BeNeat ไอเดียใหม่กับ บริการทำความสะอาดออนไลน์

BeNeat ไอเดียใหม่กับ บริการทำความสะอาดออนไลน์

BeNeat เป็นธุรกิจ Startup ที่นำโมเดลธุรกิจ Sharing Economy แบบ Uber และ Airbnb มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมทำความสะอาด 

โดย BeNeat ได้สร้างแพลตฟอร์ม ที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ที่ต้องการหาคนช่วยทำความสะอาด กับ คนที่มีทักษะทำความสะอาด 

โดยแรกเริ่มของ BeNeat โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนคือ คุณปรียลักษณ์ น้อยอ่ำ คุณคมคิด ชัชราภรณ์ และ คุณอานนท์ น้อยอ่ำ ที่ประสบกับปัญหาว่าไม่สามารถหาแม่บ้านมาทำความสะอาด และไม่สามารถรู้ได้ว่าแม่บ้านเป็นใครและมาจากไหนหากจ้างแม่บ้านจากทางส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในการเลือกใช้บริการ เมื่อมองเห็นปัญหาจึงคิดหาวิธีที่เข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างสร้างสรรค์เพราะในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารูปแบบของธุรกิจนั้นไม่ได้คงที่แบบเดิม ธุรกิจจะขายแต่เพียงคุณภาพไม่ได้จำเป็นต้องขายไอเดียด้วย 

BeNea จึงมีรูปแบบของธุรกิจที่แตกต่างกับบริษัทรับทำความสะอาดทั่วไป คือ การใช้ช่องทางออนไลน์ในการให้บริการโดยมีจุดเด่นคือ ความสะดวกในการเรียกใช้บริการ เพราะทางแพลตฟอร์มได้รวบรวมแม่บ้านที่ต้องการให้บริการมารองรับความต้องการของลูกค้า

สำหรับการรับสมัครแม่บ้านมาให้บริการนั้นทาง BeNeat ไม่ได้รับทุกคนที่เข้ามาสมัคร แม้ว่าจะมีแม่บ้านเข้ามาสมัครถึง 1000 คนแต่บริษัทรับเข้าเพียง 100 กว่าคนเท่านั้น เพราะจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการรับสมัครเป็นอย่างมาก ผู้ที่จะเข้ามาสมัครจำเป็นต้องกรอกเอกสารเหมือนการสมัครเป็นพนักงานประจำ ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พร้อมแนบสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และเป็นคนไทยที่มีอายุมากกว่า 18 ปี สาเหตุที่ต้องคัดกรองอย่างละเอียดเพราะหัวใจที่สำคัญของ BeNeat คือความปลอดภัยต่อทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการไม่เฉพาะแต่ลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องดูแลความปลอดภัยสำหรับแม่บ้านด้วยเช่นเดียวกัน โดยที่ลูกค้าทุกรายการที่มีการจองแม่บ้านไปทำความสะอาด ทาง BeNeat มีการตรวจสอบลูกค้าด้วย

ด้านคุณภาพของการให้บริการ  BeNeatนอกจากคัดเลือกพนักงานจากคุณสมบัติที่สำคัญ แม่บ้านจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมและผ่านการสัมภาษณ์งานก่อน โดยการฝึกอบรมแม่บ้าน BeNeatได้แบ่งกลุ่มของลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ห้องปล่อยเช่า ลูกค้าที่เป็นกลุ่มที่ปล่อยห้องให้เช่านั้นจะต้องการงานที่ละเอียด และของในห้องของลูกค้าจะไม่เยอะมาก แม่บ้านจึงต้องฝึกการทำความสะอาดอย่างละเอียดเช่นวิธีพับถุงขยะและวิธีพับผ้าเช็ดตัว เพื่อที่ผู้ที่เข้ามาเช่าจะได้รับความสะอาดที่สมบูรณ์แบบ 2.กลุ่มผู้ที่พักอาศัยอยู่จริง หากเป็นการทำความสะอาดลูกค้าในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องระมัดระวังไม่เข้าไปยุ่งกับของส่วนตัวของลูกค้า มีการฝึกอบรมถึงขอบเขตในการให้บริการ และมีการอบรมถึงกรณีที่หากลูกค้าวางของมีค่าไว้บนโต๊ะว่าควรจัดการอย่างไร ดังนั้นหลังจากการอบรมแม่บ้านแต่ละคนจะมีทักษะที่เฉพาะตัว และในการจ้างงานหากแม่บ้านสร้างความเสียหาย ทางBeNeatมีวงเงินชดเชยให้กับลูกค้าจำนวน 10,000 บาทหรือหากทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานก็จะชดเชยให้ 

