ตลาดแรงงาน หรือ สังคมที่สมดุล? คำถามที่มีต่อมหาวิทยาลัย***

ตลาดแรงงาน หรือ สังคมที่สมดุล?  คำถามที่มีต่อมหาวิทยาลัย***

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา รอบๆ ตัวผม เต็มไปด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอนาคตของหน่วยงานที่ผมทำงานอยู่ วาระหนึ่งที่สำคัญคือ

คำถามที่มีต่อการปรับโครงสร้างขององค์กร เพื่อให้สอดรับกับข้อเรียกร้องของรัฐบาลและผู้ประกอบการให้มหาวิทยาลัยเร่งผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวผมคิดว่าเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของการกำหนดท่าทีที่มีต่อ ศาสตร์ ที่หน่วยงานแห่งนี้ ทำหน้าที่สืบทอดและส่งต่อมายาวนานกว่า 50 ปี ดังนั้นในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์และเคยเป็นนักเรียนในสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาก่อน จึงอยากใช้โอกาสครบรอบครึ่งศตวรรษนี้ ในการเสนอข้อสังเกตในประเด็นที่กล่าวมาดังนี้

การเรียกร้องมหาวิทยาลัยรีบเร่งผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานได้สร้างความตื่นตระหนกไม่น้อยกับมหาวิทยาลัย และดูจะเป็นการเน้นให้มหาวิทยาลัยผลิตคนเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ของแรงงาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ เราได้พิจารณาถึงอุปสงค์ที่มีต่อแรงงานอย่างครบถ้วนและรอบด้านแล้วหรือไม่

ตามปกติ เมื่ออุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ราคาสินค้าจะต้องเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยเร่งสร้างอุปทานแรงงานตามที่ตลาดต้องการโดยไม่พิจารณาอุปสงค์ให้รอบคอบ ก็อาจเป็นได้ว่าในเวลาไม่นานอุปทานของแรงงานบางอย่างที่เคยมีราคาแพงก็อาจกลายเป็นของราคาถูก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความรู้และเทคโนโลยีนั้นก้าวไปอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงได้ในแทบทุกวัน การมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้เฉพาะทางในทางลึกมากๆ นั้น อาจทำให้บัณฑิตเหล่านั้นกลายเป็นสินค้าที่ไร้ผู้เหลียวแลในเวลาไม่นาน เพราะอุปสงค์นั้นได้หันเหไปสู่ความรู้และเทคโนโลยีแบบอื่นแล้ว

นอกจากนี้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนั้น โดยทั่วไปก็มิได้มีเจตนามุ่งหวังให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเชี่ยวชาญในทางลึก หากแต่มุ่งสร้างความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในศาสตร์ต่างๆ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดได้ตามที่ตนต้องการ กล่าวคือผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นยังไม่ควรถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หากแต่ความเชี่ยวชาญและความชำนาญเฉพาะทางจะไปเกิดขึ้นเมื่อบัณฑิตคนนั้นๆ ออกไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้น หลายครั้งก็เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานและการอบรมในที่ทำงาน

ในทางเศรษฐศาสตร์แรงงาน การฝึกอบรมในที่ทำงานหรือที่เรียกว่า on the job training นั้น ถือเป็นการลงทุนในทุนมนุษย์แบบหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะจะทำให้แรงงานมีความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะตรงตามความต้องการของหน่วยงาน ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความรู้ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หน่วยงานยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมในที่ทำงาน หรือการเพิ่มพูนความรู้หลังจบการศึกษา (ในระดับปริญญาตรี) มากกว่าที่จะโยนภาระไปให้มหาวิทยาลัยผลิตแรงงานที่สามารถ “ทำงานได้เลย”

ในอีกด้านหนึ่ง การที่ผมได้มีโอกาสทำงานในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ทำให้ผมมองเห็นว่าสิ่งที่จะขับเคลื่อนสังคมโดยรวมให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมีอารยะและมีความเป็นธรรมนั้น ไม่สามารถทำได้โดยใช้ความต้องการของตลาดแรงงานในการชี้นำแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการหรืออีกนัยหนึ่งอุปสงค์ต่อแรงงานนั้นหมายถึง ความต้องการของนายจ้างที่จะซื้อ แรงงานเพื่อนำแรงงานนั้นไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตสินค้าและบริการเพื่อขายในตลาด 

หากแต่ในภาพรวมของสังคมนั้น หลายครั้งเราก็ต้องการคุณค่าอะไรบางอย่างซึ่งอาจเป็นสิ่งไม่มีราคาในตลาด หากแต่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นต่อการสร้างเสริมสังคมให้เจริญก้าวหน้าอย่างมีอารยะและเป็นธรรม ดังนั้นคุณค่าเหล่านั้นอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาด อาจไม่เป็นที่ต้องการของอุปสงค์ของนายจ้าง หากแต่รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ย่อมต้องการพลเมืองที่มีความคิดในเชิงวิพากษ์ มีวิธีคิดที่ยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์และเสพสิ่งต่างๆ อย่างมีสุนทรียะ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกเน้นหนักอยู่ในการเรียนการสอนและการศึกษาในด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ที่กล่าวมานี้ มิได้ต้องการชี้ว่าศาสตร์แบบไหนมีคุณค่ามากกว่ากันหรือสำคัญกว่ากัน หากแต่ศาสตร์แต่ละศาสตร์ล้วนทำหน้าที่ของมัน และผู้ที่เรียนจบมาในแต่ละศาสตร์นั้น เมื่อเข้าสู่โลกของการใช้ชีวิตจริงๆ ก็ย่อมต้องไปสัมพันธ์กับผู้ที่เรียนจบมาในศาสตร์อื่นๆ ในหลากหลายสถานะ ดังนั้นบุคคลจึงสามารถที่จะเรียนรู้และเติมเต็มส่วนที่ตนยังพร่องอยู่มีเพิ่มขึ้น ดังนั้นการพยายามที่จะลดทอนทั้งในเชิงการให้คุณค่าและในเชิงปริมาณของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งลงไป อาจนำไปสู่การไร้ซึ่งสมดุลของสังคมนั้นๆ

ด้วยข้อสังเกตเหล่านี้ ผมจึงอยากให้หน่วยงานของผม มหาวิทยาลัย รัฐบาล รวมไปถึงสังคมในภาพรวมได้ตั้งสติ และค่อยๆ พิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านว่า การศึกษาโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยของไทยจะเดินไปทางไหน มากกว่าที่จะกำหนดกรอบที่อิงกับอุปสงค์แรงงานของภาคเอกชนอย่างเข้มข้นแต่เพียงอย่างเดียว

โดย... ตะวัน วรรณรัตน์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

*** ชื่อเต็มเรื่อง: 

ตลาดแรงงาน หรือ สังคมที่สมดุล? 

คำถามที่มีต่อหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไทย