เมื่อเด็กขอแก้ปัญหา ที่ผู้ใหญ่แก้ไม่ได้

 เมื่อเด็กขอแก้ปัญหา ที่ผู้ใหญ่แก้ไม่ได้

เดือนที่แล้ว เด็กนักเรียนชาวอเมริกัน 5 คน ได้รับเกียรติให้ขึ้นหน้าปก “นิตยสารไทม์” ประกอบเรื่องเด่นประจำฉบับ

คือการเรียกร้องให้ควบคุมอาวุธปืน

ปัญหาสังคมของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันไป สำหรับอเมริกา เรื่องที่น่าเศร้าและเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ การกราดยิงฝูงชน จนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นการกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ โบสถ์ โรงภาพยนต์ คอนเสิร์ต มหาวิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงเรียนอนุบาล ซึ่งทุกครั้งที่เกิดเหตุ ประธานาธิบดี ก็บินด่วนไปร่วมพิธีศพ กล่าวสุนทรพจน์ปลอบขวัญ และให้กำลังใจพ่อแม่พี่น้องของผู้เสียชีวิต รวมทั้งประชาชนในเมืองนั้นๆ

ทุกประธานาธิบดีพูดเหมือนกันว่า “เหตุการณ์อย่างนี้่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก คนทำผิดต้องได้รับโทษ” แต่จนแล้วจนรอด มันก็เกิดอีกจนได้ เพราะการที่ใครสักคนจะหาซื้ออาวุธปืนนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ง่่ายมากในอเมริกา

เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น คือการกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมในรัฐฟลอริด้า มีนักเรียนเสียชีวิต 17 คน ทรัมพ์ บินไปร่วมงาน กล่าวให้กำลังใจและให้คำมั่นสัญญา เช่นเดียวกับที่ โอบาม่า เคยทำมาแล้วหลายครั้ง

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เหตุการณ์ที่ฟลอริด้าก็คงจะไม่แตกต่างไปจากครั้งอื่นๆ คืออาวุธปืนและกระสุนปืน ยังหาซื้อได้ง่ายดายเช่นเดิม แม้คนที่มีประวัติป่วยทางจิตก็ซื้อได้ และเหตุการณ์เศร้าใจแบบนี้ คงจะเกิดขึ้นอีก ณ ที่ใดที่หนึ่งในอเมริกา

แต่ครั้งนี้ อาจไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมาครับ เพราะนักเรียนของโรงเรียนนี้ ไม่ยอมเชื่อคำมั่นสัญญาลมๆแล้งๆ อีกต่อไป พวกเขารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องและกดดันให้ผู้นำระดับชาติ ต้องทำมากกว่านี้ เพื่อควบคุมอาวุธปืนได้จริงๆ

นิตยสารไทม์ กล่าวว่า เมื่อผู้ใหญ่พยายามแก้ปัญหานี้มานาน แต่ไม่เคยสำเร็จ ก็ถึงเวลาที่เด็ก ออกมาแก้ปัญหาบ้างแล้ว

ผมดีใจ ที่ได้เห็น เยาวชนอเมริกัน ออกมามีบทบาทดังกล่าว เพราะเยาวชนมีจิตใจขาวสะอาด มีความคิดที่บริสุทธิ์ และมีพลังล้นเหลือ ถ้าพวกเขาออกมาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาสังคม โอกาสสำเร็จย่อมสูงขึ้น

ผมเลยนึกถึงเยาวชนไทยขึ้นมาทันที เพราะนับตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 251ุ6 บทบาทของเยาวชนในการแก้ปัญหาสังคม ก็เริ่มลดลงตามลำดับ และผู้ใหญ่วันนี้ ซึ่งเคยต่อสู้เพื่อความถูกต้องของสังคมมาแล้วในอดีต ก็ไม่อยากคาดหวังอะไรมากนักจากเยาวชน

แต่แล้วเด็กผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ก็ได้จุดประกายความหวังให้กับคนในสังคมอีกครั้ง เธอทำให้เราเห็นแสงสว่างลางๆที่ปลายอุโมงค์ เมื่อเด็กผู้หญิงธรรมดาๆอย่าง “น้องแบม” กล้าเสี่ยง จนสามารถถอดหน้ากากข้าราชการฉ้อฉล จิตใจหยาบช้า กล้าโกงได้แม้กระทั่งผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เด็กนักเรียนอเมริกัน 5 คน ออกมาปลุกกระแสสังคมอเมริกัน ในการควบคุมอาวุธปืน ส่วนน้องแบม ออกมาปลุกสังคมไทย ด้วยการกะเทาะเกราะข้าราชการขี้โกง จนสังคมได้เห็นว่า ความเน่าเฟะและเรื่องชั่วช้าเช่นนี้ มันมีอยู่จริง

