กรุงศรีอยุธยา เมืองท่านานาชาติ

กรุงศรีอยุธยา เมืองท่านานาชาติ

กรุงศรีอยุธยา เมืองท่านานาชาติ

ละครบุพเพสันนิวาสได้ก่อให้เกิดกระแสความสนใจในประวัติศาสตร์ไทยสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนอกจากความรู้ด้านการเมือง และการต่างประเทศแล้ว ยังมีมุมมองด้านเศรษฐกิจและการเงินที่คนไทยหลายคนนึกไม่ถึง

หลายคนอาจไม่ทราบว่ากรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มีฐานะเป็นเมืองท่า และศูนย์กลางการค้าขายนานาชาติของภูมิภาค โดยจากบันทึกของนายโยส เซาเต็น ชาวฮอลันดา ผู้จัดการบริษัทดัชท์อินเดียตะวันออก ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุโยส เซาเตน เมื่อครั้งเข้ามากรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2179 (ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ไว้ว่า

พระนครศรีอยุธยานี้จึงเป็นนครที่โอ่อ่า เต็มไปด้วยโบสถ์วิหารซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๓๐๐ และก่อสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โบสถ์วิหารเหล่านี้มีปรางค์ เจดีย์และรูปปั้นรูปหล่ออย่างมากมาย ใช้ทองฉาบอยู่ภายนอกสีเหลืองอร่ามทั่วไปหมด เป็นพระมหานครที่สร้างอยู่ข้างฝั่งแม่น้ำ โดยมีผังเมืองวางไว้อย่างเป็นระเบียบ จึงเป็นนครที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีประชาชนหนาแน่น และเต็มไปด้วยสินค้าสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิตนำเข้ามาขายจากนานาประเทศ เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในแถบนี้ของโลก ที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดารและสมบูรณ์พูนสุข เหมือนกับพระมหากษัตริย์ ณ ราชอาณาจักรนี้...” (แปลโดย ขจร สุขพานิช)

โดยหากจะให้เทียบกับเมืองในปัจจุบัน กรุงศรีอยุธยาในยุคนั้นก็น่าจะเทียบได้กับประเทศสิงคโปร์ หรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการเงินของภูมิภาคเอเซีย ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆในท่าเรือนานาชาติพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2133 – 2231” โดยนายกรกิต ชุ่มกรานต์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่าในปีหนี่ง พระนครศรีอยุธยาจะคลาคล่ำไปด้วยสำเภาจากต่างชาติที่ทยอยกันเข้ามาในแต่ละช่วงเวลา ดังที่คำให้การชาวกรุงเก่าได้บรรยายไว้ว่า “คราคร่ำไปด้วยสำเภาจีน แขกสลุป ฝรั่งกำปั่น แขกสุรัด แขกชวามลายู แขกเทศฝรั่งเศส ฝรั่งโลสงโปรตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน อังกฤษ แลฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนีแขกเกาะ”

มีชุมชนต่างชาติรับพระราชทานที่ปลูกบ้านเรือน เช่น อังกฤษ ฮอลันดา โปรตุเกส ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน อินเดีย อิหร่าน แขกมลายู/ชวา/มะกะสัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจาก สมเด็จพระนารายณ์ “ทรงอนุญาตให้ทุกคนอยู่กินตามถนัด ให้สร้างโบสถ์และปฏิบัติศาสนกิจแบบอย่างในประเทศตนได้อย่างเปิดเผย ขออย่าให้เป็นการทำลายความสงบสุขของแผ่นดินก็แล้วกัน” (นิโกลาส์ แชรแวส ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองของอาณาจักรสยาม)

และเนื่องจากอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวต่างชาติจึงมีการแต่งงานระหว่างคนต่างชาติด้วยกันเป็นจำนวนมาก โดยจำนวนลูกครึ่ง เฉพาะลูกครึ่งโปรตุเกสนั้นมีมากถึง 2,000 คน การผสมผสานระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆส่งผลให้อยุธยายิ่งมีศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภาษาเพื่อการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้นไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้นในสมัยอยุธยาช่วงหนึ่ง ยังเปิดกว้างในการรับคนต่างชาติเข้ามารับใช้ในราชสำนักจำนวนมาก เช่น ยามาดะ นางามาซะ ชาวญี่ปุ่น ตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลทางการค้าและการเมืองในระดับสูง (ก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ประมาณ 30 ปี) เฉกอะหมัด ชาวอิหร่าน ตำแหน่งเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย ปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งกรุงสยาม ต้นสายสกุลบุนนาคในปัจจุบัน และคอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีก ตำแหน่ง ออกญาวิไชเยนทร์ ผู้มีอิทธิพลด้านการค้าและการเมืองสูงที่สุดในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากรุงศรีอยุธยา มิได้เป็นเพียงราชอาณาจักรเก่าเท่านั้น แต่ยังรุ่งเรืองและมีความทันสมัยในการดำเนินนโยบายเป็นอย่างยิ่ง และแม้ว่านโยบายหลายอย่างจะเป็นไปเพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองภายใน และมิได้กระจายผลประโยชน์มาสู่ประชาชนทั่วไปมากนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหน้าหนึ่งที่คนไทยควรจะได้รับทราบไว้