N 26 ธนาคารบนมือถือ

N 26 ธนาคารบนมือถือ

N 26 ธนาคารบนมือถือ

ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในบ้านเรากำลังแข่งขันกันตัดค่าธรรมเนียมอย่างเข้มข้น  ธนาคารบนมือถือในยุโรปก็ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพิ่ม ทำให้โลกจับตาดูอีกครั้ง

เอ็น 26 (N 26) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ จดทะเบียนก่อตั้งที่กรุงเบอร์ลิน ในเยอรมนี  เมื่อปี 2013 โดยหนุ่มชาวออสเตรียสองคนคือ วาเลนติน สตาล์ฟ (Valentin Stafl) และ มักซิมิเลียน ทาเก้นธาล (Maximilian Tagenthal) ซึ่งเกิดในกรุงเวียนนาทั้งคู่ คนหนึ่งมีประสบการณ์ด้านการให้คำปรึกษา เคยทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา และให้คำปรึกษากับสถาบันการเงิน และทำด้านวานิชธนกิจ   อีกคนหนึ่งเรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจ เป็นนักวิเคราะห์การเงินที่ได้วุฒิบัตร CFA  และเคยทำงานอยู่ในสถาบันการเงินและบริษัทประกัน ของออสเตรีย และทำด้านการควบรวมกิจการในสำนักงานกฎหมาย  ทั้งคู่เห็นโอกาสในการสร้างธนาคารบนมือถือ โดยไม่ต้องมีสาขา และไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้ทุกที่ทุกเวลา  ทั้งสองคนเริ่มธุรกิจนี้ในวัยไม่ถึง30 ปี

N 26 มีชื่อเดิมว่า หมายเลข 26 (Number 26) โดยในตอนเริ่มต้นธุรกิจ ไม่มีใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ แต่ใช้เวลาในการพัฒนาแอพลิเคชั่นต่างๆ จนสามารถให้บริการได้ในปี 2015 ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินของเยอรมนี หรือ บาฟิน (BaFin) ซึ่งเป็นหน้วยงานที่กำกับทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ และประกันภัย

หลังจากได้เปิดให้บริการไปไม่ถึงปี  ในปี 2016 ก็สามารถระดมทุนจากกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) ได้จากสามกองทุน คือ Valar Ventures ซึ่งเป็น VC ของ Peter Thiel หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal 10 ล้่านยูโร  จากผู้บริหารของ Zalando และจาก Earlybird Venture Capital อีกจำนวนหนึ่ง

ที่เป็นข่าวเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา N 26 สามารถระดมทุนจากกองทุน VC อีกสามแห่งคือ  Allianz X, Tencent Holdings และ Horizons Ventures ของ ลีกาชิง โดย N 26 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับบริษัทประกันอลิอันซ์ด้วย

รวมยอดเงินทุนที่ N 26 ระดมได้ตั้งแต่ปี 2015 เท่ากับประมาณ 215 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 7,000 ล้านบาท

N 26 ให้บริการหลักๆ 4 บริการ คือ การเปิดบัญชีกระแสรายวัน (เพื่อการรับและชำระเงิน) บัตรเดบิตมาสเตอร์คาร์ดเพื่อใช้ส่วนตัว เรียกว่า N 26 Black Card บัตรเดบิตมาสเตอร์คาร์ดใช้ในงาน เรียกว่า N 26 Business  การโอนเงินต่างประเทศ  โดยจะคิดค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิก  โดยหากใช้บริการธนาคารพื้นฐาน จะคิดค่าธรรมเนียม 6 ยูโรต่อเดือน  ส่วนการใช้บัตรเดบิต จะไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการ แถมยังมีเงินคืนเข้าบัญชีให้ 0.1% ของยอดใช้ซื้อของ  ยกเว้นลูกค้าบัตรสีดำ (Black Card) ซึ่งต้องเป็นลูกค้าเป็นระยะเวลานานอย่างน้อยหนึ่งปี และมีค่าธรรมเนียมการให้บริการ 5.9 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 230 บาท ต่อเดือน หรือ 2,760 บาทต่อปี)

