จะเกิดสงครามการค้าจริงหรือ

จะเกิดสงครามการค้าจริงหรือ

จะเกิดสงครามการค้าจริงหรือ

ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงมากกว่าปกติ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ  เริ่มจากการที่นายทรัมป์เสนอให้ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม และหลังจากนั้นไม่นานนายทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีให้พิจารณาเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นวงเงิน 5 – 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยระบุว่าเป็นการตอบโต้จีนที่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ในขณะที่จีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการของนายทรัมป์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลง จากความกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกกลับมาชะลอตัวลง  ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาโฆษกรัฐบาลรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯระบุตรงกันว่า สหรัฐฯไม่ได้มุ่งหวังและไม่ได้คาดว่าจะเกิดสงครามการค้า ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯคาดว่าการเจรจาทางการค้าจะจบลงด้วยดี    

ทั้งนี้ นักลงทุนทั่วโลกกังวลว่า หากสหรัฐฯและจีนยังคงมีมาตรการตอบโต้ทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะเกิดสงครามการค้า แต่อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองตรงกันว่า สงครามการค้าเต็มรูปแบบไม่น่าจะเกิดขึ้น  โดยมองว่าการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นนี้ของนายทรัมป์ เป็นเพียงต้องการให้จีนหันมาเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนสูงมาก (ตัวเลขของทางการจีนในปี 2560 อยู่ที่ 2.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตัวเลขของสำนักงานสถิติสหรัฐฯ ซึ่งรวมการขาดดุลการค้ากับฮ่องกงเข้าไปด้วย อยู่ที่ 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยนายทรัมป์ต้องการให้จีนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯลง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดโอกาสให้สหรัฐฯเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นายทรัมป์เรียกร้องล้วนอยู่ในแผนของจีนอยู่แล้ว โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนระบุว่า จีนจะประกาศแผนปฏิรูปและเปิดเสรีในหลายๆด้านในเร็วๆนี้ หลังจากที่จีนทยอยปฏิรูปและเปิดเสรีมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่จะให้จีนลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯลง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐดูเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะสินค้าหลักที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯมีมูลค่ารวมไม่สูงนัก เช่น ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เครื่องบิน ฯลฯ  ในขณะที่สินค้าที่จีนส่งไปสหรัฐฯมีทั้งสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง  แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้แสดงความพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ เช่น ประกาศที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าหลายชนิด อาทิ รถยนต์ เป็นต้น

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯคาดหวัง จริงๆแล้วน่าจะเป็นเรื่องการเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีความสามารถในการบริโภคสูง  โดยหากพิจารณาจากจำนวนประชากร จีนมีประชากรมากกว่าสหรัฐฯราว 3 เท่า และหากพิจารณาในแง่ของความสามารถในการใช้จ่าย รายได้ต่อหัวของประชากรจีนเพิ่มขึ้นจาก 959.37 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2000 สู่ 4,560.51 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 และสู่ 8,123.18 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2016 (ข้อมูลจากธนาคารโลก) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมาก  ดังนั้น การเข้าถึงตลาดจีนได้อย่างสะดวกจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทสหรัฐฯ

ในส่วนของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา รัฐบาลจีนได้ระบุว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี  ทั้งนี้ การที่จีนให้บริษัทต่างๆที่เข้าไปลงทุนในจีนถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งหมดให้แก่จีน เป็นสิ่งที่ช่วยให้จีนสามารถพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีชั้นสูงได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเทคโนโลยีของจีนพัฒนาไปได้ไกลกว่าเทคโนโลยีของสหรัฐฯในหลายๆด้าน  โดยในปัจจุบันจีนน่าจะได้รับเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐฯไปมากพอแล้ว การหันมาปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจึงไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากนัก

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ โอกาสที่จะเกิดสงครามการค้ารุนแรงไม่น่าจะมี โดยหลายฝ่ายคาดว่าสหรัฐฯและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนที่มาตรการภาษีจะมีผลบังคับใช้ในราวเดือนมิถุนายน ซึ่งทางฝ่ายจีนได้เปิดเผยความพร้อมไว้อยู่แล้ว ในขณะที่การเคลื่อนไหวของนายทรัมป์น่าจะเป็นเพียงการเร่งให้จีนมีการปฏิบัติจริง และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างศัตรูแต่อย่างใด (ตามลักษณะของนักธุรกิจที่นิยมผูกมิตรมากกว่าสร้างศัตรู) 

อย่างไรก็ดี ในกรณีเลวร้ายคือ หากเกิดสงครามการค้าขึ้นมาจริงๆ สหรัฐฯน่าจะเป็นผู้ที่เสียหายมากกว่า เพราะต้นทุนการผลิตและการบริโภคของสหรัฐฯจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯลดลง และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะพุ่งขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การชะลอตัวครั้งใหม่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ  ในขณะที่จีน ถึงแม้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่การส่งออกของจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของจีดีพี โดยมีสหรัฐฯเป็นคู่ค้าหลัก คิดเป็นสัดส่วนราว 18.4% ของยอดส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 3.7% ของจีดีพีจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อย และจีนยังสามารถย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกีดกันทางการค้าได้ ซึ่งไทยอาจจะได้ประโยชน์จากจุดนี้ก็ได้