ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดการ “ล่า”

ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดการ “ล่า”

เป็นข่าวพาดหัวตามหน้าหนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อออนไลน์กันอย่างครึกโครม เมื่อผู้บริหารระดับอภิมหาเศรษฐี และประธานบริหารบริษัทใหญ่

อันดับต้นๆ แห่งวงการรับเหมาก่อสร้างไทยกลายเป็นผู้ต้องหา จากเหตุการณ์ตั้งแคมป์ ล่าสัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จนมีเจ้าหน้าที่ผู้กล้าเข้าไปแสดงตัวตรวจค้นจับกุม เพราะผิดสังเกตที่ออกนอกเส้นทาง และตรวจพบอาวุธที่ใช้ล่าสัตว์ รวมถึงพบซากสัตว์ป่าอีกเป็นจำนวนมาก โดยเหยื่อที่สังเวยคมกระสุนหนึ่งในนั้นก็คือ เสือดำ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่หายากรวมอยู่ด้วย

ประเด็นใหญ่ที่เป็นกระแสร้อนแรง เนื่องจากเสือดำที่ถูกล่าในครั้งนี้ เป็นชนิดพันธุ์ย่อยของเสือดาว (Indochinese leopard) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าPanthera pardus delacouri ถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เคยกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันจากการนิยมล่าสัตว์ทั้งยังมีการบุกรุกป่าอย่างหนัก ทำให้เสือดาวถูกขึ้นบัญชีแดงของ IUCN จัดอยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงขั้น อันตรายต่อการสูญพันธุ์” (Vulnerable) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก 

ทั้งโลกเหลือแค่ราว 2,000 ตัว เสือดาวชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากสิงคโปร์ รวมถึงลาวและเวียดนาม ส่วนในจีนและกัมพูชา ก็ถูกล่าจนแทบจะสูญพันธุ์แล้วเช่นกัน เหลือแค่มาเลเซีย พม่าและประเทศไทย ที่น่าจะยังมีประชากรเสือดาวชนิดนี้อยู่เพียงพอในการขยายพันธุ์ แต่ก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยตัวเท่านั้น

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการขึ้นทะเบียนร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยองค์การยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เมื่อปี พ.ศ. 2534 ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอของ 3 จังหวัด คือ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรีและจ.ตาก มีเนื้อที่กว่า 4 ล้านไร่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารที่สำคัญ เช่น แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแควใหญ่ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ หรือเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นหรือสัตว์ถิ่นเดียว เช่น ช้างป่า, กระทิง, เสือชนิดต่าง ๆ, ไก่ฟ้าหลังเทา, เป็ดหงส์, เป็ดก่า, นกเงือก, ควายป่า, เลียงผา, เสือดาว, เสือดํา ,หมาใน, นกยูงไทย และแมลงป่าชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย ถือเป็นป่าอนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันตกที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด

หลังจากได้ติดตามข่าวรู้สึกหดหู่ใจ เพราะคนระดับนี้มีอะไรมาดลใจถึงกับต้องลงมือลงแรงเข้าป่าล่าสัตว์หากินด้วยลำแข้งของตนเอง เป็นเพียงผู้ที่ต้องการแค่ลิ้มชิมรสชาติของเนื้อสัตว์เท่านั้น หากเป็นในอดีตที่ป่าเมืองไทยยังอุดมสมบูรณ์ สามารถล่าสัตว์เพื่อการค้าหรือเกิดจากความยากจนบังคับให้ต้องอาศัยอาหารจากผืนป่า เพื่อดำรงชีพก็ถือเป็นเหตุและผลที่พอจะยอมรับได้ เพราะมนุษย์ได้ใช้เนื้อของสัตว์ป่าเป็นอาหารเป็นเวลาช้านานแล้ว ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิดก็ได้พัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นสัตว์เลี้ยงไป สัตว์ป่าหลายชนิดตามธรรมชาติ คนก็ยังนิยมใช้เนื้อเป็นอาหารอยู่ เช่น หมูป่า เก้ง กวาง กระจง กระทิง 

แต่การล่าเพียงเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวนั้น ถือเป็นการกระทำที่ค่อนข้างรับไม่ได้ จึงอยากแนะนำให้หาสถานที่เพื่อเลี้ยง โดยไม่จำเป็นต้องเฉพาะเนื้อสัตว์ป่าอย่างเดียว แต่เพื่อหยุดและลดการล่าสัตว์ป่า!! เพื่อให้ธรรมชาติทุกอย่างเป็นไปตามวิถี รวมถึงเราสามารถปลูกพืชผักปลอดสารพิษหรืออินทรีย์ออร์แกนิคไว้สำหรับทานเอง เพราะอาชีพเกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำให้ผลผลิตออกมาใกล้เคียงกับการไปเก็บหรือไปล่ามาจากป่าไม่แพ้กัน

ที่สำคัญจะทำให้ใจเป็นสุข สงบ อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่เบียดเบียนกัน เพราะสัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบธรรมชาติ และเป็นส่วนสำคัญของป่าไม้ ช่วยในเกิดความสมดุลของธรรมชาติ และทั้งสัตว์ป่ากับป่าไม้ ต่างก็มีการพึ่งพาเกื้อหนุนกันซึ่งกันและกัน หาดขาดซึ่งผืนป่าสัตว์ป่าก็อยู่ไม่ได้ และหากขาดสัตว์ป่าผืนป่านั้นก็สิ้นซึ่งวิญญาณป่า

 

โดย... 

นายมนตรี บุญจรัส

ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษ