ข้อดีข้อเสียด้วยการ Leverage แบบต่างๆ

ข้อดีข้อเสียด้วยการ Leverage แบบต่างๆ

ข้อดีข้อเสียด้วยการ Leverage แบบต่างๆ

การที่โลกใบใหญ่ของเราเล็กลงมาอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การหาข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดอย่างรวดเร็ว ความสะดวกเหล่านี้ถึงแม้จะดีแต่ก็มีแนวโน้มในการได้ข้อมูลเพียงด้านเดียวสูงมาก ซึ่งพื้นฐานความรู้การลงทุนที่ดีต้องมาจากข้อมูลที่ครบทุกด้าน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่กำลังเติบโตขึ้นในตลาดทุนไทยมีหลากหลาย การใช้ผลิตภัณฑ์การเงิน Leverage ในการลงทุนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การนำเสนอข้อมูลที่ส่งต่อๆกันมักจะเป็นการพูดเพียงด้านเดียว ทั้งๆที่แต่ละอันมีทั้งข้อดีและข้อเสียควบคู่กันไป

วันนี้ผมขอสรุปข้อดีข้อเสียแบบคร่าวๆ ให้นักลงทุนได้ไปศึกษาต่อกัน

1.)   การ Leverage ผ่านบัญชี Credit Balance หรือบางคนเรียกกันว่าบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งให้นักลงทุนลงทุนได้สูงสุด 2 เท่า เช่นวางเงินไว้กับโบรค 1 ล้านบาทก็สามารถซื้อลงทุนได้สูงสุด 2 ล้านบาท ข้อดีของ Credit Balance คือเป็นการกู้ยืมเงินโบรคโดยตรง การเข้าถึงของข้อมูลเช่นวงเงินในการซื้อหุ้น ต้นทุนในการกู้เงิน ครบถ้วนไม่ซับซ้อน แต่สำหรับนักลงทุนที่กล้าได้กล้าเสีย ต้องการ Leverage มากกว่า 2 เท่าก็อาจจะไม่ชอบวิธีนี้เท่าไร

2.)   การซื้อขาย Single Stock Futures (SSF) ผ่านรายการ Block Trade บนกระดาน TFEX เป็นอีกช่องทางในการ Leverage ที่อัตรา ประมาณ 5 – 20 เท่าสูงกว่าบัญชี Credit Balance แต่กลไกในการกู้ยืมจะมีความซับซ้อนขึ้น เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมโดยตรงจากโบรคที่เปิดบัญชีซื้อขาย แต่เสมือนเป็นการกู้ยืมจาก Market Maker ให้ช่วยซื้อหุ้นและถือหุ้นตัวนั้นไว้ให้ โดยที่นักลงทุนไม่ได้ถือครองหุ้นตัวนั้นโดยตรง แต่จะเป็นการถือสัญญา SSF บนหุ้นนั้นไว้แทน โดย Market Maker จะเป็นผู้ขายสัญญาให้แก่นักลงทุน ต้นทุนในการ Leverage ก็จะเสมือนกับการกู้เงินบนหุ้นทั้งหมดที่นักลงทุนให้ Market Maker ซื้อหุ้นให้แทน

Single Stock Futures จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่กล้าได้กล้าเสียมากๆ แต่ต้องอย่าลืมว่าการ Leverage ที่สูงมากก็มีความเสี่ยงมากถ้าราคาหุ้นปรับตัวลงมา นักลงทุนจำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองไว้ในการเติมหลักประกันเพิ่ม เพราะเงินลงทุนที่ลงไปตอนแรกอาจจะไม่เพียงพอกับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงๆ

3.)   Derivative Warrant (DW) เป็นสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยอัตรา Leverage เฉลี่ยของ DW ที่อ้างอิงบนหุ้นที่นิยมลงทุนกันจะอยู่ประมาณ 3-5 เท่าซึ่งน้อยกว่า SSF แต่จุดเด่นของ DW คือกลไกในการซื้อขายที่ไม่ซับซ้อน นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ผ่านกระดาน SET เหมือนหุ้นทั่วไป สิ่งที่คล้ายกันกับ SSF คือกลไกข้างหลังที่ Market Maker จะเป็นผู้ไปซื้อหุ้นตัวนั้นไว้ให้นักลงทุนเอง โดยนักลงทุนจะทำการถือ DW ที่อ้างอิงกับหุ้นตัวนั้นไว้แทน

สิ่งที่แตกต่างกันกับ SSF คือเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงมา Market Maker ของ DW จะมีการปรับพอร์ตขายหุ้นออกมาและรับความเสี่ยงหุ้นที่ขายไม่ทันไว้เอง ทำให้ความเสี่ยงของนักลงทุนนั้นถูกจำกัดสูงสุดแค่เงินต้นที่มาลงทุนใน DW (ไม่มีการเรียกให้นักลงทุนมาชำระเงินหรือวางหลักประกันเพิ่ม) ซึ่งกลไกนี้ทำให้ต้นทุนในการถือครอง DW หรือที่เรียกว่า Time Decay นั้นมักจะสูงกว่าต้นทุนการถือครอง SSF

จากบทสรุปข้างต้นนี้ ไม่ว่าทางเลือกไหนก็จะมีจุดเด่นและจุดด้อย เช่น นักลงทุนที่กล้าเสี่ยงมากๆ และตัดขาดทุนเร็วก็อาจจะเลือก SSF เพราะต้นทุนถูกกว่าและจำกัดความเสี่ยงด้วยตัวนักลงทุนเอง หรือ นักลงทุนที่กล้าเสี่ยงแต่รู้ตัวว่าตัดขาดทุนช้าก็ควรเลือก DW เพราะมีกลไกจำกัดขาดทุนได้อัตโนมัติแต่อาจมีต้นทุนในถือครองที่แพงกว่า หรือ ถ้านักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยจาก Leverage และถือครองนานๆ ก็ควรเลือกใช้ Credit Balance เป็นต้น