ส่งเสริมคนให้ก้าวหน้า พัฒนาองค์กรให้ก้าวไกล

ส่งเสริมคนให้ก้าวหน้า พัฒนาองค์กรให้ก้าวไกล

องค์กรทั่วไป องค์กรที่แข่งขันได้ องค์กรชั้นนำ คงไม่มีความหมายเท่ากับการเป็นองค์กรที่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ (Adaptive Organization)

องค์กรที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วและทันกาลเท่านั้น ที่จะยังคงรักษาความสามารถการแข่งขันไว้ได้

องค์กรที่ดีมักจะคิดคาดการณ์ล่วงหน้าไปในอนาคต พร้อมที่จะลงทุนทดลองในสิ่งใหม่ ไม่เคยหยุดที่จะส่งเสริมคนให้ก้าวหน้า และพัฒนาระบบการบริหารงานขององค์กรให้ก้าวไกล โดยไม่เสียดายกับสิ่งเดิมที่เริ่มล้าสมัย เน้นการเปลี่ยนผ่านเชิงรุก แทนที่จะตั้งรับอย่างเดียว

ผู้บริหารต้องไม่มัวแต่คุยกันในห้องประชุม ติดตามเฝ้าดูสถานการณ์ ติดสินใจช้า และขาดการสื่อสารที่ดี ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเปิดเผย และดึงทุกคนมาร่วมคิด ร่วมสร้าง และหาทางออกร่วมกัน เทคโนโลยีและระบบงานที่ทันสมัย อาจซื้อหามาได้ง่ายและใช้เวลาไม่นานในการติดตั้ง แต่การเพิ่มขีดความสามารถให้คนไม่ง่ายเช่นนั้น

เมื่อปัจจุบันองค์กรไม่ได้ต้องการแค่ Skill หรือ Multi-skill เท่านั้น หากแต่องค์กรยุคใหม่ต้องการ Knowledge worker พนักงานที่สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจที่จะเลือกหาแนวทางการตอบสนองลูกค้าแต่ละกลุ่ม/แต่ละราย ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มาตรฐานการปฏิบัติงานเป็นเพียงพื้นฐานที่ทำให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีข้อบกพร่องผิดพลาด และอย่างน้อยลูกค้าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในขั้นต้น แต่ความต้องการพิเศษที่แตกต่างแยกย่อยลงไป ย่อมไม่มีแนวทางหรือวิถีปฏิบัติใดที่เป็นแบบเดียวจะเติมเต็มความหลากหลายเหล่านั้นได้

ดังนั้นพนักงานต้องมีความแม่นยำในมาตรฐานขั้นพื้นฐาน และรู้ว่าจะสามารถเพิ่มเติมอะไรให้กับลูกค้าแต่ละรายได้บ้าง ผ่านการสังเกตุ สื่อสาร และสร้างสัมพันธ์ที่ดี แน่นอนองค์กรที่จะทำเช่นนี้ได้จำเป็นต้องเพิ่มพลังอำนาจ (empowerment) ให้กับพนักงานเหล่านั้น โดยแน่ใจว่าพลังอำนาจที่ให้ ได้อยู่ในมือของคนที่ใช้มันเป็น และเข้าใจในแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่

ผลิตภาพใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (Technological and Digital Productivity) เมื่อพนักงานแต่ละคนในโรงงานอุตสาหกรรมสามารถคุมเครื่องจักรในการผลิตได้พร้อมกันหลายเครื่อง พนักงานในภาคบริการสามารถจะใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อแบบต่างๆเป็นเครื่องมือในการให้บริการลูกค้าได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว และแก้ปัญหาการเข้าใช้บริการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นผลิตภาพในบริบทใหม่จึงสามารถเพิ่มได้หลายเท่าตัว โดยไม่ได้แค่การมีกระบวนการที่ดี มีคนที่มีทักษะความชำนาญเท่านั้น หากแต่ต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (technology application) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย

หนทางและการสร้างคุณค่าใหม่ในโลกธุรกิจ (new ways of generating business value) เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการสร้างอย่างต่อเนื่อง เพราะองค์กรทั่วไป มักมุ่งตอบสนองเฉพาะความจำเป็น(ความต้องการ)พื้นฐาน ขณะที่องค์กรที่มุ่งให้แข่งขันได้ จะพยายามเพิ่มเติมความสามารถพิเศษ เพื่อกระตุ้นจูงใจให้ซื้อ แต่องค์กรที่ดีเยี่ยม จะมุ่งลดปัญหา อุปสรรค ความยุ่งยาก และสิ่งที่ลูกค้ากังวลให้ได้มากที่สุด คุณค่า (value) จึงมีความหมายมากกว่าคำว่า สินค้าและบริการ (product and service) การก่อกำเนิดขึ้นของ Tech Startups สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่องค์กรทั่วไปไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ได้ละเลยและเพิกเฉยต่อ pain point ของลูกค้า และมุ่งแต่จะหาทางยัดเยียดสิ่งเดียวกันที่ตัวเองคิดว่าดีและมีเหนือคู่แข่ง

ทรัพยากรที่ใช้และโครงสร้างที่เปลี่ยนไป (shifts in resource distribution) หลายคนอาจกังวลกับอัตราการเกิดที่น้อยลง และจำนวนคนในวัยแรงงานจะมีไม่เพียงพอ แต่ในความเป็นจริงแล้วลักษณะงานและโครงสร้างการผลิตแบบใหม่ ใช้คนน้อยลงอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าคือทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ในวัยทำงาน น้อยในเชิงปริมาณแต่มากในความสามารถ โดยองค์กรต้องพร้อมที่จะจ้างในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นวิถีของการเพิ่มผลิตภาพที่ว่า ใช้คนน้อยแต่ได้ผลงานที่มาก ส่วนผสมของคนรุ่นใหญ่วัยเกษียณที่มี human touch กับคนรุ่นใหม่ทันสมัยที่มีความ high tech จะเป็นโครงสร้างใหม่ในการทำงาน

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและค่านิยมของคน (changing workforce and values) เมื่อความคิดความเชื่อของคนเปลี่ยนไป กฏกติกาและรูปแบบการทำงานแบบใหม่ๆจึงเกิดขึ้น

อย่าคาดหวังว่าคนจะทำงานประจำในองค์กรแบบยาวๆนานๆ คนรุ่นเก่าอาจแสวงหาความมั่นคงในงาน แต่คนรุ่นใหม่แสวงหาความท้าทาย คนรุ่นเก่าเข้าใจว่าการเติบโตต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แต่คนรุ่นใหม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาสั้นกว่านั้น คนรุ่นเก่าอาจรอให้วัดผลงานรายปี แต่คนรุ่นใหม่พร้อมให้วัดผลงานรายโครงการ คนรุ่นเก่าอาจสนใจเฉพาะงานตามหน้าที่ แต่คนรุ่นใหม่อยากมีส่วนร่วมในทีมอย่างมีความหมาย คนรุ่นเก่าคิดว่าประสบการณ์ต้องค่อยๆสะสมทีละนิด แต่คนรุ่นใหม่สร้างประสบการณ์จากข้อมูลขนาดใหญ่ คนรุ่นเก่าอาจกังวลกับเทคโนโลยีที่จะมาแทนที่ แต่คนรุ่นใหม่คิดว่าเทคโนโลยีเป็นพาหนะที่จะพาฉันไปได้เร็วและไกล

แน่นอนไม่ใช่ทุกคน ไม่ใช่ทุกที่ และไม่เป็นจริงเสียทุกเรื่อง เพราะเดี่ยวนี้มีคนรุ่นเก่าที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีได้ดี ในขณะที่มีคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนทันสมัย แต่ไม่สามารถแยกแยะความจริงและความเท็จในสังคมออนไลน์ได้ สุดท้ายจึงอยู่ที่คุณภาพของคน

อย่ามัวแต่รอให้ใครมาส่งเสริมเรา แต่เราต้องส่งเสริมตัวเอง และจงอย่ารอดูว่าองค์กรจะพัฒนาไปทางไหน แต่จงพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน ไม่ให้เป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องร่วมกัน