แต่น้องแบมคนเดียวไม่พอครับ แม้ 10-20 คนก็ไม่พอ ต้อง “แบม 100” “แบม 1,000” ครับทำอย่างไรเราจึงจะสามารถสร้างเยาวชนอย่างน้องแบม ให้มีจำนวนมากเช่นนั้น และให้พวกเขาก้าวออกมาร่วมกันทำ ในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไทยไม่เคยทำได้สำเร็จมาก่อนเลย คือการปราบคอรัปชั่น รวมทั้งเมื่อโตขึ้นมีงานทำ มีอำนาจ ก็จะไม่ไปคอรัปชั่นเสียเอง

ผมเชื่อว่าเยาวชนไทยที่เป็นคนดี มีปัญญา และรักชาติ ยังมีอีกมาก ผมไม่อยากให้วีรกรรมของน้องแบมค่อยๆจางหายไป เราควรจะต้องช่วยกันส่งเสริมและคัดสรรเยาวชนที่เป็นความหวังใหม่ของสังคม ให้ก้าวออกมาทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ในจำนวนที่มากยิ่งขึ้น

ผมจึงค้นคว้าว่ามีใครทำเรื่องนี้หรือยัง และพบว่า UNDP ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนนักศึกษาและมหาวิทยาลัยไทยในการต้านคอรัปชั่น ตั้งแต่ปี 2556 และเมื่อกลางปี 2558 ก็ได้ร่วมมือกับองค์กรไทยหลายแห่ง คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น และ ทรูคอฟฟี่ เปิดร้านกาแฟภายใต้ชื่อ Refuse To Be Corrupt Cafe”เพื่อทำเป็น Social Enterprise และใช้เป็นเวทีกิจกรรมของสมาชิก

นอกจากนั้น ยังได้ก่อตั้ง Thai Youth Anti-Corruption Network (TYACN) ขึ้น มีมหาวิทยาลัยสมาชิก 90 แห่ง เยาวชนสมาชิก 5,000 คน แต่เวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา อาจจะยังสั้นไป จึงทำให้สังคมยังไม่เห็นหรือได้ยินผลงานมากนัก แต่เมื่อข่าวน้องแบมกระหึ่มออกมาเช่นนี้ ผมก็หวังว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้โครงการดังกล่าว มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

แล้วบริษัทที่ออกมาประกาศต่อต้านคอรัปชั่น รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่ประกาศว่าเป็นองค์กรใสสะอาด อีกหลายแห่งล่ะ พร้อมหรือยังที่จะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนเยาวชนในการต้านคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น

น้องแบมทำได้ ก็เพราะความบังเอิญของโอกาส และความกล้าเฉพาะตัว แต่เหตุการณ์อย่างนี้ เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ถ้าเราหวังผลก็จะมีต้ององค์กรที่รวบรวมเด็กเก่ง เด็กกล้า แล้วส่งเสริมด้วยการให้ความรู้ ให้ทรัพยากร ให้มีเวที ส่งเสริมจิตสำนึก และให้โอกาสเข้าไปร่วมงานหรือร่วมฝึกงาน ในองค์กรต่างๆของรัฐที่มีเรื่องของเงินทองเข้าไปเกี่ยวข้องมาก รวมทั้งให้กำลังใจพวกเขาด้วย

เพราะแค่พูดว่า “โตไปไม่โกง” ไม่พอหรอกครับ

ใครจะจัดหลักสูตรระยะสั้น “Students Against Corruption” บ้างครับ ใครจะสปอนเซอร์หลักสูตรนี้บ้าง ใครจะช่วยสรรหาเยาวชนอย่างน้องแบม มาเรียนร่วมกันในหลักสูตรระยะสั้นทั่วประเทศ สร้างเน็ตเวอร์คของพวกเขา ทำเวอร์คช้อปร่วมกัน ส่งออกไปใช้ชีวิตในสังคม แล้วกลับมาพบกันเพื่อแชร์ประสบการณ์ ฯลฯ

Students Against Corruption น่าจะมีอักษรย่อว่า SAC (ออกเสียงคล้าย SACK ที่แปลว่า “ไล่ออก”) เป้าประสงค์คือเติมประสบการณ์ชีวิต เสริมวิธีคิดและจิตวิญญาณต้านคนโกง และเมื่อพวกเขากลับไปใช้ชีวิตในสังคม ด้วยจิตสำนึกและวิธีคิดดังกล่าว ถ้าหากพบผู้ใดที่มีแววว่าฉ้อฉล “เยาวชน SAC ก็จะช่วยกันฉีกหน้ากากของคนเหล่านั้น แล้ว “SACK ให้พ้นไปจากอำนาจในการบริหารบ้านเมือง

ว่าแต่ใครจะจัด จัดเมื่อใด แล้วใครจะเป็นพี่เลี้ยงที่ดีของเยาวชนเหล่านี้ เพื่อให้มีกิจกรรมต่อเนื่องอย่างได้ผล และยั่งยืนจริง

มีองค์กรใดอาสาไหมครับ