อาเซียน-ออสเตรเลีย ดุลอำนาจใหม่แห่งเอเชียแปซิฟิก?

อาเซียน-ออสเตรเลีย ดุลอำนาจใหม่แห่งเอเชียแปซิฟิก?

“การประชุมสุดยอดออสเตรเลีย-อาเซียน” ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้น ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค.ที่ผ่านมา

มีวาระการประชุมหลัก ได้แก่ การส่งเสริมความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมือง ในภูมิภาคระหว่างออสเตรเลียและอาเซียน ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการแกะรอยเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ก่อการร้าย และร่วมกันต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงด้วยการแบ่งปันข่าวกรองระหว่างกัน ในขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ออสเตรเลียและอาเซียนตกลงที่จะเพิ่มบทบาท และความสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เพื่อส่งเสริมการค้าเสรี และลดการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ออสเตรเลียยังเดินหน้าสนับสนุนโครงการ “สมาร์ท ซิตี้” ในอาเซียน ด้วยการอนุมัติเงินทุน 30 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย พร้อมจัดตั้งธนาคารให้คำปรึกษาด้านการวางผังเมืองอย่างยั่งยืนอีกด้วย

อย่างไรก็ดีประเด็นที่น่าจับตามองกลับเป็นท่าทีของอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ภายหลังการประชุมสุดยอดดังกล่าวสิ้นสุดลง นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้ออกปากเชิญออสเตรเลียให้มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มตัว เพื่อให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงมากยิ่งขึ้น แนวคิดดังกล่าวยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาควิชาการในออสเตรเลีย โดยเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลียเสนอแนะว่า ออสเตรเลียควรจะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2567 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 5 ทศวรรษของการเป็นประเทศคู่เจรจา และเสนอให้รัฐบาลใช้การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการหารือในประเด็นดังกล่าว

ท่ามกลางพลวัตความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ในเอเชียแปซิฟิกของมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ ประกอบกับความท้าทายจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงข้ามชาติ เช่น การก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลียซึ่งถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจขนาดกลางในภูมิภาค จึงต้องกลับมาพิจารณาถึงบทบาทของตนอีกครั้งว่า จะวางตัวอย่างไรในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจ และจะรับมือกับภัยการก่อการร้ายที่มีลักษณะข้ามชาติ และซับซ้อนมากขึ้นได้อย่างไร

อาเซียน-ออสเตรเลีย ดุลอำนาจใหม่แห่งเอเชียแปซิฟิก?

ที่มาภาพ asean.org

ที่ผ่านมา ออสเตรเลีย ยึดหลักว่าขออยู่ฝ่ายมหาอำนาจอันดับ 1 อย่างสหรัฐ ดังนั้นการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจึงอาจหมายถึงความพยายามในการถอยห่างออกจากฝ่ายสหรัฐ และวางตัวบนจุดยืนแบบอาเซียน หรือมุ่งให้ความสำคัญกับกิจการในภูมิภาคที่ติดกับตนเองมากขึ้น ในส่วนของอาเซียนนั้น การเชื้อเชิญออสเตรเลียเข้าเป็นสมาชิก เป็นความพยายามในการสร้างอำนาจต่อรองของอาเซียน เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐ ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างยาวนาน น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการกระชับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคผ่านกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน อย่างเช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนของออสเตรเลียเอง ก็อาจส่งผลต่อบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติต่างๆ ของอาเซียน เพราะออสเตรเลียมีค่านิยมและวิถีทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การทำงานร่วมกันจึงอาจจะไม่ได้ราบรื่นนัก

ไม่ว่าความพยายามของอินโดนีเซียและสิงคโปร์จะสำเร็จหรือไม่ ก็อาจมองได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากแรงกดดันในบริบทความมั่นคงระหว่างประเทศของสหรัฐฯและจีน ที่กำลังเผชิญหน้ากันจนส่งผลให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 2 ต้องหาทางออกเพื่อเพิ่มอำนาจถ่วงดุลต่อรองระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาเซียนเองอาจจะเชิญนิวซีแลนด์มาเข้าร่วมประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของอินโดนีเซียและสิงคโปร์อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จในเร็ววัน เนื่องจากสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการเชื้อเชิญออสเตรเลียให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน จึงยังเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าออสเตรเลียและสมาชิกอาเซียนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป 

การเพิ่มสมาชิกที่มีความแตกต่างทางค่านิยมและแนวปฏิบัติมาสู่อาเซียน ไม่ได้มีเฉพาะข้อดี แต่อาจนำมาซึ่งปัญหาในการทำงานขององค์การในอนาคต ด้วยขนาดพื้นที่ประชาคมใหม่ที่จะกว้างใหญ่กว่าเดิม ครอบคลุมประชากรมากขึ้น และขยายออกไปยังเอเชียแปซิฟิก ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกต่อไป ย่อมสร้างความท้าทายให้แก่ประชาคมอาเซียนไม่มากก็น้อย

โดย... 

ชัชฎา กำลังแพทย์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการจับตาอาเซียน (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.