อาหารเป็นประเด็นใหญ่ในมหกรรมนวัตกรรม

อาหารเป็นประเด็นใหญ่ในมหกรรมนวัตกรรม

งานมหกรรมนวัตกรรม (The Great Festival of Innovation) ซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่ค่อยเป็นข่าว

ทั้งนี้คงเพราะเป็นเวทีเล็กเมื่อเทียบกับมหกรรมระดับโลก มหกรรมนี้เป็นเวทีสำหรับผู้นำทางอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ นักการศึกษา ศิลปินและนักมองอนาคต ประเด็นต่าง ๆ ที่พวกเขาถกกันใน 4 วันแยกออกเป็น 4 หมวดหมู่คือ งาน การดำเนินชีวิต สันทนาการและการเรียนรู้

หนึ่งประเด็นใหญ่ในหมวดหมู่การดำเนินชีวิตได้แก่อาหาร ในปัจจุบันโลกผลิตอาหารได้พอเลี้ยงประชากร 7.4 ล้านคนแต่มีคนอดอยากกว่า 800 ล้านคน ต่อไปปัญหาอาจจะสาหัสขึ้นเพราะอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็นเกือบ 1 หมื่นล้านคนในขณะที่พื้นที่สำหรับใช้ผลิตอาหารลดลง นวัตกรรมจึงเป็นทางออกสำคัญในด้านการผลิตและบริโภคอาหารในอนาคตต

ปัจจัยที่ทำให้ชาวโลกกว่า 800 ล้านคนขาดแคลนอาหารคือการขาดกำลังซื้อ ย้อนไป 50 ปี ธนาคารพัฒนาเอเซียพบว่าโลกมีปัญหานี้ในการสำรวจภาคเกษตรกรรมจึงเสนอให้แก้ไข หลังเวลาผ่านไป 50 ปี ปัญหาสาหัสยังคงอยู่ สภาพนี้ชี้ว่าการพัฒนาในช่วง 50 ปีล้มเหลวเพราะแม้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ผลของการขยายตัวมิได้กระจายออกไปอย่างทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำ หรือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจึงกว้างขึ้นแทนที่จะลดลง

ความเป็นมาดังกล่าวนำไปสู่คำถามสำคัญคือ เมื่อปัญหาเป็นที่รับรู้และพยายามแก้กันมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ยังแก้ไม่ได้ ต่อไปจะแก้ได้หรือเมื่อจำนวนคนเพิ่มขึ้นในขณะที่พื้นที่สำหรับผลิตอาหารลดลง การมองโลกในแง่ดีคงจะเห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะทำให้แก้ได้ แต่การมองโลกในแง่ร้าย หรือแม้แต่ตามความเป็นจริงเชิงประจักษ์คงจะสรุปว่าไม่น่าเป็นไปได้ ลองมองบางปัจจัยทั้งในระดับโลกและในระดับบุคคลว่า 2 มุมมองนี้ มุมไหนน่าจะมีน้ำหนักมากกว่า

ในระดับโลก ความไม่สมดุลระหว่างจำนวนคนกับทรัพยากรยังคงมีต่อไปส่งผลให้ไม่ว่าจะทำอย่างไรการผลิตอาหารในบางพื้นที่คงไม่พอ ลองมองบังกลาเทศซึ่งมีความแออันสูงมากและน้ำท่วมบ่อยเ และเยเมนซึ่งเป็นทะเลทรายเกือบทั้งหมด นอกจากทรัพยากรจะมีไม่พอแล้ว มันยังถูกทำลายด้วยสารเคมี การใช้แบบไม่เหมาะสมและสภาวะลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนไปอีกด้วย การค้นคว้าหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ตอนนี้ยังไม่ได้คำตอบไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชอาหารที่ทนต่อโรคร้ายและน้ำท่วมได้นาน หรือพืชที่ใช้น้ำเพียงจำกัด นอกจากนั้น ประวัติศาสตร์บ่งว่าปัญหาอื่นจะตามมาแม้การค้นคว้าจะสำเร็จก็ตาม ตัวอย่างชั้นดีคือการปฏิวัติสีเขียวซึ่งผลิตอาหารเพิ่มขึ้นได้แบบก้าวกระโดด แต่ก็พาคำสาปมาด้วย

สำหรับในระดับบุคคล ข้อเสนอมักเน้นนวัตกรรมในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค เรื่องนี้ดูเผิน ๆ ไม่น่าจะทำยาก แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่ามันเกิดขึ้นช้ามากและยังไม่มีผลดีต่อภาพใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลมีมากจนยากที่จะอ้างถึงได้ทั้งหมด ลองมองดูเพียง 2 เรื่อง

เรื่องแรก ข้อเสนอให้เน้นการบริโภคสิ่งที่ผลิตได้ในท้องถิ่นตามฤดูกาลเพื่อลดการใช้พรัพยากรในการผลิตและการขนส่ง แนวโน้มบ่งชี้ว่า การบริโภคอาหารที่ผลิตในถิ่นห่างไกลและการผลิตแบบใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตได้นอกฤดูกาลและสถานที่ยังเพิ่มขึ้น ความนิยมบริโภคปูขนและผลไม้และปลาเมืองหนาว หรือนอกฤดูกาลในเมืองไทยเป็นตัวอย่างชั้นดี

เรื่องที่สอง ข้อเสนอให้ลดการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อวัวซึ่งต้องใช้ทรัพยการในการผลิตสูงกว่าการผลิตพืชโปรตีนจำพวกถั่ว แนวโน้มบ่งว่า เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น สัดส่วนในการบริโภคเนื้อเพื่อรับโปรตีนยิ่งสูงขึ้น เนื้อย่างเกาหลีจึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ ในเมืองไทย

ผมเสนอหลายครั้งในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ให้เพื่อนคนไทยทำคล้ายผมคือ ลดการบริโภคข้าวและอาหารที่เป็นเส้นโดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและบริโภคอาหารแป้งชนิดอื่นแทน เช่น ข้าวโพด เผือก มันและกล้วย แต่ดูจะไม่มีผู้ร่วมด้วยกี่คน วันนี้เป็นวันสงกรานต์ ขอให้ผู้อ่านประสบความสุขกายสบายใจตลอดปีต่อไปและไม่ลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวของผมบ้างเพื่อความยั่งยืนของโลก