บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก

บทเรียนชีวิตที่จิตแพทย์อยากบอก

นี่คือหนังสือเล่มหนึ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณไปในทางที่ดีขึ้นได้ แปลมาจาก The Road Less Travelled โดย เอ็ม สก๊อตเปค จิตแพทย์ชาวอเมริกัน

ผู้สรุปสังเคราะห์จากงานให้คำปรึกษาเพื่อบำบัดคนไข้ทางจิตมากกว่า 30 ปี เป็นหนังสือขายดีทั่วโลกเล่มหนึ่ง ชื่อรองของหนังสือคือ จิตวิทยาใหม่ของความรัก ค่านิยมดั้งเดิมและความเจริญงอกงามทางจิตใจ

หัวข้อหลักเกี่ยวกับเรื่องของวินัย ความรัก ความเจริญงอกงามทางจิตใจ คติความเชื่อ (ศาสนา) และพลังแห่งความดีงาม (Grace) มุ่งช่วยอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น และเพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นช่องทางที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และพัฒนาความเจริญงอกงามทางจิตใจของตัวเองและคนที่เรารัก คู่รัก คู่ครอง ลูก ญาติมิตร เพื่อน ฯลฯ ได้เพิ่มขึ้น การพัฒนาตัวเองและช่วยคนอื่นไปสู่ความเจริญงอกงามทางจิตใจ สะท้อนการนำตัวเองและการนำคนอื่นๆ ในทางสร้างสรรค์

หนังสือแบ่งเป็น 4 ภาค คือ

ภาค 1 วินัย วินัยคือเครื่องมือพื้นฐานชุดหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาของชีวิต แนวทางการฝึกวินัยหรือจิตสำนึก ความเข้าใจในเรื่องการคิด พฤติกรรม การควบคุมตนเอง ภูมิใจ จัดระเบียบชีวิตของตนเอง การใช้ชีวิตในทางสร้างสรรค์ ที่จะช่วยพัฒนาความเจริญงอกงามทางจิตใจของเรา ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ

  1. การเลือกเผชิญความยากลำบากก่อนเพื่อหวังผลที่น่าพอใจภายหลัง เป็นวิธีการใช้ชีวิตที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะทำได้
  2. ความรับผิดชอบ เราไม่อาจแก้ไขปัญหาของชีวิตได้ นอกจากต้องกล้าลงมือแก้ไขมัน
  3. ยึดมั่นความเป็นจริง ถ้าเราใช้ความพยายามที่จะชื่นชมและมองเห็นความเป็นจริงมากเท่าไหร่ เราก็จะทำแผนที่ชีวิตของเราได้ใหญ่และแม่นยำขึ้นเท่านั้น
  4. การรักษาความสมดุลไม่ให้คิดแบบสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง การจัดการสิ่งต่างๆ ให้เกิดความสมดุล ระหว่างความต้องการความมั่นคง และการยืนยันความเป็นตัวเอง คือการยอมสละเรื่องที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีกว่าในระยะยาว

ภาค 2 ความรัก ผู้เขียนนิยามความรักว่า คือ “ความตั้งใจที่จะขยายตัวตนของเราออกไป เพื่อฟูมฟักดูแลความเจริญเติบโตทางจิตใจของทั้งตัวเราเองและของคนที่เรารัก” ความรักคือกุญแจสำคัญในการช่วยให้คุณเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เขาชี้ให้เห็นว่า อารมณ์ที่เรามักคิดว่าเป็นความรัก เช่น การตกหลุมรักเมื่อแรกพบ ความรักแบบโรแมนติกหวือหวา การผูกพันทางอารมณ์ ความหลงตัวเอง พึงพอใจในตนเอง การเสียสละ ฯลฯ นั้นไม่ใช่ความรักที่แท้จริงในประเด็นไหน ความเข้าใจผิดของเรามีผลต่อความคาดหมาย ต่อความคิดจิตใจ และสภาพชีวิตของเราในทางไม่สร้างสรรค์ หรือก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งต่อตัวเราและผู้ที่เราสัมพันธ์ด้วยอย่างไร

