ซื้อหุ้นถูกหรือแพงดูได้ที่ค่า P/BV

ซื้อหุ้นถูกหรือแพงดูได้ที่ค่า P/BV

ซื้อหุ้นถูกหรือแพงดูได้ที่ค่า P/BV โดย หลักทรัพย์บัวหลวง

สิ่งที่นักลงทุนสาย VI ให้ความสำคัญในการวิเคราะห์หุ้น สิ่งแรก คือ ค่า P/E (Price to Earning) เพื่อจะหาว่า ถ้าเราซื้อหุ้นตัวนี้แล้วอีกกี่ปีจะคืนทุน เพราะค่า P/E จะสามารถบอกเราได้ว่า

1.บอกความถูกแพงของราคาหุ้น และความคาดหวังของนักลงทุน

2.ใช้หามูลค่าที่เหมาะสมของราคาหุ้นได้

3.ใช้เปรียบเทียบแต่ละธุรกิจ อุตสาหกรรม ด้วยค่า P/E

เราสามารถเอาค่า P/E หุ้นตัวที่เราสนใจ ลองนำมาเปรียบเทียบในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น กลุ่ม Bank (BBL, KBANK, SCB, KTB, TMB) ข้อห้ามของการเปรียบเทียบค่า P/E คือ ห้ามเปรียบเทียบต่างอุตสาหกรรมกัน ซึ่งเราไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่ถ้าเรานำหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันเปรียบเทียบกันแล้ว ถึงแม้ว่าค่า P/E จะมากหรือน้อยขนาดไหน ยังฟันธงไม่ได้ทันทีว่าหุ้นนั้นถูกหรือแพง เราต้องไปดูด้วยว่าค่า P/E ที่สูง สูงเพราะอะไร  และค่า P/E ที่ต่ำ ต่ำเพราะอะไร  

ทว่าค่าต่อมาที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ค่า P/BV หุ้นตัวนี้เราซื้อแพงกว่าหรือถูกกว่าเจ้าของ จะเทียบทั้งทีเทียบกับเจ้าของกิจการกันให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลยว่า ใครซื้อถูกกว่ากัน!! จะบอกได้ในค่าของ P/BV นั้นเอง

ค่า P/BV คืออะไร ?

ชื่อเต็มๆ ถูกเรียกว่า Price to Book Value Ratio เป็นอัตราส่วนทางการเงินอีกตัวหนึ่งเช่นกัน ที่ใช้เปรียบเทียบระหว่าง ราคาหุ้น กับมูลค่าทางบัญชี ต่างกับค่า P/E ที่เปรียบเทียบระหว่างราคาหุ้นกับกำไรต่อหุ้นนั่นเอง เทียบราคาหุ้นกับมูลค่าทางบัญชี (ส่วนของเจ้าของ) บอกว่าซื้อถูก หรือแพงกว่าเจ้าของ ยิ่งค่าต่ำยิ่งดี (ค่าเฉลี่ย SET ประมาณ 2 เท่า) อย่างไรก็ดีมูลค่าทางบัญชี หมายถึงในส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นเอง ส่วนของผู้ถือหุ้นมาจาก (สินทรัพย์ – หนี้สิน)

ค่า P/BV บอกอะไรเราได้บ้าง ?

1.บอกว่าคุณกำลังซื้อหุ้นแพงหรือถูกกว่าเจ้าของลงทุน

2.สะท้อนธุรกิจได้ดีกว่า สัดส่วนที่นำมาคำนวณนั้นเปลี่ยนแปลงช้า ไม่ผันผวน

3.P/BV ค่ามาตราฐานที่เจ้าของลงทุนคือ 1 เท่า

4.P/BV บอกว่าเราซื้อแพงหรือถูกกว่าเจ้าของได้อย่างไร ?

ทั้งนี้เราลองมาคำนวณค่า P/BV ไปพร้อมๆ กันเลย ยกตัวอย่าง เช่น ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 15 บาท และมูลค่าตามบัญชีอยู่ที่ 10 บาท คำนวณตามสูตร 15/10 ออกมาได้ค่า P/BV เท่ากับ 1.50 เท่า ซึ่งความหมายก็คือ ค่ามาตรฐานที่เจ้าของลงทุนคือ 1 เท่า ถ้าตอนนี้คุณกำลังซื้อหุ้นตัวนี้ คุณจะซื้อแพงกว่าเจ้าของ 50 สตางค์นั้นเอง…

แต่ในยุคการลงทุน 4.0 แบบนี้ถ้าเราต้องการอยากรู้ค่า P/BV ไม่ต้องมานั่งคำนวณใส่ค่าแทนสูตรอะไรให้ยุ่งยาก เราก็เปิดเว็ปหาค่า P/BV ของหุ้นที่เราต้องการดูได้เลย

ค่า P/BV ยิ่งต่ำยิ่งดี…จำแบบนี้ได้ไหม ?

เห็นใครๆ ก็บอกว่าค่า P/BV ยิ่งต่ำยิ่งดี หรือมีค่าน้อยกว่า 1 เท่าได้ยิ่งดี เรากำลังเจอของดีที่น่าลงทุน!! ใจเย็นๆ ก่อน อย่างเพิ่งคิดแบบนี้เสมอไป ค่า P/BV ต่ำนั้น ก็อย่าลืมไปตรวจเช็คส่วนของเจ้าของและสินทรัพย์ด้วยว่าเพิ่มขึ้นทุกปีหรือไม่

แต่ถ้าคุณกำลังเจอหุ้นที่ค่า P/BV สูงๆ นั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องหลีกเหลี่ยงเสมอไป เพราะอาจเกิดจาก BV ที่ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ แต่ราคาหุ้น (P) ขึ้นนำไปก่อน ส่งผลให้ค่า P/BV สูงขึ้นจาก P โตเร็วกว่า ในขณะที่ BV ค่อยๆ เติบโต

แต่ P/BV สูงนั้น บางครั้งทรัพย์สินบางอย่างอาจไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ความน่าเชื่อถือ แบรนด์ เหล่านี้อาจไม่ได้ถูกบันทึกลงไปในสินทรัพย์หลังจากหักหนี้สินแล้วส่งผลให้ส่วนของเจ้าของไม่ได้มากมาย ตัวหารน้อย ค่า P/BV จึงออกมาสูงนั้นเอง

เปรียบเทียบแต่ละธุรกิจ อุตสาหกรรม ด้วยค่าของ P/BV

เราสามารถเอาค่า P/BV หุ้นตัวที่เราสนใจลองนำมาเปรียบเทียบกับค่าอุตสาหกรรมหรือหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันได้!! แต่อย่าตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นเพียงแค่เลือกดูที่ค่า P/BV ตัวเดียวเท่านั้น!! ควรดูอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ ประกอบไปด้วย ไม่เช่นนั้น คุณอาจกำลังหลับตาเลือกหุ้นอยู่ก็ได้!!

ทั้งนี้นักลงทุนสามารถติดตามอ่านบทความดีๆของหลักทรัพย์บัวหลวงได้ทาง knowledge.bualuang.co.th และยังสามารถติดตามชม 4 รายการสดตลอดสัปดาห์ ซึ่งคลอบคลุมทุกเรื่องการลงทุนผ่าน FB LIVE กดติดตามชมได้ที่ www.facebook.com/bualuangsec