“สองคำถามซีจีประเทศไทย”

“สองคำถามซีจีประเทศไทย”

อาทิตย์ที่แล้ว สถาบันไอโอดีจัดงานสัมมนาร่วมกับหอการค้าต่างประเทศ 7 แห่งในหัวข้อ “กำกับดูแลกิจการดี ธุรกิจดี ความก้าวหน้าประเทศไทย”

 ซึ่งผมได้ให้ความเห็นเรื่องวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการของภาคธุรกิจไทย โดยพูดในลักษณะการตอบคำถาม 2 ข้อที่ถูกถามบ่อยเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทในประเทศไทย วันนี้ก็เลยอยากจะนำความเห็นที่ผมได้ให้ไปมาแชร์ให้ผู้อ่าน เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ทราบ

เป็นที่ยอมรับว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 การกำกับดูแลกิจการในภาคธุรกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีมาตลอด สะท้อนความพยายามของหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น หน่วยงานกำกับดูแล บริษัทจดทะเบียน และผู้ร่วมตลาดที่จะพัฒนาปรับปรุงนโยบายและการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งมีความก้าวหน้าที่น่าพอใจ สังเกตจากคะแนนซีจีของบริษัทจดทะเบียนไทยในรายงานการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน ที่สถาบันไอโอดีทำการสำรวจเป็นรายปี คะแนนล่าสุดปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 80 จากคะแนนเต็มร้อย เพิ่มขึ้นจากคะแนน 50 เมื่อปี 2543 และในระดับภูมิภาค บริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2558 ได้คะแนนซีจีสูงสุดในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศในโครงการ ASEAN CG Scorecard เป็นความสำเร็จที่น่าพอใจและเป็นที่ยอมรับ

แต่ตรงกันข้าม การกำกับดูแลกิจการในระดับประเทศยังมีปัญหามาก จากข่าวการทุจริตคอร์รัปชัน ข่าวความบกพร่องด้านธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชน แม้จะเป็นบริษัทระดับชั้นนำ ที่ปรากฏอยู่เสมอ ที่สำคัญ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศเทียบกับสากลอยู่ในระดับที่รุนแรง ล่าสุดอันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ ได้คะแนน 37 จากร้อย สิ่งเหล่านี้สวนทางกับคะแนนซีจีของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ดูดีขึ้นต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ คำถามที่ผมถูกถามบ่อยเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการของบริษัทไทยก็คือ 1. การเปลี่ยนแปลงด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้นเกิดขึ้นได้อย่างไร จะต่อเนื่องหรือเป็นเรื่องชั่วคราว 2. การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทำให้วัฒนธรรมด้านการกำกับดูแลกิจการ (CG Culture) ของภาคธุรกิจดีขึ้นด้วยหรือไม่ และอะไรเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

วันนี้จึงอยากแชร์คำตอบที่ผมให้ไปทั้ง 2 คำถาม เพื่อเป็นแนวที่อาจนำไปใช้เพื่อช่วยกันตอบ

ต่อคำถามแรก ผมคิดว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การกำกับดูแลกิจการของภาคเอกชนมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายมิติ 1. โฟกัสของการกำกับดูแลกิจการเริ่มเปลี่ยนไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากเดิมที่ให้ความสำคัญแต่เฉพาะผู้ถือหุ้น 2. บริษัทเริ่มมีการปฏิบัติตามนโยบายซีจีจริงจังมากขึ้น เทียบกับแต่ก่อนที่เน้นการมีนโยบายแต่การปฏิบัติจริงยังไม่แน่นอน 3. ระบบนิเวศด้านการกำกับดูแลกิจการของประเทศเข้มแข็งขึ้นมาก สะท้อนบทบาทผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแล บริษัทเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

หน่วยงานกำกับดูแลด้านซีจีของประเทศจริงจังขึ้น ทั้งในเรื่องการเอาผิดกับผู้กระทำความผิด (enforcement) การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน และการออกแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการตามมาตรฐานสากลให้ภาคธุรกิจนำไปปฏิบัติ สะท้อนความสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลให้กับการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อรักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของตลาดทุนของประเทศ และป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้น

นักลงทุนเองก็ตระหนักในความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และผลที่จะมีต่อการเติบโตของบริษัทและผลตอบแทนในการลงทุน รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการลงทุน ที่ผ่านมา เราจึงเห็นนักลงทุนในประเทศ ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน พร้อมให้ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงถอนการลงทุน เมื่อเกิดกรณีที่มีการทำผิดด้านธรรมาภิบาลโดยกรรมการบริษัทหรือผู้บริหารระดับสูง

