ไทยกับสงครามการค้า

ไทยกับสงครามการค้า

ในกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศรายชื่อของสินค้านำเข้าจากจีนที่จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้า อัตรา 25% รวมมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์

หลังจากกล่าวหาว่าจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐ โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์การแพทย์

อย่างไรก็ตาม ภายในไม่กี่ชั่วโมง จีนก็ตอบโต้ทันทีโดยประกาศรายชื่อสินค้าที่จะขึ้นภาษีมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน ซึ่งสินค้าหลักได้แก่สินค้าเกษตรเช่นถั่วเหลือง (ซึ่งปลูกในรัฐที่เป็นฐานเสียงของทรัมพ์) รวมถึงพาหนะต่าง ๆ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน และชิ้นส่วนต่าง ๆ

หลังจากที่จีนประกาศรายชื่อสินค้า ทรัมพ์ก็ได้ออกมาตอบโต้โดยประกาศเตรียมขึ้นภาษีสินค้ารวมมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์จากจีนอีก ขณะที่จีนก็ประกาศพร้อมจะตอบโต้เช่นเดียวกัน ซึ่งภาพเหล่านี้บ่งชี้ถึงความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่จะรุนแรงมากขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในส่วนของไทยนั้น ในความเป็นจริงแล้วพัฒนาการด้านการค้าของไทยกับสหรัฐในระยะหลังนั้นดูดีขึ้น หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษมาเป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองในช่วงปลายปีที่แล้ว หลังจากเห็นพัฒนาการของไทยในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีขึ้น ซึ่งการลดระดับครั้งนี้ ทำให้ความเสี่ยงของไทยที่จะถูกสหรัฐตอบโต้ผ่านการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุน (AD และ CVD) ลดลง

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากกระแสการกีดกันทางการค้า 2 ประเด็นด้วยกัน คือ (1) การถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) จากกระทรวงการคลังสหรัฐ และ (2) ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐประกาศ

ในประเด็นแรกนั้น กระทรวงการคลังสหรัฐ (US Treasury) จะออกรายงานประเทศผู้บิดเบือนค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้า (Currency Manipulator) ในปลายเดือนนี้ โดยมีหลักเกณฑ์ 3 ประการสำคัญ อันได้แก่ (1) การเกินดุลการค้ากับสหรัฐเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ไทย: 2.04 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว) (2) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกิน 3% ของ GDP (ไทย: 10.6%) และ (3) การเพิ่มขึ้นของทุนสำรองเกิน 2% ของ GDP (ไทย: 6.5%) ซึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงค่าเงิน

แม้ไทยจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งสาม (มาเลเซียเข้าข่าย แต่ยังไม่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากเท่าไทย) แต่คาดหมายกันว่าไทยไม่น่าจะถูกกล่าวหา เนื่องจากไทยเป็นประเทศคู่ค้าขนาดเล็กของสหรัฐ (อันดับที่ 21) ประกอบกับผู้นำไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐจะกล่าวหาว่าไทยเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน เนื่องจากไทยมีการแทรกแซงค่าเงินอย่างต่อเนื่อง (ทุนสำรองของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.7% ต่อเดือนในช่วง 8 เดือนหลัง) นอกจากนั้น หากเทียบตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งขึ้นประมาณ 5% น้อยกว่าดัชนีค่าเงินบาท (ที่เทียบกับคู่ค้าทุกสกุล) ที่แข็งถึง 12% บ่งชี้ว่าค่าเงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวดังที่ควรจะเป็น (หรือที่เรียกว่า Competitive non-appreciation)

แม้ว่าการถูกกล่าวหาดังกล่าวจะไม่มีผลในทางกฎหมายมากนัก เพราะยังไม่มีการลงโทษจากสหรัฐโดยตรง เพียงแต่จะจับตาอย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การถูกกล่าวหาดังกล่าวบ่งชี้ว่าประเทศนั้น ๆ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่บิดเบือนและทำให้สหรัฐเสียประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเป็นกระสุนให้รัฐบาลสหรัฐใช้บีบไทยในอนาคตได้

ในประเด็นที่สองนั้น หากกล่าวโดยสรุปคือ ผลกระทบทางตรงจากมาตรการการค้าของสหรัฐต่อไทยยังมีไม่มากนัก โดยผลกระทบจากภาษีเหล็ก (25%) และอลูมิเนียม (10%) ที่สหรัฐประกาศกับทุกประเทศมีไม่มาก เพราะการส่งออกเหล็กและอลูมิเนียมไปสหรัฐของไทยนั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยคิดเป็นประมาณ 0.3% ของการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของไทย อาจได้ผลกระทบแง่บวกจากราคาเหล็กที่ถูกลง จากผู้ค้าที่ส่งออกเหล็กไปสหรัฐไม่ได้ (ประมาณ 27 ล้านตัน) และถูกนำมาเทขายที่ไทย แต่ผู้ส่งออกเหล็กของไทยจะได้รับผลกระทบจากตลาดสหรัฐที่ถูกปิดลง

ส่วนผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกไทยจากการที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้าของจีนที่นำเข้าชั้นส่วนจากไทย (หรือพูดง่าย ๆ คือไทยส่งออกทางอ้อมไปสหรัฐผ่านจีน) รวมถึงสินค้าไทยที่ส่งออกทางอ้อมไปจีนผ่านสหรัฐนั้นมีไม่มากนัก (ประมาณ 2% ของการส่งออกรวม) โดยจากฐานข้อมูลของ OECD และกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศแล้ว ไทยส่งออกทางอ้อมไปสหรัฐ (ผ่านจีน) ประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ได้แก่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และยางพารา ขณะที่ส่งออกไปจีนผ่านสหรัฐประมาณ 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นชิ้นส่วนยานพาหนะเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลกระทบของไทยผ่านการส่งออกทางอ้อมดังกล่าวจะมีไม่มากนัก แต่ผลกระทบสืบเนื่องของสงครามการค้าจะเป็นดั่ง Snowball Effect ที่มีมากและไม่อาจคาดเดาได้ เช่น ผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าวจะวางแผนการค้าลำบากขึ้น เพราะไม่ทราบว่าจะในที่สุดแล้วจะถูกเก็บภาษีหรือไม่ ทำให้กระทบต่อการวางแผนทางธุรกิจและลงทุนในอนาคต นอกจากนั้น ในภาพรวมแล้ว ความเสี่ยงสงครามการค้าจะกระทบต่อการลงทุนระหว่างประเทศของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุน (โดยเฉพาะในตลาดทุน) กระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวแล้วว่า สงครามการค้านั้น ถ้าประกาศแล้วจะหาทางลงลำบาก ถ้าไม่สามารถหาจุดร่วมที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย (Middle Ground) ได้ ดังเช่นในช่วงทศวรรษที่ 80 ที่ญี่ปุ่นยอมที่จะจำกัดการส่งออกโดยสมัครใจ (Voluntary Export Restraint) หลังจากโดนสหรัฐข่มขู่ จีงทำให้เลี่ยงสงครามได้ แต่ครั้งนี้ จีนคงยอมไม่ได้ เนื่องจากสิ่งที่สหรัฐต้องการ “คุมกำเนิด” คือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของจีนตามแผน Made in China 2025 ดังนั้นการหา Middle Ground ระหว่างสหรัฐกับจีนจึงน่าเป็นไปได้ยาก

ช้างสารกำลังจะชนกัน หญ้าแพรกอย่างไทยคงต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

 [บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]