เมื่อ กมธ. สาธารณสุข ปะทะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อ กมธ. สาธารณสุข ปะทะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

คณะกรรมาธิการสาธารณสุขยกกองทัพ ประชุมที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ที่ศูนย์ราชการฯถึงถิ่น ขับรถจากบ้านรามอินทรา กม.2 ไม่กี่นาที

ถึงศูนย์ราชการฯ แต่วนหาที่จอดรถที่ศูนย์ราชการฯนี่ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง กว่าจะไปถึงห้องประชุมก็เริ่มประชุมแล้ว ทั้งๆ ที่น่าจะถึงก่อนเวลาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง รปภ.ของศูนย์ราชการ อาคาร B นี่ ไม่ค่อยรู้เรื่องซ้ำ ชี้ให้ไปผิดที่ผิดทาง เลยต้องวนอยู่หลายรอบ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่แจ้งมาว่า ทาง สปสช.จัดที่จอดรถไว้ให้ ไม่รู้ให้ใครบริหารอาคารนี้

หลักๆ วันนี้เป็นการรับฟังแผนการดำเนินงานของ สปสช.ในปีงบประมาณ 2560-2561 ที่เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.2560 ถึงสิ้นก.ย.2561 และจะใช้โอกาสนี้ซักถามในเรื่องต่างๆ

สปสช. นำโดยท่านเลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้อำนวยการ ในฐานะผู้บริหารระดับสูง บางคนก็เป็นที่รู้จักเพราะเคยเชิญมาชี้แจงต่อ กมธ.สาธารณสุข ที่รัฐสภา หลายครั้งแล้ว

สปสช.ได้นำเสนอความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าการช่วยให้ประชาชนไม่ตกเป็นผู้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ไม่ตกเป็นผู้ยากจนจากการรักษา การให้บริการเพิ่มขึ้น ความพึงพอใจของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ตอกย้ำว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการลงทุนที่ดี ทำให้เกิดการกระจายรายได้ถึงประชาชนผู้ยากไร้ การประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ และสุดท้ายก็เป็นความสำเร็จที่เกิดจากบุคคลากรด้านสุขภาพ ความเข้มแข็งของการแพทย์ปฐมภูมิ และความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ

สำหรับเรื่องแผนงบประมาณรายจ่ายนั้น ก็เป็นการนำเสนอรายละเอียดของงบกองทุน ปัจจัยที่ทำให้งบเพิ่มขึ้น ประเภทและขอบเขตบริการที่เพิ่มใหม่ และจบด้วยการแก้ปัญหา ไม่ว่าการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การจัดหายาเวชภัณฑ์ ความพอเพียงของงบประมาณ การบูรณการผู้พิการ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ การจัดองค์กร การสื่อสารสาธารณะ และความท้าทายของหลายๆ เรื่องไม่ว่าการเข้าถึงบริการของกลุ่มย่อย กฎหมาย การปฏิรูประบบสาธารณสุข เทคโนโลยี และความคาดหวังต่อคุณภาพบริการพร้อมกับเน้นย้ำคำนิยมของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยสามารถให้หลักประกันสุขภาพได้ถ้วนหน้า และถือเป็นโมเดลที่บางประเทศต้องการศึกษา

กรรมาธิการทุกคนที่ไปร่วมประชุมตั้งคำถามที่หลากหลายครอบคลุมในเกือบทุกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่ขาดแคลน การขาดบุคคลากรทางการแพทย์ ประชาชนยังไม่พอใจการให้บริการของหน่วยบริการ การร่วมจ่าย รวมถึงรายละเอียดในโรคบางโรคที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง

สำหรับตัวเอง ได้เตรียมคำถามเกือบ 10 คำถาม ทั้งเตรียมมาจากบ้านและจากการฟังคำชี้แจงของ สปสช. แต่ท่านประธานขอร้องให้สั้นๆ ก็เลยเลือกถามใน 6-7 เรื่องที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับประชาชน

