สงกรานต์ที่พะเยาชุด “ออเจ้า” ไม่ฟิน

สงกรานต์ที่พะเยาชุด “ออเจ้า” ไม่ฟิน

ตามประสาคนท้องถิ่น ยอมรับว่าดีใจที่เห็นชาวพะเยาสวมชุดพื้นเมือง ใส่เสื้อลายดอก เหมือนที่เคยใส่กันมา ออกเที่ยวงานสงกรานต์ปีนี้เหมือนในปีก่อนๆ

ม้ว่าจะติดกระแสชม "ออเจ้า" กันทั้งเมือง

เห็นมีสาววัยรุ่นสองสามคนเท่านั้นที่ห่มสไบนุ่งโจงมาเล่นน้ำที่ชายกว๊าน   พอเปรียบได้กับกระแส cosplay ของวัยรุ่นญี่ปุ่นที่สวมเครื่องแต่งกายของตัวละคร (costume )ในจินตนาการ

อดีตไม่ว่าไกลขนาดไหน ถ้าสัมผัสได้ด้วยสื่อ  เช่นมีภาพให้ชม  จะของจริงหรือภาพตัวแทน  หรือกระทั่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่แต่ทำให้เชื่อได้ว่า "จริง"   มีหนังมีละคร  มีแอนิเมชั่น    เราก็จะรู้สึก "ใกล้" ตัว

         ถ้าให้จับต้องได้อีก  เช่น  มีเครื่องแต่งกาย   สถานที่  หรือว่ามีวัตถุให้หยิบจับหรือตั้งให้ดูแต่ตามืออย่าต้องเช่นในพิพิธภัณฑ์  "อดีต" ไกลโพ้นสักแค่ไหน    แปลกใหม่สักเพียงใด  อดีตก็จะยิ่ง "ใกล้"  ตัวเข้ามากว่าตัวเลขแสดงศตวรรษของเรื่องราวนั้น ๆ

ปรากฏการณ์ "ออเจ้า" โดยเฉพาะการสวมเครื่องแต่งกายแบบในละครโทรทัศน์ (costume )  ไปในสถานที่ต่าง  เช่นไปงานอุ่นไอรัก  เที่ยวอยุธยา  ไปวัด  ล่าสุดคือเที่ยวงานสงกรานต์  ตลอดจนการใช้คำโบราณ เช่น ออเจ้า  หมื่น  ขุน ในภาษาร่วมสมัยเป็นตัวอย่างที่ดี 

การ  "เซลฟี่" ไว้ให้ตัวเองได้และ"สื่อสาร"  ถึงผู้อื่นได้ด้วย  เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่ง    

ปราศจากเทคโนโลยีสื่อดิจิตอลถ่ายภาพ โดยเฉพาะเซลฟี่   เล่นเฟซเล่นไลน์ ที่ราคาถูกทุกคนเข้าถึง   ปรากฏการณ์ "ออเจ้า"จะไม่เป็น"โลกติดต่อ" กันถึงขนาดนี้แน่นอน   โดยเฉพาะสำหรับ "เซเลบ"ในทุกวงการตั้งแต่  การเมือง  การทหาร  มาจนถึงนางแบบนายแบบดาราละเม็งละคร   กระทั่งพนักงานต้อนรับ   

รวดเร็วฉับไว  เทคโนโลยีสื่อดิจิตอลส่งผลถึงพฤติกรรมเราอย่างลึกล้ำ  ช่วยเติมเต็มความรู้สึกโหยหาอดีต  ถึงขนาดวิชาการที่เคยน่าเบื่ออย่างประวัติศาสตร์โบราณคดีในทันทีทันใดกลายเป็นวิชาท้อปฮิตขึ้นมาได้ เช่น การเลือกเรียนวิชานี้เพิ่มขึ้นร้อยเท่าที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

จึงไม่แปลกใจเลยเมื่อปลายกุมภาที่ผ่านมา  เสวนาวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับท้องถิ่นในจังหวัดเล็กอย่างพะเยา  ใช้ชื่อการเสวนาเสียยาวสะกดยากจำยากว่า " อภินวบุรี -ยุธิษฐิรราม และวัดพญาร่วง : ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองพะเยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑"  ได้เกิดมีผู้สนใจมากมาย   จนผู้จัด คือ  สาขาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ต้อง  "ปฏิเสธ"  ผู้สนใจไปไม่น้อย  เพราะจัดเป็นวงเสวนาค่อนข้างจะปิดมากกว่าเปิดกว้าง  ด้วยงบประมาณจำกัดและไม่คาดคิดว่าจะมีใครมาสนใจ

