ผ่าทีม Trade War คู่หยุดโลก

ผ่าทีม Trade War คู่หยุดโลก

ก่อนวันสงกรานต์ ผมจะพามารู้จักกับทีม Trade War ของจีนและสหรัฐ ว่าเป็นไงกันบ้าง

สำหรับกลยุทธ์ของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ผู้นำของจีนได้แบ่งการบรรลุวัตถุประสงค์ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ "เส้นทางหรือกระบวนการและ "เป้าหมาย" โดยที่ระหว่างการดำเนินไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือในส่วนของ"เส้นทาง" นั้น เศรษฐกิจจีนถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของเส้นทางที่ยาวนานในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งหมดของเศรษฐกิจจีน เมื่อพิจารณาจากภาคบริการมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 52 ของจีดีพี และการบริโภคของครัวเรือนมีอยู่เพียงร้อยละ 52 ของจีดีพี ซึ่งเส้นทางนี้ถือว่ายังยาวไกลมาก ส่วน "เป้าหมาย" ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจถือว่ายังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะบรรลุถึงจุดนั้น

จะเห็นได้ว่า ณ ตอนนี้ จีนเติบโตมาจนไม่ได้พึ่งพาการค้าเหมือนเมื่อก่อน การมาตั้งใจตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ ในทางเศรษฐกิจนั้น จีนถือว่าไม่ได้กระเทือนแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าเหมือนเป็นการกล่าวหาและทำในสิ่งที่จีนมองว่าไม่เป็นธรรมมากกว่า ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ชาวจีนกลุ่มใหญ่พอสมควรมีมุมมองต่ออเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลก ว่าอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของเหตุการณ์ที่ไปแทรกแซงกิจการในประเทศต่างๆ อย่างที่จะว่าไปแล้วไม่ค่อยแฟร์กับประเทศนั้นๆ โดยเมื่อทุนเดิมก็มองลุงแซมไม่บวกอยู่แล้ว ยิ่งมาเย้ยด้วยการตั้งกำแพงภาษีกับมังกรจีนเข้าไปอีก การตอบโต้กลับของจีนจึงรุนแรงอย่างที่เห็นกันอยู่ ทั้งให้ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ มาเยือนถึงกรุงปักกิ่ง และประกาศรายชื่อสินค้าสหรัฐที่จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าตอบโต้

ผมขอพามารู้จักทีมสู้ทรัมป์ของจีน เริ่มจาก ฝ่ายบู๊ ได้แก่ นายหวัง ฉิซาน รองประธานาธิบดีของจีน โดยนายหวังเคยออกโรงพบกับ สตีฟ แบรนดอน อดีต Chief of staff ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อปรึกษาแนวทางการรับมือกับประธานาธิบดีสหรัฐทั้งประเด็นการค้ากับเกาหลีเหนือ ว่ากันว่านายหวังมีความรู้และเข้าใจนายทรัมป์ค่อนข้างดี เนื่องจากรับรู้แบ็คกราวน์ของนายทรัมป์ผ่านนายแบนนอนและคนใกล้ชิดท่านอื่นๆ ของนายทรัมป์ อีกทั้งชื่นชอบการชมซีรีส์ละครดังๆ ของอเมริกา อาทิ House of Card ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของวงในการเมืองระดับสูงของอเมริกา ว่าคิดและมีกลเกมการเมืองกันอย่างไร

นายหวัง ถือว่าเป็นผู้ที่นายสี จิ้นผิงไว้วางใจมากที่สุด เนื่องจากถือเป็นรุ่นพี่ที่เคยผ่านงานต่างๆ ท่ามกลางความลำบากในชนบทของจีนมาด้วยกันตั้งแต่สมัยวัยรุ่น นอกจากนี้ยังมี นายหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและมนตรีแห่งรัฐของจีน ที่เดินเกมประสานงานกับเกาหลีเหนือและพันธมิตรต่างๆ คู่ขนานกันในทางการเมืองระหว่างประเทศไปพร้อมๆ กัน

ส่วนฝ่ายบุ๋น ได้แก่ หลิว เฮ่อ หนึ่งในห้าสมาชิกของคณะกรรมการสูงสุดพูลิตบูโร ที่เชี่ยวชาญด้านการมองภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนเชื่อมกับทั่วโลก จุดเด่นของเขาคือเป็นหนึ่งเดียวในห้าเสือโบลิตบูโรที่จบการศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่อเมริกา และมีส่วนในการเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแบบสายตรงให้กับนายสี จิ้นผิง ไม่ว่าจะเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ทั้ง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ และ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ล้วนแต่ต้องมาพบกับนายหลิว หากมาเยือนรัฐบาลจีน 

นอกจากนี้บทความที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติการเงินปี 2008 และปี 1930 ได้รับรางวัลจากรัฐบาลในปี 2014  ยังมี นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน จุดเด่นของเขาคือการศึกษาที่ถือว่าตรงสายกับตำแหน่งนี้ เหมือนกับนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดของสหรัฐมาก จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ในสหรัฐ และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา ก่อนร่วมงานกับแบงก์ชาติจีน เมื่อปี 1997 ดำรงตำแหน่งตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการเมื่อปี 2008 มีความเชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงินและพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเหมือนเจ้าของภาษา

หันมาดูทีม Trade War ของอเมริกากันบ้าง เริ่มจาก ปีเตอร์ นาวาโร่ ผู้ที่มาเป็นศูนย์กลางของทรัมป์สำหรับ Trade War นี้แทนนายแกรี คอห์น ที่ไม่เห็นด้วยและลาออกไป จะว่าไปนายนาวาโร่ เป็นนักวิชาการที่คอยป้อนไอเดียว่าจีนจ้องเอาเปรียบสหรัฐด้านใดบ้างให้กับทีมของนายทรัมป์ มากกว่าจะลงรายละเอียดในการตั้งกำแพงภาษี ผมมองว่านายนาวาโร่ออกจะมีความคิดที่เป็นกลยุทธ์ของสงครามเศรษฐกิจมากว่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนายทรัมป์เอามาใช้เพื่อเอาใจฐานเสียงของตัวเองในการเลือกตั้ง Mid-Term ปลายปีนี้

นอกจากนี้ยังมี นายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่คอยสื่อสารและคุมจังหวะของ Trade war ไม่ให้เลยเถิดเกินไปในสายตานักธุรกิจและวอลล์สตรีท

มาดูฝ่ายบู๊ของทีมทรัมป์กันบ้าง ตัวหลักคือ นายโรเบิร์ต ไลต์ธิเซอร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในทีมทรัมป์สำหรับการจัดเต็มสงครามการค้ากับจีนในรอบนี้ เขาเป็นผู้ที่คว่ำหวอดในวงการการค้าต่างประเทศ โดยเป็นบุคลากรด้านการค้าอาวุโสมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในยุคทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นมาแรงจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตในตอนนั้น มาในพ.ศ.นี้ นายไลต์ธิเซอร์ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าผู้แทนการค้าของสหรัฐในตอนนี้ โดยการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นจีนเริ่มยิ่งใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ก็เลยโชว์พลังด้วยการประกาศรายชื่อสินค้าที่ทางการสหรัฐจะตั้งกำแพงภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าด้านไฮเทคที่สหรัฐกังวลว่าจีนจะเด่นแซงหน้า โดยกล่าวหาว่าจีนในอดีตใช้แท็คติคทางการค้าต่างๆ สืบทราบจนได้ความรู้ทางเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐ

ผมมองว่า Trade War คู่หยุดโลก ยกแรกเพิ่งจบไป โดยที่ทรัมป์ประเมินจีนต่ำเกินไปครับ