ง่ายๆ ดีกว่าไหม

ง่ายๆ ดีกว่าไหม

หลักการ 'ง่ายๆ ดีกว่า' นี้สามารถนำไปใช้ในการทำงานเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย

ผมมีความเชื่อฝังลึกจนกลายเป็นนิสัยส่วนตัวมานานว่า 'ง่ายๆ ดีกว่า' เช่นในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ผมจะต้องหาทางอธิบายหลักกฎหมายรวมทั้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องให้ลูกความและบุคคลอื่นเข้าใจได้ง่ายๆ ทั้งหลักการที่เป็นหัวใจของกฎหมายและหลักการที่เป็นหัวใจของคำปรึกษาของผม ซึ่งถ้าเรื่องไหนที่ผมอธิบายให้คนอื่นเข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ แสดงว่าผมยังไม่ 'รู้จริง' ในเรื่องนั้น

หลักการ 'ง่ายๆ ดีกว่า' ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นผู้รับฟังคำอธิบายของผมเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์แก่ตัวผมเองเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผมต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งเพื่อค้นหาหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของแต่ละเรื่องให้ได้ซึ่งผมพบว่ามักจะมีเพียงไม่กี่ประการ และเมื่อผมเข้าใจหลักการสำคัญเหล่านี้แล้วก็จะเข้าใจเรื่องที่ศึกษานั้นได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอที่จะอธิบายถ่ายทอดออกไปให้คนอื่นเข้าใจง่ายๆ ได้

หลักการ 'ง่ายๆ ดีกว่า' นี้ศัพท์ภาษาอังกฤษ คือ Simplicity ส่วนการสรุปง่ายๆ แบบไม่มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอนั้น ศัพท์ภาษาอังกฤษ คือ Simplistic ซึ่ง Edward de Bono นักคิดนักเขียนชื่อดังได้เคยกล่าวไว้ว่า 'Simplicity before understanding is simplistic; simplicity after understanding is simple. … In order to make something simple, you have to know your subject very well indeed.' (จากหนังสือ Simplicity เขียนโดย Edward de Bono)

การทำงานโดยใช้หลักการ ง่ายๆ ดีกว่า' (Simplicity) จึงไม่ได้ ง่าย' เหมือนชื่อเรียก แต่กลับต้องใช้การทุ่มเททำความเข้าใจโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการเข้าใจให้ถึงแก่นสารที่เป็นหัวใจของเรื่อง และไม่ไขว้เขวไปกับสิ่งที่เป็นส่วนประกอบหรือรายละเอียดปลีกย่อย และจะต้องไม่ด่วนสรุปว่าเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งหากยังไม่ได้คิดทบทวนให้รอบคอบ (Simplistic) เพราะจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งในการทำงานสำคัญๆ

ในการค้นหาให้เข้าใจหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของเรื่องต่างๆ ตามแนวคิด 'ง่ายๆ ดีกว่า' นั้น ผมจะใช้วิธีการตั้งคำถามกับตัวเองแล้วค้นคว้าหาคำตอบให้ได้ ซึ่งคำถามที่ผมใช้ประจำคือ 'Why' และ 'Why not' (ทำไมต้องเป็นอย่างนี้และทำไมไม่เป็นอย่างนั้น) และถ้ายังไม่ได้คำตอบที่ดูสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ ผมก็จะยังไม่หยุดเพราะผมจะบอกกับตัวเองว่า ถ้าตอบอย่างนี้แล้วตัวผมเองยังไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อแล้วจะไปอธิบายให้คนอื่นเข้าใจหรือเชื่อได้อย่างไร

การทำงานของผมทั้งในบทบาทของการเป็นที่ปรึกษากฎหมายและเป็นกรรมการให้แก่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากนั้นทำให้ผมต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีมาโดยตลอด และบัญชีก็เป็นเรื่องที่ผมสนใจและจำเป็นต้องสอบถามหาความรู้จากผู้สอบบัญชีอยู่เสมอๆ เพราะหากไม่เข้าใจเพียงพอก็อาจจะทำให้ผมทำหน้าที่บกพร่องได้

ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณรุทร เชาวนะกวี หุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด มานานมากในหลายเรื่องหลายโอกาส ซึ่งคุณรุทรเป็นผู้สอบบัญชีที่ผมชื่นชมว่าสามารถอธิบายเรื่องยากๆ หรือซับซ้อนทางบัญชีให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณรุทรมีความเข้าใจในเรื่องที่นำเสนอหรืออธิบายนั้นอย่างลึกซึ้ง และยังมีความสามารถในการนำความเข้าใจนั้นมาสื่อสารให้เข้าใจง่ายๆ ได้เป็นอย่างดีด้วย (Simplification isn’t an end unto itself. Rather, it becomes a means of communication. จากหนังสือ Simple Solutions เขียนโดย Tom Schmitt และ Arnold Perl)

หลักการ 'ง่ายๆ ดีกว่า' นี้สามารถนำไปใช้ในการทำงานเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของกระบวนการ (Process) ซึ่งอาจสรุปให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าจะเน้นกระบวนการทำงานแบบเส้นตรงคือทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการแบบไม่อ้อมค้อม เพราะเส้นตรงคือระยะทางที่สั้นที่สุดและง่ายที่สุดจึงมีประสิทธิภาพที่สุด ยกเว้นแต่กรณีที่ต้องเดินอ้อมเพราะเจอกำแพง (คือมีอุปสรรคที่ทำให้ต้องหาวิธีการทำงานแบบอื่น)

'Simple can be harder than complex: you have to work hard to get your thinking clean to make it simple. But it’s worth it in the end because once you get there, you can move mountains'. Steve Jobs

www.facebook/Weerawong: Wonderful Ways