ปลายทางงานปฏิรูปตำรวจ (จบ)

ปลายทางงานปฏิรูปตำรวจ (จบ)

ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการโครงสร้างและรูปแบบองค์กรที่จะส่งเสริมให้งานดูแลความปลอดภัยประชาชน มีประสิทธิภาพและยังทำให้เกิดความก้าวหน้า

จากความเชี่ยวชาญในสายงาน จนเกิดตำรวจมืออาชีพ ใน 3 ประเด็นแรก

ส่วนประเด็นที่ 4 ตำรวจประจำการ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอให้คัดเลือกจากทหารเกณฑ์ที่ปลดประจำการมาเสริมในอัตราที่ว่างและไม่เพียงพอ แต่ผมขอเสนอ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน” ที่มีหลักเกณฑ์การคัดเลือก การฝึกอบรมในด้านกฎหมายพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายอาญาที่เป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ แนวทางขั้นตอนการปฏิบัติงานให้กับผู้ที่สนใจในชุมชนเพื่อทำงานในพื้นที่นั้นๆ โดยมีค่าตอบแทนที่ได้จากองค์กรปกครองท้องถิ่น พร้อมการใช้เครื่องแบบที่จะแสดงสัญลักษณ์ เครื่องหมายบางอย่างแสดงให้เห็นว่านี่คือ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน” เช่น ตำรวจในประเทศสิงคโปร์

ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน จะสามารถแบ่งเบาในคดีเฉี่ยวชน งานจราจร งานอารักขาความปลอดภัยในงานอีเวนท์ทั่วไป แล้วไปทุ่มเทกับงานป้องกัน แก้ไข และปราบปรามปัญหาอาชญากรรม ที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบดังกล่าว ไม่มีการฝึกอบรมที่ชัดเจน ทำให้มีการปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ไปบ้าง

ปลายทางงานปฏิรูปตำรวจ (จบ)

ประเด็นที่ 5 การถ่ายโอนภาระไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้มีการพูดคุยกันมากกว่า 10 ปี ซึ่งหลายหน่วยงานยังคงให้เหตุผลความไม่พร้อม จึงขอเสนอให้ การตั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายขึ้นมาในแต่ละกระทรวงได้เช่นในสหรัฐ ที่ตำรวจทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยบนเส้นทางหลัก มีเครื่องแบบเช่นเดียวกับตำรวจทางหลวง แต่ขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม หรือตำรวจรัฐสภาไทย ที่เป็นข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ติดเครื่องหมายที่ไหล่ด้านขวาแสดงสังกัดรัฐสภา ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ประเด็นที่ 6 เรื่องงานสืบสวนสอบสวน ที่คณะกรรมการปฏิรูปการอำนวยความยุติธรรม (ตำรวจ) สรุปให้พนักงานสอบสวน เติบโตตามสายงาน เพื่อให้เจ้าพนักงานสายนี้เกิดความเชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพ และเห็นด้วยกับการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งในเรื่องงบประมาณ อุปกรณ์ เครื่องมือ เช่น ค่าตอบแทน อาวุธปืน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการทำงานได้อย่างเต็มที่ หลังจากงานสอบสวนเป็นงานที่หนัก งานกฎระเบียบ ยุ่งยาก และมีคดีความเกิดขึ้นมากมาย แต่ทำไมงานอัยการและเจ้าหน้าที่ศาลจึงมีคนสนใจกันมาก ทั้งๆ ที่ลักษณะงานคล้ายคลึงกัน จึงเป็นไปได้ว่าการสอบสวนเป็นงานที่หนักกว่า เพราะต้องลงมือเก็บพยานหลักฐานทุกอย่าง ตั้งแต่เริ่มต้นคดี

ข้อเสนอหนึ่งที่พูดถึงมานานเช่นกัน คือการมีพนักงานสอบสวนส่วนที่ไม่มีชั้นยศ หลังจากที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดไว้แต่ยังไม่มีการใช้อย่างจริงจัง

อีกส่วนหนึ่งคือ การแทรกแซงงานสืบสวนสอบสวน ที่เห็นได้จากการกล่าวหาว่าผู้บังคับบัญชาเจ้าของสำนวนคดีหวย 30 ล้านบาท เข้าไปแทรกแซงบิดเบือนให้สำนวนเปลี่ยนทิศทาง จนถูกสอบสวนทางวินัย ซึ่งการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงานเข้ามาแทรกแซงการทำงานของพนักงานสอบสวนได้ ก็อาจให้พนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนในคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ มีอัตราโทษสูง กับพยานปากสำคัญ แต่ไม่ใช่การนำพยานเดินทางไปพบพนักงานอัยการ ที่สำนักงาน

ประเด็นที่ 7 การพัฒนาระบบการสรุปประเมินผล เป็นประเด็นสำคัญและควรเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่ง ระหว่างเข้ารับตำแหน่ง และหลังเข้ารับตำแหน่ง เช่น บุคคลที่สนใจอยากเป็นสารวัตรจราจร เขาต้องรู้งานกฎหมายด้านจราจร โดยการประเมินวัดผล เช่นจาก 100 คะแนนเต็ม แบ่งเป็น 40 คะแนนเป็นการสอบข้อเขียน ส่วน 30 คะแนนมาจากการประเมินของผู้บังคับบัญชา 30 คะแนนมาจากประชาชนในพื้นที่

จากรูปแบบดังกล่าวอาจทำให้เกิดการขวนขวายหาความรู้ หรือหากอยากมาเป็นสารวัตรป้องกันปราบปรามเทคโนโลยี เขาก็ต้องเข้าใจงานปราบปรามทางไซเบอร์ เกิดการแข่งขันทางวิชาการ ทั้งยังให้ความสำคัญในสายบังคับบัญชา และฟังเสียงประชาชนด้วย จากคะแนนที่แบ่งให้ฝ่ายละ 30 คะแนน ซึ่งจะทำให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ในงานนั้นๆ จริง และเป็นผู้ปฏิบัติที่มีระเบียบ วินัย ใส่ใจประชาชน

สุดท้ายแล้วการปฏิรูปจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น จากประวัติศาสตร์ของงานปฏิรูปตำรวจทั่วโลก จะมี 3 หัวข้อสำคัญที่เป็นปัจจัย คือ 1.People 2.Police 3.Political view ซึ่งสถานการณ์สังคมไทย ชี้ชัดแล้วว่าทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่างต้องการการปฏิรูปตำรวจที่เห็นผลเป็นรูปธรรม แม้กระทั่งตำรวจที่ส่วนใหญ่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและต้องการพัฒนาองค์กรตนเองไปสู่ความก้าวหน้า เหลือเพียงเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ของการปฏิรูปตำรวจ ยังขาดปัจจัยตัวที่ 3 ชัดเจน

ฉะนั้น การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ของฝ่ายการเมืองว่าจะมีความจริงจังแค่ไหนเพียงใด

 

โดย...

ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

อดีตอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการตำรวจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

อดีตที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด และ UNAIDS