รัฐ-เอกชน ร่วมตรวจสอบย้อนกลับ แหล่งปลูกข้าวโพดบนความยั่งยืน

รัฐ-เอกชน ร่วมตรวจสอบย้อนกลับ แหล่งปลูกข้าวโพดบนความยั่งยืน

มื่อใกล้ถึงฤดูกาลปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มักจะตามมาด้วยความกังวลเกี่ยวกับหมอกควัน เพราะวิธีการเตรียมพื้นที่ปลูกในบริเวณที่สูง

ส่วนใหญ่จะใช้วิธี เผา ด้วยเหตุผลของการประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา หรือหาแรงงานทำการไถพื้นที่เอียงตามไหล่เขาไม่ได้ สุดแล้วแต่เหตุผลของแต่ละคนที่จะหยิบยกมาอ้างกัน

แม้จะไม่ใช่สาเหตุเดียวของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การปลูกข้าวโพดเป็นจำเลยสำคัญรายหนึ่งของปัญหานี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่หมอกควันแต่ยังพบว่า หลายพื้นที่เป็นการปลูกในพื้นที่รุกป่า เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และด้วยความที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร จึงมีข้อต่อของห่วงโซ่ค่อนข้างยาว และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าการแก้ปัญหานั้นไม่ง่ายและต้องใช้เวลา

เมื่อความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น จึงนำไปสู่ความพยายามในการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งลดการรุกป่าและลดการก่อมลพิษจากหมอกควัน ขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องจากคู่ค้าผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย ที่ต้องการเห็นมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารของเรา โดยเขาพร้อมที่จะแบนอาหารไทยหากพบว่ามีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับกรณี IUU ในสินค้าประมง

ด้วยเหตุผลทั้งหลาย ประเทศไทยจำเป็นต้องพร้อมรับแนวโน้มของโลกในประเด็นนี้ กลุ่มโรงงานอาหารสัตว์จึงแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนที่จะไม่รับซื้อข้าวโพดในพื้นที่รุกป่า เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และพยายามช่วยหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาในองค์รวม

แม้จะมีเจตจำนงที่ดี แต่หากภาครัฐไม่มีระบบการตรวจสอบวัตถุดิบข้าวโพดอาหารสัตว์มาสนับสนุนอย่างเหมาะสม คงไม่เกิดผลใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น เมื่อพ่อค้าพืชไร่นำข้าวโพดมาขายให้โรงงาน A แล้วแสดงเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลง ก. ยืนยันว่าข้าวโพดล็อตนี้ปลูกในที่ดินแปลง ก. ต่อมาพ่อค้านำข้าวโพดที่ปลูกบนพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ไปขายให้โรงงาน B แล้วแสดงโฉนดที่ดินแปลง ก.ฉบับเดิมให้แก่โรงงาน B โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าข้าวโพดล็อตไหนถูกต้อง หรือมันคือข้าวโพดที่ไม่ถูกต้องทั้ง 2 ล็อต

เมื่อข้าวโพดรุกป่าถูกสวมสิทธิ์ว่าเป็นข้าวโพดที่ปลูกบนพื้นที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดข้อเสียตามมามากมาย โดยเฉพาะประเด็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่จะยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อราคาข้าวโพดสูงเป็นประวัติการณ์ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหามลพิษด้านหมอกควัน

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเองได้เสนอให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งเดินหน้าจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการออกใบรับรองการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับที่กรมประมงออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำไทยอย่างเร่งด่วนที่สุด เพื่อป้องกันการกีดกันการค้าของประเทศในสหภาพยุโรปที่กำลังจะมาถึง ตลอดจนเพื่อสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิตอาหารของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงความยั่งยืนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เข้าสู่ระบบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP (Good Agricultural Practices) เทียบเท่าสากล เพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จากจำนวนพื้นที่ปลูกที่จะลดลง ลดผลกระทบด้านปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยมีการคาดการณ์กันว่าควรเพิ่มพื้นที่ผลิตข้าวโพดที่ได้ GAP จากไม่กี่ไร่ให้เป็น 2 ล้านไร่ ภายใน 5 ปีให้ได้

ทั้งนี้ ในมุมมองของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย มองกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ยังเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาระบบ GAP และระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มาของวัตถุดิบเพื่อตรวจสอบที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสถานการณ์ซื้อ-ขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่นั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลกลางให้ภาคธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ต้องโดนใครหลอกขายข้าวโพดรุกป่าอีก

ขณะเดียวกัน ในด้านกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ได้สร้างระบบบริการข้อมูลผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (CORN DOAE) ขึ้นที่เว็บไซต์ http://corn.doae.go.th เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการซื้อขายกับผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ของ กสก. ระบบดังกล่าวเน้นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลการผลิตและรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ระหว่างเกษตรกรและผู้รับซื้อผ่านฐานข้อมูลของ กสก. เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ถึงระดับพื้นที่ และแก้ปัญหาการส่งออกเนื้อสัตว์อันเป็นผลจากการไม่ผ่านมาตรฐาน GAP ในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

โดยเชิญชวนกลุ่มผู้ที่ต้องการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร ผ่านระบบบริการข้อมูลผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (CORN DOAE) ลงทะเบียนเป็นผู้รับซื้อมายัง กสก.เพื่อขอรหัสผ่านสำหรับการลงทะเบียนต่อไป พร้อมเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรอบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/61 เร่งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยแจ้งการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในระบบ ทบก. โดยเร็ว ระบบ ทบก.นี้จะส่งต่อข้อมูลการปลูกไปยังระบบ CORN DOAE โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ซื้อทราบเวลาเก็บเกี่ยวและปริมาณผลผลิต ซึ่งผู้ซื้อจะติดต่อขอรับซื้อจากเกษตรกรได้ทันที และปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แจ้งปรับปรุงทะเบียนในระบบ ทบก.แล้วกว่า 200,000 ครัวเรือน

เมื่อภาคเอกชนมีเจตจำนงที่ดี และภาครัฐเดินหน้าเต็มที่แบบนี้ ความสำเร็จก็รออยู่ข้างหน้า วันที่ระบบทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ จะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล ไทยเราจะมีแต่ข้าวโพดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงกับปัญหากีดกันทางการค้า ตลอดจนลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งการรุกป่าและปริมาณหมอกควันบนพื้นที่สูงจะต้องลดลง ได้ประโยชน์ตั้งหลายอย่างแบบนี้ ประชาชนตาดำๆ ก็สบายใจครับ

โดย... ดำรง พงษ์ธรรม