คนรวย คนจน ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน

คนรวย คนจน ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ คนรวยและคนจนในรัฐบาลนี้ ได้รับประโยชน์อะไรจากนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ

คนรวยได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างภาษี ส่วนคนจนก็ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเอาไว้ใช้

หลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2560 นั้น ก็ดูเหมือนว่าโครงการจะราบรื่นและไปได้สวย แม้ว่าจะมีปัญหาเข้ามาบ้างในช่วงแรก ทั้งในเรื่องของร้านธงฟ้า และเครื่อง EDC รัฐบาลก็อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ยังแก้กันไม่ตก ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของการ คัด คนเข้ามาในโครงการนี้ 

อย่างที่ทราบกันดีว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของบัตรคนจนก็คือคนที่มีรายได้น้อย แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ได้รับบัตรทั้งสิ้นกว่า 11 ล้านคนนั้น (ทั้งที่คนจนตามประมาณการของสภาพัฒน์อยู่ที่ 5 ล้านคนจน) ชี้ให้เห็นว่า ผู้ได้รับประโยชน์มีทั้งคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ และคนที่แค่ว่างงาน ในความเป็นจริงแล้วนั้น คนที่จบการศึกษาตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไป ไม่สมควรที่จะได้รับบัตรคนจนแล้ว เพราะมีความรู้และ ทักษะที่เพียงพอที่จะหางานเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ กลุ่มคนเหล่านี้ อาจจะขาดรายได้ชั่วคราว แต่โดยพื้นฐานแล้ว “ไม่ใช่คนจน” ผลลัพธ์ก็คือ ภาระด้านงบประมาณที่มากเกินความจำเป็น รัฐบาลสามารถนำเงินเหล่านี้ไปจัดสรรเพิ่มเติมให้กับด้านการศึกษา หรือสาธารณสุข

ทั้งนี้ ความผิดพลาดดังกล่าวอาจจะหมดไป หากได้มีการ ทบทวน เกณฑ์คัดคนจนในปีถัดไป แต่รัฐบาลกลับออกโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปีที่ 2 (ซึ่งมีการเพิ่มเงินช่วยเหลือรายเดือนเป็น 500 บาทแล้ว และการจัดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและฝึกอาชีพให้กับคนที่ถือบัตรคนจน) เมื่อคนที่อยู่ในโครงการมีทั้งคนที่จนจริงและจนไม่จริง เหตุใดจึงไม่มีพิจารณาคุณสมบัติใหม่อีกรอบ เพราะคนที่ว่างงานตอนที่สมัครเข้ามาโครงการเมื่อปี 2560 ตอนนี้อาจจะหางานได้แล้ว และมีรายได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แต่เพราะผู้ถือบัตรกลุ่มนี้คิดว่า ไหน ๆ ก็ได้เงินฟรีแล้ว ทำไมต้องไปคืนบัตร อย่างน้อย เอามาซื้อข้าวสารอาหารแห้งก็ยังดี ด้วยเหตุนี้ งบประมาณจึงถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดประโยชน์สูงสุด 

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่ว่า คนเพิ่งจน ไม่มีโอกาสได้เข้ามาในโครงการเลย คนจนที่อายุ 17 ปี ในปี 2560 ไม่สามารถสมัครเข้าโครงการได้เพราะอายุไม่ถึง หรืออาจจะมีกลุ่มคนจนใหม่ที่เกิดขึ้น เนื่องจากตกงานหรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดี เผชิญอุทกภัย แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะรัฐไม่ได้เปิดรับ

เมื่อช่วยคนจน (และไม่ค่อยจะจน) แล้ว มาดูนโยบายที่ช่วยคนรวยกันบ้าง มนุษย์เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีภายในเดือนมีนาคมต่างยิ้มและมีความสุข เพราะได้ลดหย่อนเพิ่มขึ้น ทั้งการหักค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสูงสุด 60,000 เป็น 100,000 บาท ลดหย่อนตัวเองเพิ่มขึ้นจาก 30,000 เป็น 60,000 บาท แค่สองรายการนี้ รวมกันก็ลดหย่อนเพิ่มขึ้นได้ 70,000 บาทแล้ว ยังไม่รวมสิทธิประโยชน์ของคนมีลูกและหักจากกองมรดกที่ได้หักลดหย่อนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า เมื่อรวมกับการลดหย่อนในดอกเบี้ยบ้าน ประกันชีวิต เงินบริจาค รวมถึง LTF/RTF แล้วจะมีคนที่รายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีน้อยลง ทั้งนี้ การลดหย่อนภาษีนี้ไม่ได้ช่วยคนจนแต่อย่างใด เพราะคนจนไม่ได้เสียภาษี เมื่อพิจารณาจากการระบบภาษีใหม่นี้แล้ว ก็จะมีแต่คนชั้นกลางและคนรวยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รวยที่มีเงินส่งเบี้ยประกันชีวิต ซื้อคอนโดไว้ปล่อยเช่า และมีเงินเหลือเพื่อซื้อกองทุน ซึ่งก็กลายเป็นว่า พวกเขาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ชีวิตได้รับการคุ้มครอง และมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน...แต่ไม่ต้องเสียภาษี

