แกว่งตัวออกข้าง ลงซื้อขึ้นขาย

แกว่งตัวออกข้าง ลงซื้อขึ้นขาย

แกว่งตัวออกข้าง ลงซื้อขึ้นขาย

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาเร็วเกินไป โดยไปถึง 1850 จุดตั้งแต่เดือน ก.พ. ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2561 ที่เราคาดว่าจะถึง 1900 จุดโดยอิงจากกำไรบริษัทฯ ในปีหน้า 2562 เข้าไปแล้ว นั่นหมายความว่าราคาหุ้นขึ้นมาเร็วไป 10 เดือน จึงไม่แปลกที่จะเห็นตลาดหุ้นปรับฐานในช่วงที่ผ่านมา

มุมมองของเราเชื่อว่าในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ (ไตรมาส 2) ตลาดหุ้นน่าจะแกว่งตัวในแนวออกข้าง หรือ sideways 1750-1850 จุด คือขึ้นก็ไปไม่ไกล ลงก็ไปไม่ลึก โดยเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปไกลได้ยากก็คือ

1) ตลาดหุ้นบ้านเราขึ้นมาเร็วเกินไป จน earnings หรือผลประกอบการบริษัทตามไม่ทัน ดังนั้นถ้าจะไปต่อได้ก็ต้องรอผลประกอบการที่จะทยอยออกมาในช่วงนี้ ว่าเข้าเป้าหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะทำได้ดี ซึ่งจะทำให้ PE ratio ลดความแพงลงบ้าง และตลาดหุ้นก็จะไปต่อได้

2) เดือน เม.ย. ต่อเนื่องเดือน พ.ค. เป็นฤดูกาลปันผล ซึ่งโดยธรรมชาติของหุ้นปันผล ตามปกติจะปรับตัวลงในวันขึ้นเครื่องหมาย XD และมักจะลงมากกว่าจำนวนเงินปันผลที่ได้รับด้วยซ้ำ ทำให้ดัชนีหุ้นช่วงนี้ปรับตัวขึ้นได้ยาก ที่จริงกลยุทธ์ที่น่าสนใจอย่างนึงในการเล่นหุ้นปันผลคือซื้อตอนช่วงก่อนประกาศผลแล้วจึงขายออกไปก่อนขึ้น XD เล็กน้อย  

3) ปัจจัยฤดูกาลที่เรียกว่า Sell in May ซึ่งแม้จะอธิบายได้ยากว่าเกิดจากปัจจัยอะไร แต่โดยสถิติช่วงกลางไตรมาส 2 นี้มักเป็นช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมากกว่าปรับตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราก็เชื่อว่าตลาดน่าจะปรับฐานไม่ลึก โดยมีหลายปัจจัยสนับสนุนตลาดหลายเรื่อง ได้แก่

1) ฝรั่งตกรถ น่าจะหมดแรงขาย หลังจากเทหุ้นไทยไปกว่าแสนล้านในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยไตรมาส4/60 ฝรั่งเน็ตขาย 3.5 หมื่นล้าน ต่อด้วยไตรมาส 1/61 ขายออกไปอีก 5.8 หมื่นล้าน ส่วนเดือน เม.ย. ผ่านมา 20 วันก็ออกไปแล้ว กว่าหมื่นล้านบาท ที่น่าสนใจคือหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นจาก 1700 มา 1800-1850 จุดในช่วงดังกล่าว

2) กลุ่มพลังงานหนุนตลาด ราคาน้ำมันไตรมาส 1 ปีนี้สูงกว่าปีก่อนถึงราวๆ 20% ทำให้กำไรกลุ่มพลังงานน่าจะช่วยพยุงตลาดไว้ได้ ยิ่งล่าสุดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง (Syria) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการหยุดผลิตในเวเนซูเอลายังคงไม่ได้รับการแก้ไข  น้ำมันน่าจะยังยืนในระดับสูงอยู่ได้ต่อไป

3) การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ มีสัญญาณดีขึ้นหลังจากการลงทุนภาครัฐติดลบถึง -6%YoY ใน GDP ไตรมาส 4/60 เนื่องจาก พรบ. จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ทำให้การเบิกจ่ายยังไม่คล่องตัวนักในช่วงแรก อย่างไรก็ตามสองสามเดือนที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณการเบิกจ่ายที่ดีขึ้น ประกอบกับจะมีงบกลางปีที่มีขนาดราว 1.5 แสนล้าน โดยคืนเงินคงคลัง 5 หมื่นล้าน เหลือกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 แสนล้านซึ่งคิดเป็นราวๆ 1.5% ของ GDP ในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ

ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับมาพูดถึงเรื่อง อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี (ซึ่งใช้สะท้อนมุมมองของตลาดต่ออัตราดอกเบี้ยในระยะยาว) ปรับตัวขึ้นกลับมาใกล้ 3% อีกครั้ง เมื่อต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ตลาดหุ้นกลับมากังวลอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงของตลาดหุ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน เพราะแทบทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นที่ผันผวนในช่วงแรกมักปรับขึ้นได้ในที่สุด และจะแกว่งขึ้นไปจนกว่าจะมีสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต่อไป ซึ่งตอนนี้นับว่าโอกาสยังน้อยมากที่จะเกิดวิกฤติ ดังนั้นการปรับตัวลงจึงเป็นโอกาสเล่นรอบ

รูป SET Index แกว่งตัวขึ้นได้ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

  แกว่งตัวออกข้าง ลงซื้อขึ้นขาย

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงตลาดผันผวนออกด้านข้างเช่นนี้ จึงยังคงให้เน้นถือเงินสดเพิ่มขึ้น เพื่อรอทยอยซ้อนซื้อหุ้นราคาถูกเมื่อตลาดปรับตัวลงใกล้ 1750 จุด และให้ทยอยขายออกไปเพื่อถือเงินสดเมื่อตลาดปรับตัวขึ้นไปที่ 1800-1850 จุด โดยควรเน้นหุ้นพื้นฐานดี มากกว่าหุ้นตัวจี๊ดที่มี PE ratio สูงๆ ที่อาจให้ผลตอบแทนไม่คุ้มเสี่ยงในภาวะตลาด sideways เช่นนี้