  1. เรื่องสภาวะความแออัดยัดเยียดของโรงพยาบาลจะแก้ไขได้อย่างไร
  2. ระบบเหมาจ่ายรายหัวที่คำนวณจาก 48 ล้านคนที่นอกเหนือผู้ประกันตนในประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ไม่สะท้อนความเป็นจริงเพราะมีคนใช้บริการประมาณ 20 ล้าน อีก 28 ล้านไม่ได้ใช้ แต่เอามาคำนวณค่ารายหัวด้วย
  3. จากตัวเลขสถิติ จำนวนการใช้บริการที่หน่วยบริการเพิ่มสูงขึ้นตลอด แสดงว่าระบบสร้างเสริมสุขภาพก่อนการเจ็บป่วยยังมีปัญหา จึงน่าจะให้ความสนใจเรื่องสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น
  4. จะทำอย่างไรให้ รพ.สต. ไม่ต้องผูกติดกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ไม่สามารถมีงบประมาณของตัวเองเพราะเมื่อโรงพยาบาลแม่ข่ายมีปัญหาเรื่องขาดทุน ก็ส่งผลกระทบถึง รพ.สต. ด้วย

5.เรื่องการเยียวยาที่ยังไม่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน สำหรับคณะกรรมการพิจารณาค่าชดเชยเบื้องต้นประจำจังหวัด การพิจารณาชดเชยเบื้องต้นโดยพิจารณาจากฐานะและความเดือดร้อนสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับเงินเยียวยา

  1. เรื่องปัญหาการทำแท้งสปสช. มีแนวทางในเชิงป้องกันอย่างไร เพราะการทำแท้งเป็นปลายทาง

ที่จริงยังอยากถามอีก 2 เรื่องคือจะทำอย่างไรให้สภาวะการขาดทุนของโรงพยาบาลลดน้อยลง และโครงสร้างของคณะกรรมการ สปสช. แต่เห็นว่าค่อนข้างใช้เวลาไม่น้อย ถ้าให้ชี้แจงทั้งหมด จึงงดถาม 2 คำถามสุดท้าย

ท่านเลขาธิการ สปสช. ให้เกียรติตอบชี้แจงด้วยตัวเอง แต่แนวทางการแก้ไขนั้นยังไม่ชัดเจนทั้งหมด และบางข้อเช่นข้อ 1 และ 2 เรื่องความแออัดยัดเยียดของผู้ใช้บริการ และระบบเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้ชี้แจง ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นก็มีการพิจารณาหรืออยู่ในระหว่างพิจารณา เช่นเรื่องงบประมาณที่จะส่งลง รพ.สต.โดยตรง และมาตรฐานการชดเชยเบื้องต้นที่กำลังศึกษาออกคู่มือเพื่อให้การพิจารณาอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทุกคณะกรรมการจังหวัด ส่วนปัญหาเรื่องทำแท้งนั้นก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับภูมิภาค​

เรื่องที่อยากถามมากที่สุดแต่ไม่ได้ถาม คืออยากถามว่าคณะผู้บริหาร สปสช.รู้สึกอย่างไรกับโครงสร้างคณะกรรมการ สปสช. ที่จำนวนกรรมการจากฝ่ายผู้รับบริการกับผู้ให้บริการมีความเหลื่อมล้ำกัน และกรรมการฝ่ายผู้รับบริการที่ไม่น่ามีคุณสมบัติที่จะอยู่ในบอร์ดใหญ่ ในฐานะคนทำงานที่เป็นระดับแพทย์ผู้ใหญ่มาก่อน แต่ก็คิดว่าเรื่องนี้คงจะเป็นประเด็นอ่อนไหวไม่น้อย จึงได้หยุดถามไว้เพียงเท่านั้น

เรื่องของคณะกรรมการที่ตั้งจากบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัตินั้น นอกจากจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การเข้ามาเป็นกรรมการที่รู้ว่างบประมาณขององค์กรจะถูกนำไปใช้ที่ไหน หรือมากไปกว่านั้นคือการผลักดันให้เกิดโครงการที่องค์กรหรือกลุ่มคนที่ตนเป็นตัวแทนได้ประโยชน์ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชันทางนโยบายอย่างหนึ่งด้วย

เรื่องของคณะกรรมการ คุณสมบัติของกรรมการ จึงมีความสำคัญกับนโยบายขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเรื่องความไม่เสมอภาคและเท่าเทียมกันระหว่างฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับหรือใช้บริการในคณะกรรมการ สปสช. นั้น ก็คงต้องหยิบยกมามาพูดกันอีกจนกว่าความเสมอภาคและความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นจริง