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจก็คือ กลุ่มเศรษฐียังมีความสุขกับการ ขยายฐานเงินได้สุทธิ อีกด้วย ในปีก่อนหน้า เงินได้สุทธิระหว่าง 2 ถึง 4 ล้านบาท จะถูกเก็บภาษีที่ร้อยละ 30 หรือสูงสุด 6 แสนบาท แต่ในปีนี้ บันไดภาษีขั้นที่ร้อยละ 30 ขยายครอบคลุมไปถึง 5 ล้านบาท โดยเงินได้ระหว่าง 4 ถึง 5 ล้านบาท จะเสียภาษีที่ร้อยละ 30 แทนที่จะเป็นร้อยละ 35 เพราะฉะนั้น รัฐก็จะสูญเสียรายได้ 50,000 บาท ต่อคนให้กับคนที่มีรายได้สุทธิ 5 ล้านบาท (ซึ่งแปลว่า รายได้ก่อนหักย่อมมหาศาลกว่านี้) หากจะพิจารณาว่ารัฐเสียงบประมาณ (ที่ควรจะได้) ไปเท่าไหร่ ก็ต้องพิจารณาว่ากลุ่มนี้มีจำนวนเยอะหรือเปล่า?

 แต่เนื่องจากกรมสรรพากรไม่ได้เปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำแนกตามช่วงเงินได้ เราจึงไม่รู้แน่ชัดว่ามีกี่คนที่มีรายได้อยู่ในช่วงดังกล่าว แต่จากข้อมูลเก่า พบว่าน่าจะมีผู้เสียภาษีในฐานนี้ประมาณ 3 หมื่นคน หากคำนวณคร่าว ๆ รัฐก็จะสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ ทำอะไรได้อีกมาก อย่างน้อยก็นำไปใช้ในเรื่องของสวัสดิการเพื่อคนจนได้ นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. โดยศึกษากลุ่มคนที่มีรายได้สูงที่สุดในประเทศ หรือ Top 1% ใช้ตัวอย่างข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกรมสรรพากร พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้ก่อนหักภาษีทั้งปี เฉลี่ยอยู่ที่ 3.7 ล้านบาทต่อปี (เฉพาะรายได้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากร ดังนั้น คนรวยกลุ่มนี้จึงเป็นคนรวยที่รวยจากการมีเงินได้ที่ระบุในสลิปเงินเดือนเยอะ แต่ไม่ได้หมายถึงคนรวยที่รวยจากปันผลและดอกเบี้ย) เสียภาษีประมาณ 5 แสนบาทต่อปี หรือแค่ร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิเท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่ควรจะเป็นคือร้อยละ 30-35 ซึ่งเป็นเพดานสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มเศรษฐีระดับท็อปของประเทศได้รับประโยชน์ค่อนข้างมากจากการลด-แลก-แจก-แถม จากระบบภาษีในปัจจุบัน

โดยสรุป นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ ถือเป็นนโยบายที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่กำลังอยู่ในสภาวะทุกข์ยาก ซึ่งโครงการดังกล่าวครอบคลุมประชากรกว่า 11 ล้านคน ใช้งบมหาศาลในการบริหารจัดการ ในทางกลับกัน ระบบภาษีเงินบุคคลธรรมดากลับไม่ได้ถูกปฏิรูปเพื่อช่วยรัฐบาลหางบประมาณ ซ้ำยังเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย ไม่ส่งเสริมการกระจายรายได้ จึงกล่าวได้ว่า ระบบภาษีของไทยเป็นแบบก้าวหน้า แต่การปฏิรูปภาษี..ไม่ได้ก้าวหน้าตามไปด้วย

โดย... วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์