โรงงานไร้แสง แรงงานไร้ความหมาย

โรงงานไร้แสง แรงงานไร้ความหมาย

ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างทักษะใหม่ที่สูงขึ้น เน้นการปฏิบัติจริงที่อิงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

เป็นทีทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น เป็น 2 อุตสาหกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญและมีความก้าวหน้าอย่างมากมานานหลายทศวรรษ จนประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้คุ้นเคยกันดีกับแบรนด์สินค้าชั้นนำของค่ายญี่ปุ่น แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปให้กับประเทศเกาหลีและจีน

ในขณะเดียวกันการกลับมาทวงบัลลังก์คืนของยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ที่เติบโตอีกครั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ก้าวกระโดดออกมาจากบริบทเดิมอย่างสิ้นเชิง การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของญี่ปุ่นยิ่งชัดเจนมากขึ้นจากการสยายปีกของจีน ซึ่งมีความก้าวหน้าและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว จนนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก แทนที่สหรัฐและญี่ปุ่นในที่สุด

ที่พูดถึงญี่ปุ่นอีกครั้งเนื่องจากได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารด้านไอทีของบริษัทชั้นนำ ซึ่งท่านต้องเดินทางไปมาระหว่างญี่ปุ่นและไทย เพราะกำลังขยายตลาดอย่างจริงจังกับโซลูชั่นสำหรับองค์กรยุคใหม่ องค์กรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาความฉลาดให้กับระบบงาน ไม่ว่าจะเป็น Smart factory / Smart services หรือแม้แต่ Smart farm ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่อยอดจากระบบอัตโนมัติ (automation system) กับระบบสารสนเทศ (information system) ไปสู่ระบบที่เชื่อมโยงทั้ง 2 สิ่งเข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และการผนวกเอา AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้จริง

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน ผมได้มีโอกาสไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้ระบบการผลิตสมัยใหม่และศึกษาดูงานโรงงานที่มีความทันสมัยหลายแห่ง และแน่นอนคงไม่พ้นโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำคัญ(เครื่องยนต์)ของรถยนต์ ซึ่งรูปแบบการผลิตของทั้งสองโรงงานเหมือนกันคือเป็นโรงงานประกอบ (Assembly line) ซึ่งมีชิ้นส่วนมากมายนับร้อยชิ้นนำมาใส่ไว้ด้วยกัน ในยุคนั้นโรงงานของไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ แม้ว่าจะเป็นโรงงานของญี่ปุ่นก็ตามแต่ใช้แรงงานคนมากในการประกอบชิ้นส่วน อันเนื่องมาจากค่าแรงที่ถูก (ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว)

สายการประกอบสมองกลที่เป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์หลักของสินค้า อาทิ โทรทัศน์ เครื่องเสียง หรือคอมพิวเตอร์ จะมีพนักงานนั่งเรียงต่อกันเป็นแถว 2 ฝั่งของสายพานลำเลียง พนักงานแต่ละคนมีหน้าที่หยิบชิ้นส่วนตามที่ระบุราว 5-8 ชิ้น ประกอบลงในแผงวงจร (PCB) เมื่อผ่านพนักงานครบทุกคนชิ้นส่วนต่างๆก็จะถูกใส่ไว้จนครบร่วม 100 ชิ้น และวิ่งผ่านอ่างตะกั่วที่ทำหน้าที่เชื่อมขาชิ้นส่วนทุกตัวให้ยึดติดกับแผงวงจร ก่อนนำไปทดสอบขั้นสุดท้ายและส่งออกไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป

ยุคนั้นสายงานการประกอบลักษณะเดียวกัน คนงานญี่ปุ่นจะนำการ์ดเสียบเข้ากับเครื่องควบคุมในสถานีการผลิตที่ประจำอยู่ แผงวงจรไม่ได้เคลื่อนไปไหนแต่อยู่นิ่งกับที่ ส่วนบนใกล้หัวของพนักงานจะมีลำแสงเลเซอร์ชี้ลงมาบอกตำแหน่งของชิ้นส่วนที่จะต้องประกอบ และบริเวณด้านหน้าของพนักงานคนนั้นจะมีช่องขนาดที่มือสามารถล้วงเข้าไปหยิบชิ้นส่วนได้ เมื่อหยิบชื้นส่วนมาประกอบตามตำแหน่งที่เลเซอร์ชี้แล้ว เซนเซอร์ที่ช่องป้อนชิ้นส่วนจะตรวจจับและทำงานอัตโนมัติตามที่โปรแกรมไว้คือหมุนป้อนชิ้นส่วนตัวถัดไปขึ้นมาแทน เลเซอร์จะชี้ตำแหน่งประกอบชิ้นส่วนถัดไป พนักงานก็จะทำการประกอบตามลำดับแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งครบทุกตัว ทำเช่นนี้วนไปเป็นวงรอบเรื่อยๆ