สำหรับบริษัทเอกชนก็ไม่ได้มองการกำกับดูแลกิจการว่าเป็นต้นทุนหรือสร้างข้อจำกัดให้กับการทำธุรกิจ แต่มองเป็นการสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับบริษัทที่สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลัง เราจึงเห็นคณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อผลและประโยชน์ที่การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะมีต่อธุรกิจ และพร้อมที่จะผลักดันการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นจริงจังในการทำธุรกิจของบริษัท

ท้ายสุด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็เข้มแข็ง พร้อมที่จะแสดงความเห็นและแสดงพลัง เมื่อมีการกระทำผิดด้านธรรมาภิบาลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้สอบบัญชี ผู้ปฏิบัติงานตามวิชาชีพ ภาคประชาสังคม และองค์กรด้านการกำกับดูแลกิจการอย่างสถาบันไอโอดี

ในความเห็นของผม บทบาทและความจริงจังในการทำหน้าที่จากทุกฝ่ายที่กล่าวนี้ ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างระบบนิเวศด้านการกำกับดูแลกิจการของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น นำไปสู่บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หนักแน่น จริงจัง สะท้อนความต้องการของทุกๆ ฝ่ายที่อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เป็นพลังที่จะเติบโตต่อไป โดยเฉพาะถ้าได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างถูกต้อง

สำหรับคำถามที่ 2 ผมคิดว่าปัจจุบัน เราเห็นพัฒนาการหลายด้านที่แสดงว่าวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการของภาคเอกชนกำลังเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในแง่แนวคิด ความตระหนักรู้ และความพร้อมที่จะทำตามแนวปฏิบัติที่ดีของการกำกับดูแลกิจการ ตัวอย่างเช่น

ในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียน ตัวเลขล่าสุดปี 2017 ชี้ว่า การจัดโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง 88% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีการแยกตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ชัดเจนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 39% มีกรรมการอิสระเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท 13% มีกรรมการอิสระมากกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนกรรมการทั้งหมด 51% มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คนเป็นสุภาพสตรี และสัดส่วนของกรรมการสุภาพสตรีในกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทยอยู่ที่ 19%

อีกมิติที่สะท้อนความจริงจังในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทในประเทศและวัฒนธรรมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้นก็คือ การสมัครเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตของบริษัทเอกชน (โครงการ CAC) เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจสะอาด ไม่รับไม่จ่ายสินบนหรือทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ ที่ความสนใจเข้าร่วมโครงการมีต่อเนื่อง 

ล่าสุด 894 บริษัทสมัครใจเข้าร่วมโครงการ เป็นบริษัทจดทะเบียน 421 บริษัท บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 473 บริษัท และในจำนวนนี้ มี 314 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากโครงการ CAC ว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ถือเป็นความตั้งใจของบริษัทที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ แสดงชัดเจนว่าวัฒนธรรมด้านการกำกับดูแลกิจการในภาคเอกชนได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

ในความเห็นของกรรมการ กรรมการส่วนใหญ่ก็มองว่าวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการในภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดย 78% ของกรรมการที่สถาบันไอโอดีสำรวจความคิดเห็นประเด็นนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ให้ความเห็นว่าวัฒนธรรมด้านการกำกับดูแลกิจการมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ 15% มองว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง และ 7% มองว่าแย่ลง 

และที่มองว่าดีขึ้นก็มองว่าปัจจัยหลักที่ทำให้วัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการดีขึ้นมาจากบทบาทของคณะกรรมการบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี และพร้อมผลักดันการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นจริง แสดงถึงความสำคัญของบทบาทคณะกรรมการบริษัทในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการให้เกิดขึ้นในบริษัท

นี่คือคำตอบของผมต่อ 2 คำถามที่ถูกถามบ่อย

แต่ที่เราต้องยอมรับก็คือ แม้การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจะมีให้เห็นมากขึ้น แต่ความท้าทายเรื่องธรรมาภิบาลของประเทศเรายังมีอีกมาก มีประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก โดยเฉพาะ ธรรมาภิบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่มีคำถามมาก เช่น ทำไมธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการในภาครัฐของเราจึงแย่ และมีหนทางใดบ้างที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งผมคงมีโอกาสที่จะแชร์คำตอบของผมในคำถามนี้ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบในโอกาสต่อๆ ไป