ตะวันตกไม่รบรัสเซีย แต่...

ตะวันตกไม่รบรัสเซีย แต่...

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกมาถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ที่รัสเซียกลิ้งรอดออกมาจากกองฟอนของโซเวียตเมื่อปี 2534

และค่อยๆ ลุกขึ้นกลายเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ดูเหมือนว่าประเทศพันธมิตรของแองโกล-แซกซอนจะไม่ยอมที่รัสเซียเล่นแรง ถึงขนาดส่งมือสังหารมาฆ่าคนตายด้วยก๊าซพิษในบนเกาะอังกฤษ เหตุการณ์คราวนี้ร้ายแรงกว่าการยึดไครเมีย ในเซนส์ที่ว่านี่คือ การปฏิบัติการในใจกลางประเทศพันธมิตร ไม่ใช่ในยุโรปตะวันออกที่ห่างไกล แต่ความขัดแย้งนี้จะจบลงที่สงครามดังที่หลายคนคาดคิด แล้ว ผลที่ตามมาจะเป็นการสิ้นสุดความฝัน Greater Russia ของประธานาธิบดี Vladimir Putin ล่ะหรือ เราน่าจะยังอยู่ห่างไกลจากจุดนั้นพอสมควร

การที่ประธานาธิบดีปูติน เติบโตมาจากสาย KGB หรือ FSB ซึ่งก็คือหน่วยข่าวกรองที่ปฏิบัติหน้าที่หลากหลาย รวมทั้งจารกรรม วินาศกรรม และลอบสังหาร การที่เขาก้าวขึ้นมาใกล้ชิดกับพวกเศรษฐีใหม่ที่แสวงประโยชน์จากสภาวะไร้ขื่อแปในช่วงปลายยุคโซเวียตที่กำลังจะล่มสลาย ทำให้เขารู้ดีว่าใครคือเศรษฐีขี้ฉ้อและใครคือสายลับสองหน้า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปูตินครองอำนาจอยู่ได้ก็คือ ต้องบีบพวกคนรวยและมีอิทธิพลที่หากินแบบเทาๆ เหล่านั้น ให้อยู่ภายใต้อำนาจของปูตินให้ได้ ไม่เช่นนั้นพวกนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อระบอบที่เขาสร้าง วิถีการควบคุมก็ต้องใช้วิถีแบบมาเฟีย ใครแหกคอกก็ต้องพบหายนะ

จึงปรากฏว่ามีการใช้วิถีปิดปากแบบน่าสะพรึงกลัวเล่นงานฝ่ายต่อต้านปูตินอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพวกคู่แข่งทางการเมืองในรัสเซีย เช่น Boris Nemtsov อดีตรองนายกฯ รัสเซีย ที่โดนเป่าขม่อม 4 นัดตายกลางสะพานในกรุงมอสโกเมื่อปี 2558 หรือเศรษฐีร่ำรวยมหาศาลอย่าง Mikhail Khodorkovsky ที่โดนขังลืมเป็นสิบปีและยึดเงินจนหมดตัว ถึงถูกปล่อยออกมาก็น่าเพราะมีการทำข้อตกลงลับกับชาติตะวันตก และในอนาคตก็อาจจะถูกเก็บได้อีก เหมือนกับเศรษฐีอีกหลายคนที่ได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในอังกฤษ และต่อมาก็โดนรัดคอตายลึกลับในบ้านของตนเอง เช่น Boris Berezovsky เมื่อปี 2556 และล่าสุดคือ Nikholai Glushkov เมื่อ มี.ค.ปีนี้เอง

นอกจากเศรษฐีและนักการเมืองที่มีทั้งเงินและอิทธิพล พวกอดีตสายลับที่กำความลับไว้เยอะแยะก็เป็นพวกหนึ่งที่ต้องตาย ฟังดูเหมือนเป็นการฆ่าอย่างไม่จำเป็น แต่นี่เป็นการเตือนคนอื่นว่าอย่าทรยศหักหลัง กระนั้นก็ตาม การตามฆ่าถึงบนแผ่นดินโลกเสรีนั้น มันหยามอังกฤษเกินไป และหากใช้สารพิษ ผู้บริสุทธิ์อาจตายไปด้วย กรณีของการวางยาพิษพันเอก Vladimir Skripal และลูกสาวนั้นไม่ใช่ครั้งแรก กรณีที่โด่งดังมากก็คือการวางยา Alexander Litvinenko เมื่อปี 2549 ลิตวิเนนโกเป็นอดีตสายลับลี้ภัยที่เผยแพร่ข้อมูลประณามระบอบปูตินอย่างต่อเนื่อง เลยโดนวางยาด้วยสารพิษทำลายประสาท ภาพที่เขานอนหัวล้านบนเตียงเวลาใกล้สิ้นใจนั้นน่าสะเทือนใจยิ่ง ทางยุโรปสงสัยว่ารัสเซียยังคงพัฒนาสารทำลายประสาท Novichok และสหภาพยุโรปกำลังกดดันให้รัสเซียเปิดเผยโครงการนี้ แต่รัสเซียแข็งกว่าอิหร่านเยอะ การกดดันรัสเซียจึงเกิดผลยากนัก

