สัญญาที่ถูกละเมิดจาก สปสช.

สัญญาที่ถูกละเมิดจาก สปสช.

พลเมืองไทยส่วนใหญ่ของประเทศ 48 ล้านคนเศษ ได้รับความคุ้มครองในการประกันสุขภาพจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีคำขวัญประจำระบบว่า

 “30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้มิได้เก็บเงินผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลครั้งละ 30 บาทเหมือนในช่วงปี 2545-2550 โดยผู้ที่สั่งให้ยุติการเก็บเงินผู้ป่วยครั้งละ 30 บาทก็คือ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 

ปัจจุบัน การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท ทำให้การรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเองนั้น สร้างความพึงพอใจกับระบบนี้มาก และมีความเชื่อมั่นในการรักษาเกือบ 100%

แต่การสำรวจพบว่า มีพลเมืองไทยแค่ 20 ล้านคนเท่านั้นที่ไปใช้สิทธิ 30 บาท ขณะที่อีก 28 ล้านคน ไม่ใช้สิทธิ โดยพบว่าผู้ที่มีเงิน ยอมจ่ายเงินเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น จะเห็นได้จากมูลค่าหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล

แม้แต่ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณของ TDRI อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง เคยกล่าวไว้ว่า คนรวยยอมเสียเงินเพื่อซื้อความสะดวก แต่คนจน (จำ) ยอมเสียเวลาเพื่อรับการรักษาในระบบ 30 บาท ทั้งยังเคยบอกว่าตัวเขาเองไม่กล้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลระดับโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ (การแพทย์) หรือโรงพยาบาลชุมชน เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพการรักษา ฉะนั้น สปสช.จึงควรจะออกแบบสำรวจความคิดเห็นจากพลเมืองไทยที่มีสิทธิในระบบ 30 บาทจำนวน 28 ล้านคน ที่ไม่ไปรับการรักษาในระบบ 30 บาท ว่าเหตุใดท่านจึงไม่ไปใช้สิทธิรับการรักษาในระบบ 30 บาท

ทาง สปสช.เองได้สรุปผลการสำรวจว่า คนที่ไม่ไปรับสิทธิในระบบ 30 บาท เป็นเพราะเขาไม่ต้องการเสียเวลา หรือเพราะเขาไม่มั่นใจในคุณภาพการรักษาในระบบ 30 บาท หรือเนื่องจากเหตุผลทั้ง 2 อย่าง แบบเดียวกับอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังคนนี้

แต่ถึงแม้ว่าคนไทย 28 ล้านคนไม่ไปใช้สิทธิในระบบ 30 บาท การบริหารงบประมาณกองทุนฯ ก็มีเงินไม่เพียงพอสำหรับพลเมืองไทย 20 ล้านคน เห็นได้จากการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยในระบบนี้ ไม่เท่ากับต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ป่วย ทำให้โรงพยาบาลตกอยู่ในสภาพมี หนี้สูญ หลายร้อยโรงพยาบาล โดยที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่างก็เพิกเฉยกับสภาพที่ สปสช.เป็น “ลูกหนี้” ค้างชำระเงินให้แก่โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท

นอกจากนี้ สปสช.ยังสามารถ ตกแต่งบัญชี และงบการเงินของ สปสช.ให้ดูดี จนกระทรวงการคลังหลงเชื่อ และให้รางวัล สปสช.ว่าเป็นหน่วยงานที่บริหารกองทุนดีเด่นมาทุกๆ ปี

จึงน่าประหลาดใจมากว่ากระทรวงการคลังตรวจสอบการบริหารกองทุนของ สปสช.อย่างไร จึงตัดสินให้ สปสช.เป็นหน่วยงานที่ “บริหารกองทุนดีเด่น” มาหลายปี ในขณะที่ผู้รับผลงานจาก สปสช. (ทำงานบริการรักษาผู้ป่วยโดยรับเงินค่ารักษาผู้ป่วยจาก สปสช.) ล้วน “ขาดทุนกันป่นปี้”?

ตัวอย่างวิธีการที่ สปสช.บริหารเงินกองทุนฯ คือการ จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยใน” (ผู้ป่วยที่ต้องนอนค้างคืนเพื่อพักรักษาตัวในโรงพยาบาล) ที่ สปสช.จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยน้อยกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงดังนี้

สปสช.จะออกระเบียบการเบิกจ่ายเงินในการรักษา ผู้ป่วยในตามกลุ่มโรคเดียวกันเป็นราคากลาง เรียกว่า “DRG = Disease Related Group” กล่าวคือถ้าป่วยด้วยโรคเดียวกันก็จะจ่ายเท่ากัน แต่จะมีการเพิ่มเงินตามความหนักเบาของโรค เรียกว่า RW-Relative Weight เพื่อคำนวณเม็ดเงินที่จะจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยไปแล้ว ซึ่งดูแล้วก็น่าจะทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยในราคาที่ “คุ้มกับต้นทุนในการรักษาผู้ป่วย” และมีเงินทุนหมุนเวียนในการจัดหายา เวชภัณฑ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วย ถ้า สปสช.ทำตามข้อตกลงหรือ “สัญญา” ในการจ่ายค่ารักษา

แต่ความเป็นจริงในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา สปสช.เป็นผู้ละเมิดสัญญาหรือข้อตกลงตามระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ สปสช.ได้ทำไว้กับโรงพยาบาลเสียเอง โดยการลดราคาค่า DRG ลง กล่าวคือในตอนต้นปีงบประมาณ สปสช.ก็จะจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยในตาม DRG ที่ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ แต่พอเวลาผ่านไป สปสช.ก็จะอ้างว่างบประมาณเหลือน้อย ไม่สามารถจ่ายเงินตามราคา DRG ที่ให้สัญญาไว้ เช่น ต้นปีทำสัญญาไว้ว่า DRG ละ 8,000 บาท พอกลางปี สปสช.ก็จะจ่าย DRG ละ 7,000 บาท หรือน้อยกว่านี้ แต่ถึงปลายปี สปสช.อาจจะจ่ายค่ารักษาแค่ DRG ละ 5,000 บาท  ทำให้โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท มี หนี้ค้างชำระ จาก สปสช.พอกพูนขึ้น ยิ่งกว่าดินพอกหางหมู  

ท่านนักบัญชีทั้งหลายเคยบอกผู้เขียนว่า กิจการใดที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ โดยลูกหนี้ค้างชำระหนี้ตลอดมานั้น ผู้บริหารกิจการนั้นๆ ต้องพิจารณายกเลิกการทำธุรกรรมกับลูกหนี้ประเภทนี้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นกิจการของตนเองคงจะขาดทุนป่นปี้ จนถึงขั้นล้มละลายในไม่ช้า เพราะลงทุนทำงานแล้วเก็บเงินจาก “ผู้ว่าจ้างหรือผู้ซื้อบริการ” ไม่ได้ เราจึงไม่แปลกใจที่โรงพยาบาลเอกชนทั้งหลายต่างทยอยลาออกจากการเป็น “คู่สัญญา” รับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทกับ สปสช. 

แต่เหตุที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข จำยอมรับรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ก็เพราะโรงพยาบาลมีพันธกิจที่จะต้องให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน แม้จะได้รับงบประมาณไม่ครบก็ตาม ทำให้โรงพยาบาลมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ไม่มีเงินจ่ายค่ายา วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ปล่อยให้บุคลากรในโรงพยาบาลไปร้องขอความช่วยเหลือหาเงินบริจาคจากผู้ใจบุญตามวิธีการต่างๆ ไม่ว่า ทอดผ้าป่า ประกาศรับบริจาค รวมถึงปรากฏการณ์การวิ่งทางไกลของคุณตูน บอดี้สแลม ซึ่งถือเป็นประวัติการณ์ที่ต้องจารึกไว้คู่แผ่นดินไทย

เมื่อผู้มีตำแหน่ง หน้าที่ และอำนาจตามกฎหมาย เพิกเฉย/ละเลยต่อการทำหน้าที่ของตน ปล่อยให้ สปสช.ทำผิดสัญญาในการจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยในมาหลายสิบปี จึงเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาสูงสุด คือนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่จะต้องเข้ามา "จัดระเบียบ” การบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีธรรมาภิบาล และยุติการกระทำของ สปสช.ที่ละเมิดสัญญาการจ่ายเงินค่า ซื้อบริการสาธารณสุข” ที่ สปสช.ทำผิดสัญญามาตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาโดยด่วน

 โดย... พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา