ฟรีค่าธรรมเนียม สงคราม Digital Banking ที่เอสเอ็มอีต้องรู้

ฟรีค่าธรรมเนียม สงคราม Digital Banking ที่เอสเอ็มอีต้องรู้

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี่ทางการเงินที่เรียกว่า Fintech ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเร่งพัฒนารูปแบบการให้บริการการเงิน

เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้า ในเรื่องของความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยได้นำเสนอ“นวัตกรรมทางการเงิน”ผ่านระบบอีเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนให้ประชาชนใช้ช่องทางอิเลกกทรอนิกส์ในการใช้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ สนับสนุนนโยบายรัฐในเรื่องสังคมไร้เงินสด เพิ่มฐานลูกค้า ลดต้นทุนการจัดการเงินสด และเสนอบริการใหม่ ๆ ที่สอดรับการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ ได้ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่ง น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า จะกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ราว 9,000 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้อาจจะเติบโตเพียง 2-3% ลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อน ที่รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตถึง 7%

ในปี 2560 ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 196,000 ล้านบาท จากธนาคาร 30 แห่ง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา เป็นรายได้จากค่าธรรมเนียม 12 ประเภท ได้แก่ การรับรองรับอาวัล และค้ำประกัน,บัตรเครดิต,บริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงิน,บริการที่ปรึกษา,ค่าธรรมเนียมจัดการ,การจัดการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และการค้าตราสารแห่งหนี้,การดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ของลูกค้า,ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค,ค่าธรรมเนียมการออกเลตเตอร์ออฟเครดิต,ค่านายหน้า,ค่าธรรมเนียม และบริการอื่น ๆ

การยกเลิกค่าธรรมเนียมบริการ 4-5 ประเภท เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ชำระบิลค่าสินค้า/บริการ การเติมเงินผ่านระบบอืเลกส์ทรอนิกส์ แบงก์กิ้ง และโอนเงินพร้อมเพย์ ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมอื่นๆที่ธนาคารยังเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ บริการที่ยกเลิกค่าธรรมเนียมยังช่วยลดต้นทุนการจัดการเงินสด ที่มีการคาดการว่าอยู่ที่ 2% ของปริมาณเงินสดที่มีการเคลื่อนไหว

ธนาคารพาณิชย์ยังมีช่องทางอื่นในการทำมาหากิน เมื่อผู้ใช้บริการผ่าน Digital Banking มากขึ้น งานที่สาขาก็น้อยลง ตอนที่ผมบริหารสาขาที่ธนาคารกรุงไทย 1,000 กว่าสาขา ก็ริเริ่มปรับเปลียนสาขา เป็นศูนย์บริการด้านการลงทุน บริการธุรกิจ บริการทางการเงินอื่น ๆ ที่ยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในยุค Digital Banking เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประโยชน์จากบริการทางการเงินที่จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของท่าน สิ่งที่ผมเป็นห่วงก็คือยังมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก จาก SMEs เกือบ 3 ล้านราย ที่ยังเข้าไม่ถึงและเข้าใจระบบดิจิทัล ทำให้เสียโอกาสจากการการยกเลิกค่าธรรมเนียมในครั้งนี้

สถาบันการเงินทุกแห่งจึงควรมีมาตรการพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้บริการต่าง ๆ ในระบบ Digital Banking อาทิ การลดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้เนื่องจากพฤติกรรมทางการเงินผ่านระบบ Digital Banking สามารถนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อได้....