ในวงเสวนาที่มีทั้งพระคุณเจ้าผู้บุกเบิกทำงานมาก่อนใครในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีท้องถิ่น  ผู้รู้ผู้คร่ำหวอดในวงการที่มาจากเชียงใหม่    รวมทั้งนักวิชาการรุ่นใหญ่และรุ่นกลางตลอดจนรุ่นเล็กโดยเฉพาะที่เกิดและเติบโตมาในท้องถิ่น   เมื่อได้นำเสนอเรื่องพร้อมภาพให้ชมอย่างจัดระเบียบมาดี   เนื้อหาและเรื่องราวอันไกลออกไปในอดีตของพระญายุธิษฐิระ (  สวรรคตช่วง พ.ศ.๒๐๓๐-๓๑  นับแล้วก็สองร้อยกว่าปีก่อนยุครุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาที่เป็นเรื่องราวของ "ออเจ้า" ) ก็ได้กลายมาเป็นเรื่อง "ใกล้" ตัวในทันทีทันใด

นี่ถ้ามีการพาไปชมตรงที่พบโบราณวัตถุโบราณหลังจากได้เห็นบนจอในห้องเสวนา  ( ซึ่งทุกแห่งที่เอ่ยถึงนั่งรถไปประมาณชั่วโมง )  จะยิ่ง "ใกล้" ตัวขึ้นมาอีกสักเพียงไหน 

หากจัดเป็นทัวร์ท้องถิ่นเก็บสตังค์    มีอาหารกลางวันพื้นบ้านที่อร่อย  ผู้บรรยายมีความรู้เล่าเรื่องสนุก ยิ่งเป็น "เซเลบ" จะของท้องถิ่นหรือนอกท้องถิ่น   ก็อาจไม่ต้องรอนักท่องเที่ยวที่ไหนหรอก   คนพะเยานี่แหละที่จะซื้อทัวร์ไปชมกันเอง  อาจพอใจยิ่งขึ้นหากมีเสื้อผ้าของท้องถิ่นให้เลือกซื้อเลือกใส่   บ้างอาจสวมใส่ไปทัวร์ด้วย   ขึ้นอยู่กับว่าผู้จัดจะสามารถเล่นกับความรู้สึกโหยหาอดีตและสร้างการเล่าเรื่องราว (narrative )ที่จะโดนใจสาธารณชนได้เพียงใด   เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆในการบรรยาย  การสร้างประสบการณ์ร่วม  โดยเฉพาะการ "เซลฟี่"  การเล่นเฟซเล่นไลน์   ย่อมเติมความใกล้ชิดสีสันต่าง ๆให้เรื่องราวในอดีตให้เป็นเรื่องสนุกที่จะสื่อสาร  สนองความรู้สึกโหยหาอดีตที่เรามีกันทุกคน

 ก็ขนาดว่าอดีตเสี้ยววินาทีที่เพิ่งผ่านไปใน "เซลฟี่" ก็ถูกอกถูกใจเรามากมิใช่หรือ  อย่าลืมว่า ห้องภาพอาชีพได้สร้างกระแสความนิยมถ่ายภาพตัวเองสวมชุด(ที่คิดว่าเป็น)ล้านนา  (costume)มานานแล้ว   โดยอัดออกมาเป็นภาพซีเปียให้อารมณ์อดีตกันสุดๆ  มีแขวนให้ชมในบ้านเมืองไทยเหนือจดใต้ไปจนถึงเมืองนอกเมืองนา          

ในอนาคตอันใกล้  การชมกว๊านพะเยาอาจจะเป็นมากกว่าแหล่งน้ำแหล่งการประมง   เรื่องราวของสังฆารามใหญ่ "โลกติลกสังฆาราม" และวัดติโลกอารามสร้างขึ้น เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยพระญายุธิษฐิระ  ที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำกว๊านอาจได้โผล่ขึ้นมาในความรับรู้ด้วย 

จะทำให้ข้าใจสืบเนื่องไปได้ว่าเมืองพะเยากับกรุงสุโขทัยเคยสัมพันธ์กันขนาดไหน   พระพุทธรูปหินทรายสกุลศิลปะพะเยาเป็นประจักษ์พยานอิทธิพลสุโขทัยที่ชัดเจน

พระญายุธิษฐิระนั้นหรือ คือโอรสพระมหาธรรมราชาที่ ๔  แห่งกรุงสุโขทัยในช่วงเสื่อมถอย  ผู้ได้สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ผู้ยิ่งใหญ่ในการรบและการศาสนา ได้รับยกย่องในภาคเหนือระดับพระเจ้าอโศกนั่นทีเดียว  กู้เมืองเชียงใหม่จากอิทธิพลพม่า จัดสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดเจ็ดยอดนับเป็นครั้งที่ ๘ ของโลก 

พระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้พระญายุธิษฐิระมา"กินเมือง "พะเยา  เมื่อพ.ศ.๒๐๑๗  จากนั้นนับเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในเมืองพะเยา มีวัดถึง ๔๐ วัดสร้างขึ้นในยุคนี้  มากมายพอๆกับวัดในเชียงใหม่ในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่ว่าทำไมวัดในเมืองพะเยาจึงเหลือให้เห็นน้อยกว่าที่เชียงใหม่  คำถามอย่างนี้อย่างแหละจะชวนให้เกิดเสน่ห์ค้นหาคำตอบสร้าง "กระแส"อยากรู้อยากเห็นต่อไป.