 จะเห็นว่าถ้าวัดผลิตภาพแรงงานของโรงงานในไทย (ซึ่งใช้คนงานราว 10 คนต่อสายการประกอบ) เทียบกับโรงงานญี่ปุ่น (ซึ่งใช้เพียง 1 คน) จะเห็นได้ว่าต่างกัน 10 เท่าทีเดียว แต่แน่นอนระบบการผลิตของญี่ปุ่นเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประกอบชิ้นส่วนได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากโรงงานประกอบเครื่องยนต์ที่ผมไปดู แทบไม่มีคนงานในสายการผลิต เพราะใช้หุ่นยนต์เป็นหลัก สินค้าที่ประกอบเสร็จแล้วจะวิ่งไปตามสายพานตรงเข้าไปที่คลังสินค้า และจัดเก็บโดยอัตโนมัติ (Automated warehouse) โดยจะบันทึกหมายเลขของชิ้นงานที่ประกอบเสร็จ รายละเอียดการผลิต และตำแหน่งที่จัดเก็บในฐานข้อมูล ข้อมูลสินค้าในคลังจะเชื่อมโยงไปยังฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันด้วยการปฏิวัติสู่การผลิตในยุค 4.0 ที่มีการใช้ IoT เชื่อมโยงส่งข้อมูลและคำสั่งระหว่างเครื่องจักรการผลิตกับส่วนอื่นๆทั้งในโรงงานและนอกโรงงาน เมื่อเครื่องจักรคุยกับเครื่องจักรได้ การผลิตแบบอัตโนมัติจึงมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้นไปอีก จนอาจเรียกได้ว่าใช้คนในสภาวะปกติน้อยมาก เมื่อไม่มีคน แสงไฟในโรงงานก็ไม่ต้องใช้ เพราะเซนเซอร์ทำหน้าที่แทนตาของเครื่องจักร ไม่ต่างจากสัตว์หลายชนิดที่ใช้ประสาทสัมผัสแบบอื่น เป็นที่มาของศัพท์คำหนึ่งที่ว่า Dark Factory หรือโรงงานไร้แสงไฟ เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ อาทิ โรงงานประกอบรถยนต์ Tesla Model S

 ตัวเลขเมื่อปีที่ผ่านมา การใช้หุ่นยนต์ในการผลิตของโรงงานเกาหลีใต้อยู่ที่ 478 ยูนิตต่อคนงาน 10,000 คนสูงสุดในโลก ญี่ปุ่นอยู่ที่ 314 ยูนิต และเยอรมันอยู่ที่ 292 ยูนิต สหรัฐเป็นลำดับที่ 7 อยู่ที่ 164 ยูนิต ในขณะที่จีนอยู่ในลำดับที่ 28 อยู่ที่ 36 ยูนิตต่อคนงาน 10,000 คน (เนื่องจากหุ่นยนต์ที่ใช้งานมีหลายลักษณะ ไม่ได้เป็นตัวหุ่นยนต์แบบที่เรารู้สึก จึงขออนุญาติไม่ใช่ลักษณะนามเป็น “ตัว”)ิ

 เชื่อว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลงกำลังจะไปในจุดนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ ภาคการค้า และภาคบริการอย่างธนาคาร ก็จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตเช่นกัน

ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างทักษะใหม่ที่สูงขึ้น เน้นการปฏิบัติจริงที่อิงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ มากกว่าการท่องจำตำราและเรียนรู้แต่ทฤษฎีที่นับวันจะล้าสมัย ซึ่งนั่นหมายถึงเรายังคงเป็นคนทำงานที่มีคุณค่าและมีความหมายได้ (knowledge worker)