อย่างไรก็ดี การทำรายการ จะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้เฉพาะการใช้บริการน้อยครั้งเท่านั้น เช่น การถอนเงินจากแอทีเอ็ม ถอนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม 3-5 ครั้งต่อเดือน (แล้วแต่ประเทศ)  เกินกว่านั้นเสียค่าธรรมเนียม 2 ยูโร ต่อครั้ง เป็นต้น เว้นแต่จะใช้บริการอื่น เช่น CASH 26 จะสามารถถอนเงินได้สูงสุด 999 ยูโรต่อวัน แต่มีค่าธรรมเนียมรายปีต่างหาก

นอกจากนี้ยังมีบริการเงินฉุกเฉินให้กรณีบัตรหาย โดยสามารถขอเบิกเงินฉุกเฉินได้สูงสุด 500 ยูโร โดยคิดค่าบริการ 130 ยูโรต่อครั้ง ลูกค้าสามารถไปรับเงินที่เคาน์เตอร์ของ  เวสเทิร์นยูเนียน  ในทุกประเทศ  สำหรับค่าธรรมเนียมอื่นๆ ก็มีค่าธรรมเนียมการถูกปฏิเสธการจ่าย เรียกเก็บในอัตรา 3  ยูโร ต่อครั้ง และดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี ในอัตรา 8.9% 

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริโภคยอมจ่ายค่าธรรมเนียม หากบริการนั้นมีคุณค่าในความรู้สึกของเขา เช่น ทำให้เกิดความสะดวกสบาย เชื่อถือได้ รู้สึกปลอดภัย และมั่นใจในการใช้บริการ ซึ่งการจะทำบริการให้ได้ดี มีต้นทุนทั้งนั้นค่ะ

สำหรับการเปิดบัญชีที่โฆษณาว่าใช้เวลาเพียง 8 นาทีนั้น  มีคนที่ถือพาสปอร์ตและบัตรแสดงตนของบางประเทศเท่านั้นนะคะที่สามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้ ส่วนที่เหลือ ต้องไปแสดงตนที่ที่ทำการไปรษณีย์

ปัจจุบัน ธนาคาร N 26 เปิดบริการในกลุ่มประเทศ อียู 17 ประเทศ ยกเว้น ไซปรัส และ มัลต้า  ลูกค้าสามารถโอนเงินไปต่างประเทศได้ 19 สกุล และมีภาษาให้เลือกในการใช้บริการ 5 ภาษา คือ เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาเลียน

บริษัทประกาศว่าวางแผนจะเข้าไปให้บริการในตลาด สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ในปี 2018 นี้ ปัจจุบันมีฐานลูกค้าประมาณ 800,000 ราย และมีลูกค้าสมัครใช้บริการวันละ 1,500 – 2,000 ราย มีพนักงาน 380 คน จ่ายค่าการตลาดปีละ 5-10ล้านยูโรต่อปี (ประมาณ 200-400 ล้านบาท)

บริษัทประกาศว่าจะแย่งส่วนแบ่งของลูกค้าในกลุ่มอายุ 18-35 ปี ให้ได้ 5-10%  ซึ่งก็ถือว่าจับลูกค้าถูกกลุ่ม เพราะดูๆแล้วบริการของธนาคาร N26 เหมาะสำหรับคนหนุ่มสาวที่มีการเดินทางอยู่เป็นประจำ มีเงินออมจำนวนไม่สูงมาก แต่ต้องการความสะดวกในการทำรายการต่างๆ ในสกุลเงินต่างๆของประเทศที่เดินทางไป

ก็ต้องคอยจับตาดูนะคะ เป็นน้องใหม่ที่ถือว่ามาแรงเหมือนกัน