Non-Cash Collateral บริการใหม่ใช้หุ้นวางมาร์จิ้น

Non-Cash Collateral บริการใหม่ใช้หุ้นวางมาร์จิ้น

Non-Cash Collateral บริการใหม่ใช้หุ้นวางมาร์จิ้น

สำหรับผู้ลงทุนในหุ้น หากพูดถึงมาร์จิ้นจะหมายถึงการกู้ยืมเงินมาซื้อหลักทรัพย์ เช่น ใช้มาร์จิ้น 50% ก็คือมีเงิน 1 แสนบาท กู้เงินมาอีก 1 แสนบาท เพื่อใช้ซื้อหุ้นมูลค่า 2 แสนบาท แต่สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น คำว่ามาร์จิ้นนั้น หมายถึง หลักประกันสำหรับการซื้อขาย ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีการวางหลักประกันสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ก็เนื่องจากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น เป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย (หรือให้สิทธิซื้อ/ขาย) สินค้าอ้างอิงกันในอนาคต ตามราคาและเงื่อนไขที่ตกลงกันล่วงหน้า แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินและส่งมอบสินค้ากันจริงๆ เหมือนกับการซื้อขายในตลาดส่งมอบทันทีที่เรียกว่าตลาด Spot และเนื่องจากราคาล่วงหน้าจะมีความสัมพันธ์กับราคา Spot ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามข่าวสารและภาวะตลาด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะปฎิบัติตามพันธะสัญญา จึงต้องมีการกำหนดให้มีการเรียกมาร์จิ้น หรือหลักประกันจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ทั้งนี้ ระดับของมาร์จิ้นที่ผู้ลงทุนต้องวางไว้เป็นหลักประกันนั้น สำนักหักบัญชีหรือ TCH จะเป็นผู้กำหนดเพื่อให้สามารถรองรับกับความผันผวนของราคา Spot โดยมาร์จิ้นที่ผู้ลงทุนวางไว้เป็นหลักประกันซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะถูกปรับเปลี่ยนให้สะท้อนกำไรขาดทุนทุกๆ สิ้นวันทำการ เรียกว่าการ Mark to Market หากผู้ลงทุนมีผลกำไร ก็จะมีการโอนผลกำไรมารวมกับเงินมาร์จิ้นที่วางไว้ทำให้เงินในพอร์ตโดยรวมสูงขึ้น ในทางกลับกันหากขาดทุนก็จะมีการหักเงินออกจากเงินมาร์จิ้นที่วางไว้ ทำให้เงินในพอร์ตลดลง ซึ่งหากเงินในพอร์ตลดลงถึงระดับหนึ่ง โบรกเกอร์จะเรียกเก็บมาร์จิ้นเพิ่มจากผู้ลงทุน ในปัจจุบัน ผู้ลงทุนในประเทศจะต้องใช้เงินสดในสกุลเงินบาทมาเป็นมาร์จิ้นเท่านั้น ส่วนผู้ลงทุนต่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้วางเงินมาร์จิ้นเป็นเงินบาท หรือ ในสกุลเงินต่างประเทศ (USD, EUR, JPY)

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วผู้ลงทุนมักมีการลงทุนในทรัพย์สินหลากหลายประเภท และใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อสร้างกลยุทธ์การลงทุนต่อยอดจากการลงทุนในทรัพย์สินประเภทอื่นที่ตนเองถือครองอยู่ จึงทำให้ตลาด Exchange หลายแห่งในต่างประเทศ เช่น CME ของประเทศสหรัฐฯ HKEX ของประเทศฮ่องกง หรือ ASX ของประเทศออสเตรเลีย อนุญาตให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ทรัพย์สินประเภทอื่นๆ มาใช้เป็นมาร์จิ้นได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ตลงทุน ดังนั้น TFEX และ TCH จึงได้มีแผนงานที่จะเสนอบริการใหม่ที่เรียกว่า Non-Cash Collateral ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ทรัพย์สินประเภทอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเงินสด ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และหุ้น (โดยในช่วงแรกของการให้บริการ จะจำกัดเฉพาะหุ้นที่เป็นสินค้าอ้างอิงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Single Stock Futures) มาใช้เป็นมาร์จิ้นร่วมกับเงินสดได้ด้วย

การอนุญาตให้เอาทรัพย์สินอื่นๆ มาวางมาร์จิ้น จะช่วยเพิ่มความสะดวกและความคล่องตัวให้แก่ผู้ลงทุนในการบริหาร Margin ของตนเอง รวมถึงช่วยลดต้นทุนบางส่วนของผู้ลงทุนแทนที่จะต้องเตรียมเงินสดมาใช้เป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจะต้องทำความเข้าใจและคำนึงถึงข้อจำกัดบางประการในการใช้ทรัพย์สินอื่นมาวางเป็นมาร์จิ้นด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจากหลักการของการใช้ Non-Cash Collateral นั้น ทรัพย์สินที่ผู้ลงทุนนำมาวางจะถูกทำการ Hair Cut หรือปรับลดมูลค่า เนื่องจากทรัพย์สินที่สามารถนำมาวางเป็นมาร์จิ้นได้ เช่น หุ้น หรือพันธบัตรนั้น จะมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาดเช่นกัน และสินทรัพย์แต่ละชนิดก็มีสภาพคล่องในการเปลี่ยนเป็นเงินสดไม่เท่ากัน  ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าทรัพย์สินในช่วงที่ถูกนำมาใช้เป็นมาร์จิ้น TCH จึงจะทำการลดทอนการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สิน Non-Cash Collateral ที่นำมาเป็นมาร์จิ้นโดยการ Hair Cut เช่น หากผู้ลงทุนนำหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 มาใช้เป็นมาร์จิ้น หุ้นเหล่านั้นจะถูกคำนวณมูลค่าลดลง 17% จากราคาปิดล่าสุด เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะไม่สามารถใช้ Non-Cash Collateral มาเป็นมาร์จิ้นทั้งหมด แต่ยังคงต้องมีเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของมาร์จิ้นเพื่อรองรับการคำนวณผลกำไรขาดทุนรายวัน หรือการ Mark To Market มูลค่าของหลักประกัน เพราะในการชำระราคาในสิ้นวันนั้น ยังจะต้องมีการรับจ่ายเงินส่วนกำไรขาดทุนเป็นเงินสดอยู่ดี ทั้งนี้ TFEX และ TCH จะเริ่มเปิดให้บริการ Non-Cash Collateral ในวันที่ 23 เมษายน 2561 นี้ สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากโบรกเกอร์ที่ท่านใช้