“สตาร์อัพ” กับวัฏจักรชีวิตธุรกิจ

“สตาร์อัพ” กับวัฏจักรชีวิตธุรกิจ

แม้ว่าแนวคิดของการเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่ในสไตล์ของสตาร์อัพดูจะแตกต่างไปจากการสร้างธุรกิจใหม่ในสไตล์ของผู้ประกอบการทั่วไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายสุดท้ายที่จะแสดงความสำเร็จตามเป้าหมายของการสร้างธุรกิจ

ในขณะที่สตาร์อัพหวังที่จะหาวิธีการ “ออกจาก” ธุรกิจ หรือ Exist เพื่อต้องการผลตอบแทนก้อนใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจที่ผู้ประกอบการผู้บุกเบิกสร้างธุรกิจต้องการเห็นความเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจที่จะแสดงถึงความยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้น จึงมีข้อสังเกตว่า ลักษณะและพฤติกรรมของธุรกิจสตาร์อัพที่ประสบความสำเร็จนั้น มีวิถีของการเติบโตที่เป็นไปตามแนวคิดดั้งเดิมของทฤษฎี วงจรชีวิตธุรกิจ ที่ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานหรือไม่

วิชาการบริหารธุรกิจ มักจะสอนไว้ว่า วงจรชีวิตหรือวัฏจักรชีวิตของธุรกิจ จะแบ่งเป็น 5 ช่วง คือ ช่วงเริ่มต้น ช่วงเติบโต ช่วงขยายตัว ช่วงอยู่ตัว และช่วงถดถอย

และหากผู้บริหารธุรกิจปล่อยให้การเติบโตของธุรกิจเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่คิดพัฒนาหรือปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ธุรกิจเข้าสู่การอิ่มตัวของยอดขายและเริ่มที่จะเห็นสัญญาณของการถดถอย

สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างความแปลกใหม่เพื่อการตอบรับของตลาดและผู้บริโภคจำเป็นที่ธุรกิจสตาร์อัพ จะต้องผ่านวัฏจักรธุรกิจดังกล่าวหรือไม่

ในบริบทของสตาร์ทอัพ ธุรกิจมักจะเริ่มจากการเกิดไอเดียและมองเห็นโอกาสทางการตลาดที่จะสามารถนำไอเดียแปลกใหม่ไฮเทคมาเสริมช่องว่างที่ขาดหายไปแต่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอยากได้หรือกำลังใฝ่ฝันหา ซึ่งความจริงแล้วในแง่ของวงจรชีวิตธุรกิจ ชั้นตอนนี้ของสตาร์ทอัพ อาจจะยังไม่นับว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจได้

ช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพ จะเริ่มจากจุดที่เจ้าของไอเดียธุรกิจตัดสินใจที่จะทำให้ไอเดียธุรกิจของตนเองเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาและเริ่มลงมือทำงานอย่างจริงจัง และเรียกตัวเองว่าเป็น ฟาวน์เดอร์” (Founder) หรือผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจ

ในช่วงนี้ ฟาวน์เดอร์ของธุรกิจ จะเริ่มต้นสะสมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอต่อตลาด ปรึกษาหารือผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ หาความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งผลที่ได้จากการลงมือทำในช่วงเริ่มต้นนี้ก็คือ ฟาวน์เดอร์ จะสามารถประเมินศักยภาพและข้อด้อยของไอเดียที่คิดไว้ และคิดหาวิธีการที่จะอุดรูรั่วหรือรอยโหว่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาด และในด้านการแสวงหาแหล่งเงินทุน

จนในที่สุด ฟาวน์เดอร์ จะสามารถปรับแต่งแนวคิดและโมเดลธุรกิจจนลงตัว พร้อมที่จะไปนำเสนอแนวคิดธุรกิจในโอกาสต่างๆ เพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของไอเดีย สตาร์ทอัพบางคน อาจเข้าร่วมการประกวดต่างๆ เพื่อที่จะได้เงินรางวัลมาสนับสนุนธุรกิจในขั้นตอนต่อไป

ช่วงชีวิตต่อมาของธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นช่วงที่ฟาวน์เดอร์เริ่มเปิดเผยตัวตนของธุรกิจออกสู่ตลาดในฐานะที่เป็นธุรกิจเริ่มใหม่ มีการติดต่อเพื่อหาลูกค้ารายแรกให้ได้ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการบริการให้ตอบโจทย์ของตลาดได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างทีมงาน ซึ่งอาจรวมถึง “เจ้าของร่วม” (Co-founder) มาเพื่อร่วมผลักดันการสร้างธุรกิจ

ในช่วงนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนไอเดียตั้งต้นไปบ้างเล็กน้อย หรือไอเดียอาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อได้สัมผัสสภาพตลาดที่แท้จริง เป็นช่วงของการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้ธุรกิจได้รับการยอมรับในตลาด

ช่วงต่อไป คือช่วงเติบโตและขยายตัว ธุรกิจสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง มีลูกค้าใหม่เกิดขึ้น และเริ่มมีกำไรจากธุรกิจ ทำให้เจ้าของธุรกิจหรือ ฟาวน์เดอร์ เห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อยอด มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นจนเกิดความต้องการที่จะบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญก็คือ อาจเกิดคู่แข่งที่มาทำให้กวนใจได้

ซึ่งจะนำธุรกิจเข้าสู่ช่วงของการขยายตัว เช่น การขยายตัวไปสู่พื้นที่ใหม่ การสร้างตลาดใหม่ ซึ่งจะพิสูจน์ได้ว่า แนวคิดไอเดียธุรกิจ สามารถเติบโตได้ สามารถนำไปขยายผลต่อในพื้นที่ต่างๆ ได้ และสามารถทำกำไรได้

เมื่อถึงวัฏจักรช่วงนี้ เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ เริ่มที่จะคิด ออกจาก” (Exit) ธุรกิจที่สร้างขึ้นเพื่อทำกำไรก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขายกิจการให้ผู้อื่น หรือการนำกิจการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์มีเจ้าของเป็นมหาชน และนำกำไรที่ได้มาพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ อาจพึงพอใจกับการขยายตัวและการเติบโตอย่างมั่นคงของธุรกิจ และคิดที่จะรักษาธุรกิจนั้นไว้ เปลี่ยนจากความคิดของผู้ประกอบการสตาร์อัพ มาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่มุ่งรักษาความเป็นเจ้าของธุรกิจไว้เพื่อส่งมอบต่อให้ทายาทต่อไป

เนื่องจากช่วงวัฏจักรชีวิตของธุรกิจสตาร์ทอัพ มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และใช้เวลาในการสิ้นสุดวัฏจักรรวดเร็วกว่าธุรกิจทั่วไปตามปกติ ความผิดพลาดต่างๆ ในแต่ละช่วงชีวิต อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงขึ้นกับธุรกิจได้แบบไม่มีเวลาให้ทันแก้ไขได้

จนเป็นสถิติที่เชื่อกันว่า มีธุรกิจสตาร์อัพไม่ถึง 25% ที่จะมีโอกาสฉลองครบรอบ 5 ปี ของการทำธุรกิจ