การสร้างบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ (1)

การสร้างบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ (1)

เรื่องสร้างบ้านพักให้ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมที่เชียงใหม่ อยากฝากให้คิดว่าอย่ามองโลกเพียงด้านใดด้านหนึ่งแล้วตัดสิน เพราะ

สินทรัพย์เหล่านี้เป็นของรัฐ ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัวของผู้พิพากษาคนใด ผู้พิพากษามาแล้วก็ไป อยู่แค่ 2-3 ปี เพราะระบบไม่ให้อยู่นาน

ความมั่นคงปลอดภัยกับตัวผู้พิพากษาเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ที่ทำหน้าที่พิพากษาตุลาการแต่ถูกปองร้ายถึงชีวิตมีเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลปัตตานีขับรถไปส่งลูกเรียนอนุบาล ถูกยิงตายคาตลาด ผู้พิพากษาหญิงทุ่งสง ถูกผู้ต้องหาจับเป็นตัวประกันพาเดินขึ้นภูเขาหนีการจับกุม ผู้พิพากษาที่เช่าบ้านพักเอง แม้จะเบิกค่าเช่าได้ก็ต้องเสี่ยงกับการถูกปองร้ายในระหว่างการเดินทางจากที่พักบ้านเช่ามาศาล

สำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการกิจการและจัดหาสวัสดิการให้กับบุคคลากรของศาลยุติธรรมพยายามให้ความปลอดภัย และประหยัดค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าที่พัก ค่าเดินทางให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ที่แม้จะดูเหมือนได้รับการดูแลจากหน่วยงานรัฐ แต่ไม่มีหลักประกันอื่น บ้านพักผู้พิพากษาถูกขโมยเข้าไปลักทรัพย์สินรวมถึงถูกทำร้าย เป็นเรื่องที่เกิดนอกเวลางานและไม่ใช่ที่ศาล ไม่มีใครช่วยได้

ที่ดินที่มีปัญหานี้ จริงๆก็ทำตามกระบวนการที่กรมธนารักษ์พิจารณาเห็นชอบมานานแล้ว แต่ก็เพิ่งจัดสร้างเป็นระยะๆ ตามงบประมาณรายปี เพราะไม่ใช่แค่ที่นี่ แต่ทั่วประเทศที่ต้องทำทุกแห่งที่มีศาลจังหวัดไปตั้งอยู่ การประกวดราคาและจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับโปร่งใสตรวจสอบได้

ประเด็นเกิดขึ้นเมื่อการก่อสร้างเห็นปรากฏชัด อาจจะดูหรูหรา ดูดีกว่าบ้านพักประชาชนคนทั่วไป และไปสร้างในสถานที่ที่น่าจะอนุรักษ์ปลูกป่าฟื้นฟูป่า แต่นั่นเป็นความเห็นของคนกลุ่มหนึ่ง นอกนั้นไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาหรือแม้แต่บุคคลากรทางศาลมีส่วนได้เสีย ทับซ้อนผลประโยชน์ ทุจริตคอรัปชั่นประพฤติมิชอบ การออกมาแสดงความเห็นเชิงคัดค้านการก่อสร้างนั้นจึงไม่ควรเพียงแค่ความรู้สึกที่คิดเอาเอง แต่ควรมองเรื่องอื่นๆด้วย

สมัยเรียนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยเล่าให้ฟังว่า ความเป็นอยู่ของผู้พิพากษานั้นบางครั้งก็ทำให้เกิดความอึดอัดในสังคม เพราะผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีทุนทรัพย์ร้อยล้านพันล้านหรือนับแสนล้านบาทในปัจจุบัน โจทก์จำเลยนั่งรถหรูราคานับสิบล้านมาเข้าห้องพิจารณา เมื่อเสร็จการพิจารณาก็นั่งรถหรูพร้อมคนขับส่วนตัวขับออกจากศาล ขณะที่ผู้พิพากษาเมื่อเดินออกจากบัลลังก์ ก็ต้องขับรถคันเล็กๆกลับบ้าน อยู่อย่างนั้นมานาน

ผู้พิพากษาที่ทำงานศาลชั้นต้นทั่วประเทศรับผิดชอบคดีกว่า 1,000,000 คดี มีผู้พิพากษา 3,000 กว่าคน เฉลี่ยคนละ 300 กว่าคดีต่อปี หรือวันละหนึ่งคดี และไม่สามารถพิจารณาพิพากษาเสร็จในวันเดียว แต่นับเดือน นับปี หรือหลายปี ทำเท่าไรก็ไม่ทัน จำนวนมากต้องมาทำต่อที่บ้านพัก ทำในวันหยุด คดีความล่าช้าก็ถูกต่อว่า ทำเสร็จเร็วๆเกิดความผิดพลาดก็ต้องรับผิดชอบ ศาลสูงหรือคณะกรรมการตุลาการมีข้อสงสัยก็ถูกสอบสวน และถ้าปรากฏหลักฐานเพียงพอก็ให้ออกปีละหลายคน จึงไม่ใช่ว่าผู้พิพากษาเหนือคนอื่น จะเหนือก็เฉพาะตอนนั่งบนบัลลังก์เพราะทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย

อยากให้สังคมมองให้รอบด้านมากกว่ามิติใดมิติหนึ่ง ในขณะที่มองข้ามอีกหลายมิติที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่า เราต่างมีหน้าที่ต่างกัน ต่างก็ทำหน้าที่ของตนตามวิถีชีวิต ขอแต่ให้ความเป็นธรรมนั้นอยู่ในจิตใจ การมองโลกเพียงด้านเดียวนั้นเป็นการมองโลกที่แคบเกินไป และไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น

การสร้างบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ (1)

เรื่องสร้างบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังหลงประเด็น นักเสพข่าวออนไลน์จำนวนมากกำลังคิดว่าศาลยุติธรรม รุกที่สาธารณะผืนป่าไปสร้างบ้านพักให้ผู้พิพากษาและบุคคลากรศาล เหมือนกับกรณีนักธุรกิจเอกชน รุกที่ดินรัฐ ที่สาธารณะ ป่าไม้ อุทยาน ไปสร้างที่พักรีสอร์ทของตัวเองที่เกิดขึ้นในหลายๆแห่ง และออกข่าวในเชิงเสียดสี ส่อเสียด กล่าวร้ายผู้พิพากษา ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องของผู้พิพากษาแต่อย่างใด

งานของศาลยุติธรรมมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคืองานพิจารณาพิพากษาคดีความที่มาสู่ศาล ที่ผู้พิพากษาจะทำหน้าที่นี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็นสามส่วนคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการตั้งแต่เมื่อครั้งมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยเปลี่ยน มีประธานศาลฎีกาเป็นประมุขสูงสุด และบริหารงานโดยคณะกรรมการตุลาการ หรือ กต.

แต่อีกส่วนหนึ่งคืองานบริหารศาลยุติธรรม ที่สมัยศาลอยู่ในกระทรวงยุติธรรมเป็นเรื่องของปลัดกระทรวง แต่เมื่อศาลแยกตัวออกจากกระทรวงเป็นอิสระ ก็ตั้งสำนักงานศาลยุติธรรมทำหน้าที่เช่นเดียวกับสำนักงานปลัดกระทรวง ดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการรวมถึงการจัดซื้อจัดจ้าง มีผู้บริหารสูงสุดคือเลขาธิการศาลยุติธรรม ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา เป็นผู้บริหารสูงสุด ภายใต้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ กบศ. แต่ถ้าจะมีผู้พิพากษามาดำรงตำแหน่งนี้ ก็ต้องลาออกจากการเป็นผู้พิพากษา จะเป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันไม่ได้

เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหลายจึงเป็นเรื่องของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่มีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับผิดชอบเป็นผู้บริหารสูงสุด ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไม่ว่าประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือแม้แต่คณะกรรมการตุลาการ หรือ กต. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติก่อสร้าง ของบประมาณ จัดซื้อจัดจ้างอะไร อย่างไรดังที่คนจำนวนหนึ่งเข้าใจกันเอง นอกจากในฐานะผู้รับสวัสดิการบ้านพักอาศัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาต่างจังหวัด แต่เมื่อย้ายมาอยู่กรุงเทพ ก็ไม่มีในสวัสดิการนี้ ต้องหาที่อยู่เอง ซึ่งส่วนมากก็ต้องขวนขวายใช้เงินที่เก็บออมมาซื้อหา หรือถ้าไม่มีก็ต้องเช่าอาศัย เป็นเรื่องที่ประพฤติปฏิบัติเป็นปกติ

ผู้พิพากษาที่ไปอยู่ต่างจังหวัดก็เหมือน อัยการ ครู ตำรวจ ทหาร แพทย์ หรือข้าราชการทั่วไปจากส่วนกลางที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาค ได้รับสวัสดิการด้านที่พักอาศัยจากหน่วยงานต้นสังกัด ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ ไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่มีสิทธิเก็บกิน ไม่มีสิทธิเหนือพื้นดินอย่างใด ขืนไปทำเข้าก็ผิดกฎหมาย จึงทำได้แค่หอบหิ้วกระเป๋าไปสองสามใบ ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในระหว่างทำงาน แล้วก็ย้ายไปที่อื่น ในช่วงหนึ่งของชีวิต พวกเขาก็ต้องหาที่อยู่ถาวรหลังเกษียณ จะที่ไหนก็แล้วแต่ เพราะครอบครัวคงไม่ตามไปอยู่บ้านพักข้าราชการตลอดชีวิต จะให้ลูกย้ายที่เรียนทุกๆ 2-3 ปี ก็คงไม่มีใครทำสักกี่คน

การเอาสถานะภาพของความเป็นผู้พิพากษามาอ้าง เสมือนหนึ่งว่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของข้าราชการตุลาการจึงเป็นเรื่องของการจินตนาการเกินขอบเขต พยายามเอามาเป็นประเด็น และเมื่อเรื่องขอใช้พื้นที่ ของบประมาณจากรัฐบาล ดำเนินการก่อสร้างเป็นเรื่องของสำนักงานศาลยุติธรรม ไม่ว่าจะสร้างให้ใครพักก็ตาม ผู้ที่คับข้องใจก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น