วัฒนธรรมสำเนาบัตรและแลกบัตรที่ควรจะเลิกได้แล้ว

วัฒนธรรมสำเนาบัตรและแลกบัตรที่ควรจะเลิกได้แล้ว

หลายคนตกอกตกใจกับข่าวการเปิดเผยแหล่งที่เก็บข้อมูลสำเนาบัตรประจำตัวของลูกค้าที่ใช้บริการของบริษัทค้าขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในบ้านเรา

สื่อบางสื่อยกระดับให้เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล นักวิชาการบางท่านก็ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งรีบแก้ไข ในขณะที่หน่วยงานของรัฐบางแห่งบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพราะเป็นแค่ภาพถ่ายบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ได้มีข้อมูลอะไรมากไปกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างในมุมมองเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้คนในบ้านเรา 

ภาครัฐเห็นเป็นเรื่องปกติในการเก็บสำเนาบัตรประชาชน จะทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับทางราชการหนีไม่พ้นการที่ต้องใช้สำเนาบัตรประกอบการทำกิจกรรมนั้น แม้แต่จะเข้าออกหน่วยราชการ พลเมืองธรรมดาๆ ก็ต้องใช้บัตรประจำตัว ไปแลกบัตรผ่านเข้าออก ซึ่งในระหว่างที่แลกบัตรไปนั้น ใครจะถ่ายภาพบัตรเก็บไว้หรือไม่ ก็สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีกฏระเบียบใดๆ ที่ห้ามมิให้กระทำเช่นนั้น ข้อมูลสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน จึงเป็นข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเรียกเก็บจากพลเมืองได้ ในขณะเดียวกันก็บอกว่าบัตรประจำตัวเป็นเอกสารสำคัญ ตัวบัตรเป็นเอกสารสำคัญ แต่สำเนาเรียกเก็บได้โดยไม่มีกฎระเบียบการปฏิบัติใดๆ ที่ให้การคุ้มครองข้อมูลสำเนาบัตรประจำตัวที่เรียกเก็บจากพลเมืองแต่ประการใด เก็บไว้โดยไม่กำหนดว่าต้องดูแลกันอย่างไร 

แต่ก่อนคงไม่มีผลอะไรตามมา เพราะการสำเนาที่กระทำไปแล้ว ทำซ้ำได้ไม่เหมือนเดิม ถ่ายเอกสารบัตรลงในกระดาษโดยตรง ถ้าสำเนาซำ้จากกระดาษที่สำเนาไว้ในครั้งแรก ภาพที่ได้ก็ไม่เหมือนเดิม เอาไปใช้อะไรไม่ได้ การเก็บข้อมูลบัตรประชาชนตามที่กระทำมาแต่ดั่งเดิมนั้นจึงไม่สร้างปัญหาอะไรที่ใหญ่โตตามมา ผู้บริหารหน่วยราชการจึงไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการกำหนดวิธีการปฏิบัติในการดูแลไม่ให้ข้อมูลนั้นรั่วไหลออกไป เพราะทำสำเนาซำ้ไม่ได้เหมือนเดิม

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป แต่วัฒนธรรมสำเนาบัตรยังคงอยู่ การถ่ายเอกสารเพื่อทำสำเนาบัตรเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเก็บสำเนาบัตรในรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถกระทำซำ้ได้เหมือนต้นฉบับ จะสำเนาอีกกี่ครั้งก็ได้จากข้อมูลดิจิทัลที่เก็บบันทึกไว้นั้น ประกอบกับที่ธุรกรรมสำคัญต่างๆ ก็ยังร้องขอสำเนาบัตรประชาชน เรื่องที่เคยเป็นเรื่องเล็กจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหน่วยงานของรัฐยังใช้วัฒนธรรมเดิมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีดิจิทัล และที่หนักไปกว่านั้นคือมีการใช้วิธีการทางดิจิทัลในการเก็บบันทึกสำเนาบัตรประจำตัว แทนการเก็บกระดาษภาพถ่ายสำเนาบัตร บางทีก็มีการสแกนภาพสำเนาบัตรเก็บไว้ในระบบสารสนเทศของหน่วยงานนั้นโดยตรง เช่นในหน่วยงานที่บอกว่าติดต่อได้โดยไม่ต้องมีสำเนาบัตรถ่ายเอกสารไปด้วย พอใครไปติดต่อยื่นบัตรให้เมื่อไร ท่านก็สแกนเก็บไว้เมื่อนั้น โดยท่านเชื่อของท่านเองว่าข้อมูลสำเนาภาพถ่ายบัตรนั้นไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้ นอกจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น

ต่อมาวิธีการสแกนภาพถ่ายสำเนาบัตรก็เริ่มกระจายไปสู่ผู้ประกอบการ จะซื้อซิมโทรศัพท์ ผู้ขายก็ใช้สมารท์โฟนถ่ายภาพบัตรไว้ แล้วส่งต่อไปเก็บไว้ในที่เก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เพราะหน่วยงานของรัฐท่านสั่งให้เก็บสำเนาบัตรไว้ด้วย ภาพที่สำเนาไว้ส่งไปแล้วไม่ได้หายไปจากเครื่องของคนนั้น โดยท่านคิดของท่านเองว่าพนักงานของผู้ประกอบการคงไม่นำข้อมูลนั้นไปใช้ทำอะไรในทางเสียหาย วันดีคืนดีก็มีใครก็ไม่ทราบมาบอกว่าที่เก็บข้อมูลนั้นอยู่ที่ไหน และใครๆ ก็เข้าไปดูข้อมูลนั้นได้ 

จริงๆ แล้วคงไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนไปพบเจอข้อมูลเหล่านี้ เพราะที่แก็งคอลเซนเตอร์อาละวาดอยู่ได้ทุกวันนี้ คงคิดต่อได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่เรียกเก็บกันไว้นั้น นั้นปลอดภัยแค่ไหน

ถ้าเชื่อว่าจะไปถึง 4 จุดศูนย์กันจริงๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ต้องเลิกใช้วัฒนธรรมสำเนาบัตร หรือแลกบัตรกันเสียทีเพราะการใช้สำเนาบัตรเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ยืนยันตัวตนของผู้ที่ทำธุรกรรมนั้น ไม่ใช่วิธีการที่สอดคล้องกับวิธีทำงานในยุคดิจิทัล วันนี้จะทำธุรกรรมทางการเงินพิสูจน์ตัวตนได้โดยไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัว วันนี้ไม่ยากที่จะเปลี่ยนจากการใช้สำเนาบัตร ไปเป็นการแสดงบัตร พร้อมใช้วิธีทางดิจิทัลอื่นเพื่อพิสูจน์ตัวตน จะยืนยันโดยลายนิ้วมือ หรือการจดจำใบหน้าเหมือนในไอโฟน ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากทางเทคนิค เหลือแต่ว่าท่านจะยอมหลุดจาก PDCA ที่ไม่ใช่ Plan Do Check Act แต่เป็น Please Do not Change Anythings หรือไม่เท่านั้น