นับตั้งแต่ที่รัสเซียแทรกแซงยูเครน จนถึงขั้นยึดครองไครเมียเมื่อปี 2557 ตะวันตกก็ร่วมมือกันกดดันรัสเซียอย่างหนัก ไม่น้อยไปกว่าที่เคยร่วมกันกดดันโซเวียตตอนยึดกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานในปี 2522 ผลก็คือทำให้ค่าเงินรูเบิลร่วง เศรษฐกิจซวดเซ แต่เครมลินก็ยังไม่ยอมแพ้และทุกวันนี้รัสเซียภายใต้ปูตินก็ยังแข็งแกร่งไม่ใช่เล่น  หลังจากการยึดไครเมีย รัสเซียยังสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางยูเครนตะวันออกสู้รบกับรัฐบาลเคียฟ อย่างต่อเนื่อง จารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ทั่วโลก และแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอีก กลุ่มประเทศแอตแลนติกพยายามทำทุกท่าในกรอบของสงครามเย็นแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล กรณีที่เกิดกับ สกริปาล คราวนี้ ดูเหมือนว่าทุกชาติพันธมิตรตะวันตกจะร่วมกันเพิ่มแรงกดดันรัสเซียหนักขึ้นไปอีก นอกเหนือการเรียกทูตกลับและปิดสถานกงสุลจำนวนมาก อาจมีการบอยคอตถึงขั้นงดส่งทีมเข้าร่วมฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพกลางปีนี้ก็ได้ ซึ่งถ้าหลายทีมดังไม่ลงแข่ง แฟนบอลจะกร่อยมาก ไม่ต่างอะไรกับที่อเมริกาและพรรคพวกไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งโอลิมปิคที่มอสโกเมื่อปี 2523 แม้แต่เรื่องการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต หรือการสตาร์ทสงครามตัวแทนในพื้นที่อื่นของโลกอีกก็อาจเกิดขึ้นได้

แต่ถึงจะตึงเครียดขนาดไหน เล่นงานกันลับหลังยังไง สงครามร้อนของแท้ที่รัสเซียรบกับนาโตโดยตรงคงยังไม่มีโอกาสได้เห็น  ในยุคอุดมการณ์โลกเสรี VS โซเวียต ที่ร้อนแรงกว่านี้ ทั้งสองฝ่ายยังสงบจิตใจไม่รบกันเลย แล้วในยุคนี้ที่มีกลไกการป้องปรามความขัดแย้งมากมายหลายบล็อกหลากชั้นกว่าสมัยก่อน จะไม่อาจสกัดกั้นความขัดแย้งด้วยกำลังโดยตรงระหว่างกันได้เชียวหรือ ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษกับรัสเซียคงมีอีกนาน ส่งผลถึงความไม่มั่นคงของเสถียรภาพภูมิภาค แต่หลายฝ่ายอาจได้ประโยชน์จากการนี้  เช่น สหรัฐที่เหินห่างจากยุโรปไปมาก ได้จังหวะกระชับสัมพันธ์มิตรเก่าอีกครั้ง เพื่อช่วยกันต่อต้านอำนาจของรัสเซียและจีน ตามแนวทางยุทธศาสตร์ใหม่ที่เพนตากอนให้ความสำคัญต่อภัยคุกคามที่มาจากเครมลินและปักกิ่งมากกว่ามุสลิมหัวรุนแรง ส่วนรัสเซียก็ยิ่งต้องจับมือจีนเติบโตไปด้วยกัน เป็นขั้วอำนาจที่คานอิทธิพลสหรัฐได้จริงในที่สุด ยุโรปที่กังวลต่อแสนยานุภาพรัสเซียที่จ่อคอหอยอยู่ก็จะร่วมมือกันด้านความมั่นคงมากขึ้น ที่เคยแตกร้าวสะเปะสะปะในเรื่องอื่นก็อาจตกลงในแนวทางเดียวกันได้ไปด้วย ขณะที่อังกฤษที่ต้องออกจากสหภาพยุโรปก็กลับจะใกล้ชิดยุโรปกว่าเดิมจากการนี้ด้วยซ้ำ