ความตั้งใจที่จะรัก ประกอบไปด้วยการเอาใจใส่ การมีวินัย และความกล้าที่จะเผชิญกับความเสี่ยง ที่เข้าใจได้และรับได้ เช่น การเสี่ยงในการที่จะต้องเป็นฝ่ายสูญเสีย การเสี่ยงในการที่จะเป็นอิสระ ความเสี่ยงในการยึดมั่นพันธสัญญา ฯลฯ เพราะชีวิตก็เป็นเรื่องความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น คนที่ไม่กล้าเสี่ยงเลย กลายเป็นคนมีปัญหาอีกประเภทหนึ่ง คือ ไม่กล้ารัก ไม่กล้ามีความสัมพันธ์ที่ยึดมั่นในพันธสัญญากับคนอื่น

ความรักยังเป็นเรื่องของการรู้จักพัฒนาตนเองให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ความรู้สึก มีจิตใจกว้างที่ยอมรับเอกลักษณ์และการเจริญเติบโตทางจิตใจของผู้อื่น ที่อาจจะแตกต่างไปจากเราอีกด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในชีวิตของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักมาจากการขาดความรักความอบอุ่นแท้จริงตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้คนผู้นั้นไม่สามารถที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดี มีวุฒิภาวะพอที่จะเรียนรู้ที่จะรักตัวเองและรักผู้อื่นได้อย่างแท้จริง คนที่ขาดความรักความอบอุ่นในวัยเด็กหลายคน ที่ไม่เข้าใจว่าความรักคืออะไร และเขาจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้มาซึ่งความรักที่แท้จริง พวกเขาจึงมักแสวงหาความรักหรือแสวงหาให้คนอื่นมารักตัวเองโดยไม่อาจจะพานพบได้

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความรักในแง่สร้างสรรค์ และปรารถนาดีให้คนอื่นเจริญงอกงาม ให้แง่คิดที่ทำให้คนที่กำลังถูกกระแสวัฒนธรรมที่เน้นแต่เรื่องเงินได้ฉุกคิด มองชีวิตตนเองและคนอื่นอย่างพินิจพิจารณามากขึ้น และได้รับรู้แนวคิดใหม่ๆ พอที่จะรู้จักมองเห็นและเลือกเดินไปตามเส้นทางที่ต่างไปจากเส้นทางที่คนส่วนใหญ่เดินอยู่ การได้รู้จักและเรียนรู้ที่จะมีความรักอย่างแท้จริง จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งตัวเราและเพื่อนมนุษย์ที่เรามีความสัมพันธ์ด้วย ยิ่งกว่าการแสวงหาเงินทองหรือการเสพสุขทางวัตถุใดๆ

ภาค 3 ความเจริญงอกงามและศาสนา การมีหรือไม่มีศรัทธาในศาสนาอย่างสุดโต่งแบบใดแบบหนึ่งสร้างปัญหาทางจิตวิทยาให้กับหลายคน การมีศรัทธาในพลังแห่งความดีงามพอสมควร (เดินสายกลาง) จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและสร้างสรรค์

ภาค 4 พลังแห่งความดีงาม (Grace) หมายถึงได้ทั้งความรักและความกรุณาของ “พระเจ้า” ความมหัศจรรย์ ความเมตตากรุณา คุณธรรม ความสง่างาม ผู้แปลเลือกใช้คำว่า “พลังแห่งความดีงาม” เพื่อให้เป็นคำกลางๆ ว่าเป็นพลังของบางสิ่งที่อยู่เหนือเราขึ้นไป ซึ่งคนในแต่ละศาสนาวัฒนธรรมอาจมองต่างกันและมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป

บทส่งท้าย เปิดใจต้อนรับพลังแห่งความดีงาม การเดินทางไปสู่ความเจริญงอกงามทางจิตใจต้องการความคิดและการกระทำที่กล้าหาญ ริเริ่ม และเป็นอิสระ แม้ว่าจะมีถ้อยคำของศาสดา (ของศาสนาต่างๆ) และพลังแห่งความดีงาม คอยช่วยเหลือเราอยู่ แต่เราก็ต้องเดินทางโดยตัวของเราเอง คำสอนต่างๆ การสวดมนต์ การไปโบสถ์ การกินอาหารมังสวิรัติ การทำวิปัสสนานั่งสมาธิ เป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยในการเรียนรู้ ไม่ใช่ตัวการเรียนรู้ คุณจะต้องเดินทางไปด้วยตัวของคุณเอง ด้วยการใช้ชีวิตทั้งหมดของคุณเอง ต้องฟันฝ่าด้วยความอุตสาหะและด้วยความกังวลบนเส้นทางของตังคุณเอง หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือการมองและใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์และมีความหมายมากเล่มหนึ่ง