เมื่อ ‘ริชาร์ด คลาริดา’ จะ เป็นเบอร์ 2 ของเฟด

เมื่อ ‘ริชาร์ด คลาริดา’ จะ เป็นเบอร์ 2 ของเฟด

หลัง "ริชาร์ด คลาริดา" ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ดำรงตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลาง’ ก่อนจะผ่านให้สภาคองเกรส

ทำการรับรองต่อไป หากมองเผินๆ แล้ว สำหรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด การเปลี่ยนจาก แสตนลีย์ ฟิชเชอร์ มาเป็น ริชาร์ด คลาริดา กรรมการผู้จัดการของ PIMCO สาขานิวยอร์ค ซึ่งกองทุนหุ้นกู้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ดูจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปมากนัก แต่ผมมองว่าภาพเฟดเปลี่ยนไปพอสมควรสำหรับการได้นายคลาริดามาเป็นผู้ช่วยของนายเจอโรม พาวเวล โดยนายคลาริดามีความแตกต่างจากนักวิชาการท่านอื่นที่ได้เข้ามารับตำแหน่งในเฟด ตรงที่มาจากสาขาการเงิน ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์แบบตรงๆ จึงน่าจะตีโจทย์เศรษฐกิจสหรัฐต่างจากกรรมการเฟดท่านอื่น นอกจากนี้ยังมีจุดที่แตกต่างจากเดิม ดังนี้

1.ผมมองว่าเฟดในยุค พาวเวล/คลาริดา จะลดการมองภาพเศรษฐกิจสหรัฐในเชิงเศรษฐศาสตร์ผ่านตัวแปรเศรษฐกิจอย่างจีดีพีและอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย แต่จะเพิ่มมุมมองเศรษฐกิจผ่านตลาดเงินและตลาดพันธบัตร โดยมองผ่านทางเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐอีกต่อหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการวัดภาพเศรษฐกิจที่ให้มุมมองอีกมิติหนึ่ง ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายการเงิน

2.จะมีการมองจากมุมของผู้เล่นในตลาดมากขึ้น ลดมิติมุมมองของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบหอคอยงาช้าง ทว่ายังคงการวิเคราะห์ในรูปแบบที่ใช้กรอบการวิเคราะห์ที่ใช้แบบจำลองในการประยุกต์ให้กับเศรษฐกิจจริง ที่สำคัญ ดัชนีตลาดหุ้นก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดจะมองเพิ่มมากขึ้น

3.ในช่วงหลังจากวิกฤติซับไพร์ม นายคลาริดาเริ่มให้ความสำคัญกับผลประกอบการสถาบันการเงิน ว่าเป็นตัวกลางระหว่างธนาคารกลางและเศรษฐกิจรากหญ้าซึ่งจะมองข้ามไม่ได้ โดยยุคของคลาริดา บทบาทจากสถาบันการเงินน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจนโยบายของเฟดพอสมควร นอกจากนี้ มุมมองของเฟดจะเพิ่มน้ำหนักของผลกระทบจากภาคต่างประเทศ เนื่องจากเขาได้ทำงานที่ PIMCO มากว่า 4 ปี จึงเริ่มเห็นภาพของเศรษฐกิจโลกว่ามีผลต่อสหรัฐอย่างชัดเจน ซึ่งมุมมองดังกล่าวของนายคลาริดาเปลี่ยนไปจากสมัยที่เขาเป็นนักวิจัยเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วอย่างมาก

4.ในฐานะที่เป็นเจ้าพ่อการทำวิจัยด้านการตั้งราคาสินทรัพย์มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี นายคลาริดาพร้อมคู่หูทีมงานอย่าง จอร์ดิ กาลิ และ มาร์ค เกิร์ตเลอร์ นักวิชาการทริโออันโด่งดัง ที่มีผลงานด้านวิจัยด้านการตั้งราคาของดัชนีตลาดหุ้นที่เลื่องลือในยุค 90 และ ทศวรรษ 2000 ต้นๆ ผมมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐในยุค ‘พาวเวล/คลาริดา’ น่าจะให้ภาพที่ดูดีกว่าสมัยของแสตนลีย์ ฟิชเชอร์กับเจเน็ต เยลเลน เนื่องจากนายคลาริดาเข้าใจกลไกการเชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจกับตลาดทุนได้ดีและชัดเจนกว่ายุคของ ‘เยลเลน/ฟิชเชอร์’ ซึ่งคงจะถูกใจประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแน่นอน

ท้ายสุด ผมมองว่าอัตราดอกเบี้ยของเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะมีความผันผวนต่ำลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการสื่อสารทิศทางและขนาดการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะมีความแยบยลมากขึ้น โอกาสการเกิดตื่นตระหนกจากการขยับอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะลดลง อย่างไรก็ดี ระดับจีดีพีและอัตราเงินเฟ้อน่าจะแกว่งตัวมากขึ้นในยุคของนายคลาริดา มากกว่าสมัยนางเยลเลนและนายเบน เบอร์นันเก้ เนื่องจากนายคลาริดาเก่งในมุมของวิชาการตั้งราคาสินทรัพย์มากกว่ากลไกในเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดด้อยของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่สหรัฐในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า

ที่แน่ๆ คือความกังวลของหลายท่านว่าจะเกิดความวุ่นวายหรือการตื่นตระหนกในตลาดพันธบัตรสหรัฐ หลังเฟดถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะมีโอกาสเกิดขึ้นลดลง เนื่องจากนายคลาริดาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกการทำงานตลาดพันธบัตรและตลาดทุน

หากจะอ่านจุดดีและด้อยของคู่หูใหม่อย่าง ‘พาวเวล/คลาริดา’ ผมว่าจะดีเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐยังไปได้สวยด้วยการเติบโตแบบต่อเนื่อง แต่จะด้อยเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ ว่าคู่หูใหม่นี้ เด่นในเกมรุก แต่ด้อยตรงเกมรับ ครับ