 200 บาท ทำสัญญาขายกัน 500 บาท คดีจึงลากโยงชาวบ้านเข้าไปเกี่ยวพัน กระทรวงตาชั่งจึงต้องรุดเข้าให้ความช่วยเหลือโดยพิสูจน์ว่าชาวบ้านไม่มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทปุ๋ย การจัดซื้อดังกล่าวน่าเชื่อว่าดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสาร นำไปประกอบการเบิกจ่าย กลุ่มชาวบ้านถือว่ารอดตัวจากคดี ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐานส่งไปให้ปปช.ดำเนินการแล้ว

1-4 พ.ค.นี้ กรมบังคับคดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคองเกรสนานาชาติกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่23ภายใต้หัวข้อ "หลักประกันความยุติธรรมที่มั่นคงและยั่งยืน โดยตลอดการประชุมทั้ง 4 วัน จะหยิบยกประเด็นขึ้นอภิปรายถึงเรื่องหลักประกันข้อมูลทางกฎหมาย หลักประกันข้อมูลทางเศรษฐกิจ รวมถึงกระบวนการบังคับคดีทรัพย์สินดิจิทัล ซึ่งประเทศในแถบยุโรปเริ่มมีการบังคับคดีไปบ้างแล้วโดยประเด็นนี้เป็นไฮไลต์ที่ต้องเกาะติดเพื่อวางมาตรการปกป้องสิทธิของผู้ลงทุนบิทคอยน์และเงินดิจิทัลต่างๆ

หลังการรัฐประหารเกือบ 4 ปี รัฐบาล คสช. มีการแก้กฎหมายไปกว่า 1,000 ฉบับ ส่งผลให้กระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน โดยจัดทำแนวทางการรับคดีพิเศษ เสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตองรองนายกฯและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ พิจารณาร่างประกาศ กคพ.ฉบับที่ 7 ตั้งแต่เดือน ต.ต.2560 ล่วงเลยมาถึงเดือนเม.ย.ยังไม่มีทีท่าจะแล้วเสร็จ ส่งผลให้กองคดีที่รับผิดชอบกฎหมายที่ถูกแก้ไขติดขัด ทำงานแทบไม่ได้ ครั้นจะสืบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อรอเสนอบอร์ด กคพ.ให้มีมติรับเป็นคดีพิเศษ ก็เกรงว่าคดีที่ใหม่สดจะแห้งกรัง เพราะตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา มีการประชุมเพียงครั้งเดียว ต่อเนื่องมาในปี 2561 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการประชุมบอร์ด กคพ.แต่อย่างใด ทุกข์จึงตกอยู่กับประชาชนผู้ร้อง คดีที่ซับซ้อนแต่ไม่ใหญ่จริง แทบไม่มีช่องให้ดีเอสไอรับไว้สอบสวนได้เลย