“ย้อนมองตลาด...ก่อนวางกลยุทธ์ลงทุนในไตรมาส 2”

“ย้อนมองตลาด...ก่อนวางกลยุทธ์ลงทุนในไตรมาส 2”

“ย้อนมองตลาด...ก่อนวางกลยุทธ์ลงทุนในไตรมาส 2”

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ผ่านไปอย่างรวดเร็วนะคะ สำหรับไตรมาส 1 ปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก สะท้อนจากดัชนีความกลัวความเสี่ยงของนักลงทุน (VIX Index) ที่เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน โดย VIX Index ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 37.32 จุด ในระหว่างไตรมาส และปรับลดลงมาแตะที่ระดับ 20 จุด ณ สิ้นไตรมาส ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก มาจาก 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน ได้แก่ การปรับลดภาษีของสหรัฐฯ ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และประเด็นการออกนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ

ในเดือนม.ค. ตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน หลังแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% มาอยู่ที่ 21% ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2018 ทำให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการของบจ.สหรัฐฯ และราคาน้ำมัน WTI ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% จากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ในเดือนก.พ. ตลาดหุ้นหลักๆ ทั่วโลก ต่างปรับฐานลง เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ Bond Yield อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี หลังค่าจ้างแรงงานต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี ส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มโอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในปีนี้มากกว่า 3 ครั้ง มากขึ้น ประกอบกับ Valuation ของตลาดหุ้นทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับประเด็นนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่ออกมาในช่วงต้นเดือนมี.ค. ได้เป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง โดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี เพื่อใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% แม้ว่าในภายหลังสหรัฐฯ ได้ยกเว้นภาษีดังกล่าวชั่วคราวให้แก่ แคนาดา เม็กซิโก ยุโรป ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา บราซิล และเกาหลีใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์มีแผนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่อัตรา 25% มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. โดยสินค้าที่อาจถูกเสนอให้เก็บภาษี ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอากาศยาน IT และสื่อสาร รวมทั้งพิจารณาออกมาตรการควบคุมการลงทุนจากจีนภายใน 60 วัน โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนตามนโยบาย Made in China 2025 โดยในเบื้องต้นทางการจีนได้ออกมาตอบโต้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ โดยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 128 รายการ มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

การวางกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2 ปี 2018 นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยดิฉันมองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ซึ่งความผันผวนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน โดยประเด็นที่จะสร้างความผันผวนให้กับสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่

  • การกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยในเบื้องต้น แผนการจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน ค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก มูลค่าดังกล่าว คิดเป็นเพียง 2.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ และคิดเป็นเพียง 2% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน ขณะที่หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จะพบว่า เศรษฐกิจทั่วโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นำโดยสหรัฐฯ จากผลของการปฏิรูปภาษี ซึ่งมีการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% อยู่ที่ 21% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. และการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเติบโตตามอัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2018 มีแนวโน้มขยายตัว 2.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่ขยายตัว 2.3% นอกจากนี้ ผลประกอบการของบจ.ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ปี 2018 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยมีแผนปฏิรูปภาษีเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เปิดเผยรายชื่อสินค้านำเข้าจากจีนที่จะถูกเรียกเก็บภาษี จำนวน 1,333 รายการ มูลค่ารวม 5 หมื่นล้าน ดอลลาร์ สรอ. ในอัตราภาษี 25% รวมทั้ง USTR อาจเปิดเผยรายละเอียดแผนจำกัดการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง สินค้าพลังงานทดแทน สินค้าด้านสุขภาพสมัยใหม่ และชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น เร็วกว่าที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ ซึ่งจีนอาจออกมาตรการเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ เพิ่มเติม เช่น การจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในวงเงินที่เท่ากัน และจำกัดการลงทุนของสหรัฐฯ ในจีน เป็นต้น
  • ธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก ต่างส่งสัญญาณดึงสภาพคล่องออกจากระบบ เช่น Fed ที่เริ่มทยอยลดขนาดงบดุลด้วยการเริ่มจากการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (reinvest) ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน (MBS) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนพ.ค. 2018
  • ความไม่แน่นอนของนโยบายด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของปธน.ทรัมป์
  • ความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลาง ระหว่างซาอุดิอาราเบียและอิหร่าน

ดิฉันมองว่า ความเสี่ยงประเด็นต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น จะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกต่อเนื่องจากไตรมาส 1 สู่ไตรมาส 2 ของปีนี้ ดังนั้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับฐานลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจึงไม่ควรรีบร้อนในการเข้าซื้อหุ้น และควรใช้ความระมัดระวังในการเข้าลงทุน เนื่องจากประเด็นเรื่องการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน และอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