โลกร้อนแผลงฤทธิ์ ภูมิอากาศผิดเพี้ยน

โลกร้อนแผลงฤทธิ์ ภูมิอากาศผิดเพี้ยน

แม้กว่าหนึ่งทศวรรษ นานาประเทศจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องจากผลของภาวะโลกร้อน

 ด้วยการให้กำเนิดพิธีสารเกียวโตเรื่อยมาจนถึงความตกลงปารีส หากแต่สภาพภูมิอากาศทุกวันนี้กลับมีความวิปริตผิดเพี้ยน จนก่อให้เกิดภัยพิบัติที่หลากหลาย โถมเข้าสร้างความเสียหายอย่างไม่หยุดหย่อนในหลายพื้นที่ทั่วโลก

โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization; WMO) ก็เคยออกมาเตือนแล้วว่า ในช่วงปี 2560-2561 จะมีประชากรโลกราว 27 ล้านคนได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ที่เห็นชัดแบบใกล้ตัวคือ การเกิดพายุฝนตกกระหน่ำลงมาในหลายจังหวัดของประเทศไทยเมื่อวันที่ 6-9 มี.ค.ที่ผ่านมา จนส่งผลให้สภาพอากาศเย็นลงในวันถัดมา ทั้งๆ ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนแล้ว

สำหรับในภูมิภาคส่วนอื่นของโลกนั้น ก็จะเห็นว่าเพียงเฉพาะช่วงเดือน ม.ค.ของปีนี้  3 รัฐใหญ่ของออสเตรเลียก็ได้เผชิญกับคลื่นความร้อนที่เข้าแผ่ปกคลุม จนทำให้นครซิดนีย์มีสภาพอากาศร้อนจัดที่สุดในรอบ 79 ปี เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยในวันที่ 7 ม.ค. พุ่งสูงถึง 47.3 องศาเซลเซียส และยังส่งผลให้เกิดไฟป่าลุกไหม้ตามมาในหลายพื้นที่ทั่วรัฐวิกตอเรีย

ขณะที่ทางภาคตะวันออกสหรัฐ กลับต้องผจญกับความหนาวเหน็บฉับพลันในสัปดาห์แรกของปี เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วจนติดลบ จากอิทธิพลของพายุฤดูหนาวกำลังแรง หรือ “ระเบิดสภาพอากาศ” (bomb cyclone) ที่ถล่มเข้ามาอย่างหนัก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะทำให้นิวยอร์กและอีกหลายรัฐ ต้องประสบกับภาวะหนาวจัดและหิมะตกหนักอย่างสาหัสแล้ว ยังส่งผลให้รัฐฟลอริดาซึ่งปกติมีสภาพอากาศอันอบอุ่น ต้องประสบกับภาวะหิมะตกลงมาเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี

นอกจากนั้น ที่ทะเลทรายซาฮาราก็เจอกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง จนเกิดหิมะตกลงมาอย่างหนักเมื่อ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นความแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 40 ปี สำหรับดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าร้อนแล้งสุดๆ ของโลก

เมื่อย้อนมายังเหตุ ที่ทำให้สภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนไปทั่วโลกนั้น ข้อมูลจากรายงานการประเมินฉบับที่ 4 (Fourth Assessment Report; AR4) ที่ออกมาเผยแพร่โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change; IPCC) เมื่อปี 2550 ก็ได้ยืนยันชัดเจนว่า สาเหตุเกิดจากดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรม ที่เข้ามาเพิ่มพูนปริมาณก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศจนเกินระดับความพอดี กระทั่งส่งผลอันตรายให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ แล้วเกิดเป็นภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้สภาพภูมิอากาศโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้

ชนวนเหตุสำคัญ ที่ทำให้ชั้นบรรยากาศมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกตัวการหลักเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ก็มาจากการวางโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานบนเชื้อเพลิงฟอสซิล

โลกร้อนแผลงฤทธิ์ ภูมิอากาศผิดเพี้ยน

การระดมเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานมาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจและสังคม นับตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกผลิตสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีค่าความเข้มข้นเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 400.83 ppm ในปี 2558 อันเป็นระดับที่ไม่เคยพบมาก่อนในรอบ 3 ล้านปี และถึงระดับ 406.53 ppmแล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าสูงมากกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 45%

สถานการณ์การเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แสดงให้เห็นว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนยังมีไม่มากพอ เนื่องจากหลายประเทศยังคงมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มกำลังการผลิต จากการผลาญพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกันอย่างมหาศาล

ที่น่ากังวล คือ หากปริมาณการสะสมตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อไป ความเสี่ยงที่อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาฯ อันถือเป็นจุดพลิกผันที่นำมาสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศก็จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น (ความตกลงปารีสตั้งเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบจากระดับก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม)

หากเป็นเช่นนั้นจริง ภาวะโลกร้อนก็จะขยายขนาดความรุนแรง ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง เพราะแผ่นดินมากกว่า 1 ใน 4 ของโลกจะมีความแห้งแล้งมากขึ้น ปัญหาไม่ว่าจะเป็นไฟป่า การขาดแคลนน้ำ ความอดอยากขาดอาหาร การอพยพลี้ภัย ก็จะปรากฏตามมาอย่างเป็นลูกโซ่ และระบบนิเวศของโลกก็อาจเสื่อมถอยลงจนถึงขั้นเสียสมดุลได้

ที่หนักไปกว่านั้นคือ หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นต่อไปถึง 4 องศาฯ สถานการณ์ก็จะเลวร้ายสุดขั้ว เพราะโลกจะมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับยุคเพอร์เมียนคือเมื่อ 250 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้นมีพืชและสัตว์ต่างๆ สูญพันธุ์ไปถึง 95 %

ดังนั้นจึงจำเป็นยิ่ง ที่ทุกประเทศจะต้องร่วมด้วยช่วยกันปฏิบัติตามความตกลงปารีสให้ได้ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดีว่า ขณะนี้หลายประเทศได้แสดงความกระตือรือร้นออกมาเคลื่อนไหว ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกันมากขึ้นแล้ว

ในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งสหภาพยุโรป (กลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นอย่างมาก) และสหรัฐ (ประเทศมหาอำนาจซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน) ก็ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยกว่าปี 2559 โดยคิดเป็นปริมาณ 0.6% เท่ากัน

ส่วนประเทศจีนก็ประกาศเจตนารมย์จะเร่งลงทุนและปฏิรูปการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งขณะนี้จีนได้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้วหลายแห่ง และสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่สุดของโลกขึ้นมาใช้งานแล้วเมื่อในปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยเรานั้น จากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานทดแทนจะดำเนินไปในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ถึงตรงนี้ก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไปว่า ความพยายามที่จะเปลี่ยนเส้นทางให้เครื่องจักรชนิดต่างๆ เดินหน้าการผลิตด้วยระบบพลังงานหมุนเวียน แทนที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งอุดมด้วยคาร์บอนนั้น จะเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้สภาพภูมิอากาศที่กำลังผิดเพี้ยน ไม่แปรเปลี่ยนเป็นวิกฤตภูมิอากาศได้หรือไม่ แล้วทุกชีวิตจะมีโอกาสรอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร....อันนี้ต้องติดตาม

 

โดย... 

ผศ.มนนภา เทพสุด

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

[email protected]