เมื่อ 'อูเบอร์' ถูก 'ดิสรัป'

เมื่อ 'อูเบอร์' ถูก 'ดิสรัป'

แกร็บ กำลังจะเป็นผู้ผูกขาดตลาดบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร(Ride Hailing) ในประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวการที่ แกร็บ ซื้อกิจการของ อูเบอร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นข่าวใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมไอที โดยการขายกิจการในครั้งนี้ จะเป็นการแลกกับการที่ อูเบอร์ จะถือหุ้นใน แกร็บ โดยคาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 27.5% ซึ่ง อูเบอร์ ในประเทศไทยจะยุติการให้บริการในวันที่ 18 เมษายน 2561 เป็นต้นไป และบริการอื่น เช่น อูเบอร์อีสท์ ก็จะยุติการให้บริการในเดือนพฤษภาคมเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามตัวโตกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะมีผลกระทบอะไรกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยบ้าง อย่างแรกเลยผู้ใช้บริการ อูเบอร์ ต้องเริ่มเปลี่ยนมาใช้บริการ แกร็บ รวมไปถึงผู้ที่ขับรถให้ อูเบอร์ ต้องเปลี่ยนมาลงทะเบียนและสมัครเข้าร่วมกับแกร็บ ถ้าไม่นับ ออล ไทย แท็กซี่ , ไลน์ แท็กซี่ , และ แท็กซี่ โอเค ที่ยังไม่สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้นั้น แกร็บ กำลังจะเป็นผู้ผูกขาดตลาด ride hailing ในประเทศไทย

คำถามคือ เมื่อตลาดเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงรายเดียว การตั้งราคา การควบคุมการให้บริการนั้นจะเป็นเช่นไร ในเมื่อการควบคุมจากภาครัฐในธุรกิจ ride hailing ยังไม่ครอบคลุม ปัจจุบันนี้ราคาปกติของ แกร็บคาร์ ค่าบริการเริ่มต้น 60 บาท และคิด 5 บาทต่อ 1 กิโลเมตร แต่ถ้าเป็นอัตราค่าบริการในชั่วโมงเร่งด่วนนั้น ทาง แกร็บ เองไม่เคยชี้แจงว่ามีวิธีคิดราคาเช่นไร

นอกจากนี้ส่วนลดต่าง ๆ ที่ แกร็บ เคยออกมาเพื่อช่วงชิงลูกค้ากับ อูเบอร์ นั้นคงจะลดลง จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้ใช้บริการกำลังจะเสียเปรียบ และ แกร็บ กำลังจะผูกขาดตลาด นอกจากนี้ยังไม่นับรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งนิยมใช้บริการ อูเบอร์ ก็ต้องมาใช้บริการ แกร็บ

คำถามคือ แอพพลิเคชั่น ของ แกร็บ นั้น มีให้ดาวน์โหลดในออนไลน์ สโตร์ ทั้งระบบ ไอโอเอส และ แอนดรอยด์ ในหลาย ๆ ประเทศนอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ เหมือนที่ อูเบอร์ มีให้ดาวน์โหลด และจะสื่อสารอย่างไรให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจากภูมิภาคอื่น รู้จักและใช้บริการแกร็บ

ในโลกการแข่งขันเสรีนั้น การเกิดการแข่งขัน จะทำให้ผู้บริโภคได้เปรียบ จะเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลายธนาคารได้ออกโปรโมชั่น ฟรีค่าธรรมเนียม ให้แก่ผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ทั้งๆ ที่ธนาคารนั้นคิดค่าธรรมเนียมเหล่านี้มาหลายสิบปี

สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการแข่งขันย่อมทำให้ผู้บริโภคได้เปรียบ แม้แต่ในโลกดิจิทัลเองก็ตาม คงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องหันมาดูแลธุรกิจ ride hailing อย่างจริงจังและจริงใจ