The Rise of Social Enterprise การเติบโตของ“ธุรกิจเพื่อสังคม”

The Rise of Social Enterprise การเติบโตของ“ธุรกิจเพื่อสังคม”

“สวัสดีปีใหม่ไทย” ย้อนหลังแก่คุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ หวังว่าช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาหลายท่านคงได้มีโอกาสไปพักผ่อนและชาร์ตแบตกันมาแล้วนะคะ

ฉบับนี้ดิฉันขอหยิบยกรายงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาฝากกันค่ะ อย่างที่ทราบกันดีค่ะว่า ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ไม่ได้ถูกประเมินเพียงเฉพาะด้านผลกำไร หรือคุณภาพของสินค้าและบริการเท่านั้น แต่มีเรื่องของการสร้างผลกระทบต่อสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งให้เกิดโมเดลของธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social enterprise ขึ้นในโลกนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทบิ๊กโฟร์ชั้นนำของโลกได้เผยแพร่รายงาน The Rise of Social Enterprise: The 2018 Deloitte Global Human Capital ว่ากิจการเพื่อสังคมกำลังมีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้นโดยจากผลการศึกษาที่ดีลอยท์ได้สำรวจผู้นำธุรกิจกว่า 11,000 รายทั่วโลก พบว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเวลานี้คือการที่ธุรกิจต่างๆ ไม่ได้ถูกประเมินโดยผลการดำเนินงานหรือคุณภาพสินค้าและบริการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

แต่กลับถูกตัดสินจากการที่บริษัทเหล่านั้นมีความสัมพันธ์อย่างไรกับพนักงาน ลูกค้า รวมถึงชุมชนและสังคมโดยรวม ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร เทรนด์นี้เองทำให้ธุรกิจเปลี่ยนโฉมมาสู่ “ธุรกิจเพื่อสังคม” มากขึ้น

ปัจจุบัน ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ลูกค้าและพนักงาน แต่รวมถึงชุมชน หน่วยงานกำกับดูแล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ โดยการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้เป็นงานที่ท้าทาย และทำให้บริษัทต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ และความเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งไม่ใช่เพียงการดำเนินธุรกิจอย่างจริงใจเท่านั้น แต่การกระทำเหล่านี้ยังจำเป็นต่อการสร้างชื่อเสียง การดึงดูดและรักษาพนักงาน และการสร้างความภักดีหรือ loyalty ของลูกค้าอีกด้วย

โดยรายงานจากดีลอยท์กล่าวว่าเทรนด์ของ Social enterprise นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่โลกเกิดวิกฤติการเงินในปี 2008 และคนเริ่มหวั่นกลัวว่า “เงิน” อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่างอีกต่อไป เงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคม หรือช่วยให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยได้เสมอไป ครั้นจะหันมาใช้เทคโนโลยีก็อาจเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้เกิดผลเสียบางอย่างตามมา เมื่อคนเริ่มกลัวและไม่เชื่อใจ พวกเขาจึงคาดหวังว่าธุรกิจต่างๆ จะเข้ามาลดช่องว่างตรงนี้ลงได้

และที่สำคัญ จากผลการสำรวจยังพบปัจจัยผลักดันที่สำคัญ 3 ปัจจัยที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่

1.มวลชนมีอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวเชื่อว่าชีวิตของพวกเขาจะแย่กว่าพ่อแม่ และหันมาเรียกร้องความรับผิดชอบขององค์กรต่างๆ ต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจัยที่ว่ามานี้มีบทบาทอย่างมากต่อการตัดสินใจทำงานหรือการซื้อสินค้าต่างๆ ของกลุ่มคนเหล่านี้ โดย 86% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่คิดว่าความสำเร็จของธุรกิจควรถูกวัดในด้านอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากการเงิน ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้เองเป็นแรงงานกลุ่มหลักของโลก เสียงของพวกเขาจึงทรงพลังอย่างยิ่งเช่นกัน

เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะทุกวันนี้โลกเชื่อมต่อถึงกันหมด ทำให้ใครๆ ก็สามารถตรวจสอบบริษัท สินค้าและบริการ สามารถแสดงความคิดเห็นของตนส่งผ่านให้คนหมู่มาก รวมถึงสามารถเคลื่อนไหวทางสังคมได้อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็สามารถเป็นกระแสไปได้ทั่วประเทศหรือทั่วโลกภายในเวลาชั่วข้ามคืน (ซึ่งเรียกแนวโน้มนี้ว่า The naked organization)

2.ภาคธุรกิจถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาลด ช่องว่างในสังคม คนทั่วโลกมีแนวโน้มเชื่อธุรกิจมากกว่าเชื่อรัฐบาล โดยจากรายงานThe 2018 Edelman Trust Barometer พบว่าคนทั่วโลก 52% เชื่อว่าภาคธุรกิจนั้น “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง” เทียบกับ 43% ที่เชื่อรัฐบาล และโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ความเชื่อถือรัฐบาลนั้นตกต่ำลงสุดในรอบสี่ปีโดยอยู่ที่เพียง 33% ประชาชนทั่วโลกเริ่มมองหาธุรกิจที่สามารถเข้ามาลดช่องว่างในสังคมได้ เช่นการไม่เท่าเทียมกันของรายได้ การแพทย์ ความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยให้โลกนี้มีความเท่าเทียมกันและยุติธรรมมากขึ้น

ความคาดหวังเหล่านี้จึงเป็นการกดดันภาคธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียง และเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจเสนอตัวเองเป็นทางเลือกของระบบหรือบริการของภาครัฐด้วยเช่นกัน

3.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดต่อสังคม ความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ประดิษฐ์หรือ AI และเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจและส่งผลกระทบต่อสังคม เช่นอาจทำให้เกิดการตกงานมากขึ้น หรืออาจส่งผลต่อสังคมในด้านอื่นๆ ตามมา ดังนั้นภาคธุรกิจจึงถูกคาดหวังให้เข้ามาควบคุมการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นไปในทางที่ดี

จากการสำรวจ ผู้นำองค์กรกว่า 87% มองว่ายุค 4.0 ได้นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ทั้งด้านดิจิทัลและกายภาพ และกว่า 74% มองว่าภาคธุรกิจจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางอนาคตมากกว่าภาครัฐ

ดังนั้นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจเพื่อสังคมคือการ รับฟังเสียงจากผู้คนรอบข้างทั้งในและนอกองค์กร ไม่ใช่แค่คู่ค้าหรือลูกค้า เพราะการทำธุรกิจเพื่อสังคมหมายถึงการที่คุณต้อง ลงทุนสร้างระบบนิเวศทางสังคมที่ดี และปฏิบัติต่อทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันค่ะ