นอกจากนั้นBeNeatยังมีการวัดคุณภาพของแม่บ้านแต่ละคนโดยดูจากคะแนนที่ให้ลูกค้าได้ประเมินและ Review ผ่านทางแพลตฟอร์มว่าการให้บริการของแม่บ้านแต่ละท่านนั้นเป็นเช่นไร ผนวกกับการทดสอบและอบรมจากทาง BeNeatและหากแม่บ้านท่านใดมีผลการประเมินว่าต่ำอย่างต่อเนื่องจะถูกยับยั้งการให้บริการกับทางแพลตฟอร์ม

สำหรับการทดสอบตลาดที่ BeNeat ได้เริ่มทำคือ ทำการทดสอบตลาดที่เชียงใหม่ โดยการคิด model ด้วยระยะเวลาเพียง 1 เดือนจากนั้นนำไปพิสูจน์ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากทางผู้ก่อตั้งมีความคิดเห็นว่าปัญหาที่เขาประสบนั้นคนอื่นอาจจะไม่ประสบปัญหาเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ก่อน โดยในช่วงแรกจะเจาะกลุ่ม Host Airbnb เมื่อได้ทำทดลองตลาดว่ามีความเป็นไปได้แล้ว BeNeatจึงขยายพื้นที่ในการให้บริการมายัง

ในส่วนของการประชาสัมพันธ์นั้น BeNeat ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์โดยการบอกต่อ ทำการตลาดแบบดิจิทัล คือ เขียนลง Blog , โฆษณาผ่าน Facebook และ Google ซึ่งหากเป็นการจัดหาแม่บ้านนั้นทาง BeNeat ก็ทำการโฆษณาผ่านทาง Facebook เช่นกันรวมถึงการบอกต่อของแม่บ้านที่ได้ทำงานอยู่แล้ว

สำหรับกลยุทธ์ด้านราคานั้น BeNeat พิจารณาถึงการกำหนดราคาที่เหมาะสมกับทั้งฝั่งลูกค้าที่มาใช้บริการทำความสะอาด และทางฝั่งแม่บ้านที่เข้ามาสมัครซึ่งในตอนแรกนั้นปัจจัยทางด้านการตั้งราคาของ BeNeat เป็นอุปสรรคหนึ่งเนื่องจากต้องคำนวณรายได้ที่แม่บ้านพึงพอใจและราคาที่เหมาะสมสำหรับลูกค้า BeNeat จึงสร้างความแตกต่างจากการคิดราคาทำความสะอาดแบบรายเดือน/รายวัน ด้วยการคิดราคาเป็นรายชั่วโมง ซึ่งในช่วงแรกนั้นลูกค้าไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องจ่ายราคา 500 บาท/2ชั่วโมงแทนการจ้างปกติที่ตกราคาวันละ 200-300 บาท แต่ทาง BeNeat มองว่าลูกค้าบางคนก็ไม่ต้องการที่จะทำความสะอาดในทุกๆวัน ดังนั้นการคิดราคาเป็นรายชั่วโมงจึงเป็นอะไรที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับทั้งลูกค้าและแม่บ้านทั้งสองฝ่าย

กรณีศึกษาBeNeat สะท้อนให้อีกหนึ่งรูปแบบของโมเดลธุรกิจของนวัตกรรมบริการ โดยนวัตกรรมด้านบริการที่จะประสบความสำเร็จควรเริ่มต้นศึกษาว่า ว่าวิถีชีวิตของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ปัญหาใดที่ลูกค้าประสบอยู่ จากนั้นจึงนำมาออกแบบบริการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วนำมาพัฒนารูปแบบบริการให้ตรงจุดในเวลาที่ทันใจทำให้ธุรกิจเติบโตได้ในภาวะที่ความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลง

------------------------

เครดิตกรณีศึกษา คุณมนัชพร ตันธนวิกรัย นักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการธุรกิจ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล