ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (8)

ราชนีติ : วิถีพระราชามรรคาผู้นำ (8)

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงคาถาบทที่ 36-46 สรุปใจความเรื่อง ปัญญาและการแสวงหาปัญญาของพระราชา เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง

และทำนุบำรุงไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ในตอนนี้จะได้ศึกษาคาถาบทต่อๆ ไป ซึ่งจะข้ามบางคาถาหรือหลายคาถาไปบ้าง เพราะมีข้อความคล้ายกันเป็นส่วนขยายคาถาบทก่อน โดยตอนนี้จะขอข้ามไปยังคาถาบทที่ 74 ความว่า

คาถาบทที่ 74 พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดไม่มีนักปราชญ์เป็นที่ปรึกษา ไม่ทรงเชื่อคำของปุโรหิต ข้าเฝ้าผู้ภักดี และพระสหายร่วมพระทัย ทรงมีแต่ความรู้หลีกเลี่ยงไปตามพอพระทัย พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นก็เป็นดังคนตาบอดไม่มีคนจูง ไม่นานเท่าใดก็จักถึงความพินาศเพราะศัตรู

คาถาบทที่ 75 พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดทรงทราบล่วงหน้าว่าพระราชกิจจะสำเร็จได้ดี โดยวิธีทรงเทียบเคียงอย่างนี้ว่า เราเป็นอย่างไร กาลเทศะเป็นอย่างไร ข้าศึกมีกำลังเท่าเราหรือยิ่งกว่าเราอย่างไร ประเทศพันธมิตรเป็นอย่างไร ความสามารถเป็นอย่างไร อุบายการรบเป็นอย่างไร เสบียงเป็นอย่างไร ความกล้าหาญเป็นอย่างไร กิจการพร้อมมูลอย่างไร ศัตรูพร้อมเพรียงอย่างไร การทูตเป็นอย่างไร พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น นักปราชญ์กล่าวว่าเป็นราชาธิราชจอมราชา

คาถาบทที่ 76 ในเวลาค่อนรุ่ง พระเจ้าอยู่หัวควรทรงพิจารณาการงานของข้าศึก ของพระสหายร่วมพระทัย ของพสกนิกร ของกองทัพ ของประเทศ ของการคลัง ของข้าเฝ้าต่างพระเนตรพระกรรณ ราชวัลลภ และกิจที่ควรทำและไม่ควรกระทำ

คาถาบทที่ 77 คนยากไร้แต่ทรงคุณปรากฏเป็นคนกล้า เป็นผู้ดี พระเจ้าอยู่หัวควรทรงชุบเลี้ยงเป็นข้าเฝ้า เพื่อประชาชนจะได้ทราบว่า มีคนดีเป็นข้าเฝ้าประจำราชสำนัก

คาถาบทที่ 79 พระเจ้าอยู่หัวทรงขัตติยราชวราภรณ์ ย่อมทรงสง่า ทรงประคองประกอบพระราชกิจโดยถนัด ทรงพระวิจารณ์โดยรอบคอบ ประทับนั่งผึ่งผาย ประทับยืนเป็นสง่า ไม่ทรงคำนึงถึงคนรักหรือคนชัง ทรงวินิจฉัยอรรถคดีโดยเที่ยงธรรม

คาถาบทที่ 80 พระเจ้าอยู่หัวไม่ควรทรงคำนึงว่า การลงพระราชอาญาผู้ผิด เป็นการไม่ทรงธรรม คนร้ายก็จะกำเริบ ข้อนี้เป็นการสูญเสียพระราชอำนาจอย่างใหญ่หลวง

คาถาบทที่ 81 เมื่อพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงโทษคนผิด คนชั่วก็กำเริบ เมื่อทรงลงอาชญาคนผิดตามความผิด คนร้ายก็จะไม่พึงทำความชั่ว เมื่อคนร้ายถูกลงโทษแล้ว เขาก็จะกลับตัวประพฤติดีต่อไป ด้วยอุบายนี้ยังชื่อว่าพระราชทานความสุขแก่เขาอีก

คาถาบทที่ 82 เมื่อพระเจ้าอยู่หัวลงอาญาคนร้ายตามความผิด คนที่เป็นพวกเดียวกันกับคนร้าย ก็ย่อมจะเกรงกลัวพระอาญา เมื่อทรงพิจารณาข้ออื่นที่เกิดขึ้นโดยรอบคอบ ทรงวินิจฉัยแล้ว ข้อนั้นก็เป็นพระราชกำหนดขึ้น

คาถาบทที่ 83 หากว่าพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงลงอาญาคนร้ายตามความผิด ความพินาศก็จะมาถึงพระองค์เอง ดังช้างพลายปราศจากช้างพัง ดังงูพิษหมดพิษ ดังพระขรรค์ปราศจากฝัก และดังสีหะปราศจากถ้ำฉะนั้น

คาถาบทที่ 84 ถึงคนทั้งหลายจะมีปากท้อง มีมือมีเท้าเท่าเทียมกันก็จริง แต่คนทั้งหลายย่อมต้องเกรงพระบารมี นอบน้อมพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียว แต่ถ้าพระเจ้าอยู่หัวลงอาญาไม่เป็นธรรม ชาวเมืองก็กลับคิดประทุษร้าย พระเจ้าอยู่หัวทรงลงอาญาโดยธรรม ชาวเมืองก็สงบราบคาบ

คาถาบทที่ 85 การลงพระอาญาโดยธรรม 1 การยกย่องคนดี 1 การฝึกคนเกียจคร้านให้เป็นคนขยัน 1 การไม่ทรงเห็นแก่หน้าว่าคนมีหรือคนจน 1 การปกครองทั่วถึง 1 คุณ 5 ประการ นักปราชญ์กล่าวว่าเป็นยัญธรรมควรบูชาแท้

(จาก ราชนีติ ฉบับแปลโดย นายทอง หงส์ลดารมภ์)

คาถาราชนีติชุดนี้แสดงแนวทางทรงความยุติธรรมแด่พระราชา ทั้งการใช้พระราชอำนาจในการบันดาลคุณและโทษแก่ราษฎร การให้ความเสมอภาคแก่ทุกชนชั้นไม่ว่ารวยหรือจน การตัดสินและส่งเสริมคนด้วยความดีมิใช่ชาติกำเนิด ซึ่งเป็น การปกครองอย่างทั่วถึง" ดังที่กล่าวไว้ในคาถาบทที่ 85 ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พระราชาก็ดี ผู้นำทุกระดับชั้นก็ดีจะต้องมี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นที่รักและเคารพของพสกนิกรชาวไทยนั้น ทรงความยุติธรรมอย่างเที่ยงแท้ตามพระคาถาได้กล่าวไว้เป็นที่ประจักษ์แจ้ง โดยผู้มีปัญญาพิจารณาพระราชกรณียกิจที่ทรงทำไว้แก่อาณาประชาราษฎร์ ก็จะทราบว่า สิ่งที่คัมภีร์ได้กล่าวไว้ตามที่ยกมานี้ ทรงปฏิบัติไว้ครบถ้วนสมบูรณ์