นอกเหนือจากเทคโนโลยี

นอกเหนือจากเทคโนโลยี

บทหนักตกอยู่ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ต้องปรับตัวและเร่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะดิจิทัล

ภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งที่ยังต้องจับตามองอยู่เสมอ เพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งจะส่งถึงประเทศอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และอาจสร้างผลสะท้อนกลับที่รุนแรงกว่าที่คาดคิด ซึ่งแมคคินซีสรุปผลจากที่ประชุม World Economic Forum ไว้อย่างน่าสนใจ

อันดับแรกคือ ความตื่นตัวจากการนโยบาย Tax Reform ของประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งการลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% เหลือ 21% นั้นส่งผลให้ธุรกิจขยายตัวได้มากขึ้นและไม่จำกัดเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแต่ยังครอบคลุมถึงหลายๆ ไปเทศด้วย ส่วนอันดับถัดมาคือความไม่แน่นอนของทรัมป์ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบได้โดยไม่คาดคิด

ต่อกันในอันดับที่ 3 คือโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะเฟซบุ๊คที่ปรับบทบาทการทำหน้าที่สื่อ จากที่เน้นเนื้อหาเชิงข่าวแต่กลับควบคุมไม่ได้จนมีข่าวปลอม ข่าวหลอก ข้อมูลรั่วไหล รวมถึงข่าวโจมตีผู้อื่นจนเกิดเป็นกรณีอื้อฉาวมากมายหลายครั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุดที่เชื่อได้ว่ามีการปล่อยข่าวโจมตีผู้สมัครจากพรรคของฝั่งหนึ่ง จากพรรคอีกฝั่ง

เฟซบุ๊คจึงเปลี่ยนทิศทางการนำเสนอข่าวสารจากเพื่อนฝูงและกลุ่มญาติสนิทของผู้ใช้เป็นหลัก การใช้งานจึงมุ่งเน้นข่าวสารจากครอบครัวไม่ใช่ข่าวจากสำนักข่าวอิสระที่ไม่มีความรับผิดชอบจนส่งผลกระทบกับทั้งธุรกิจและการเมือง

อันดับที่ 4 คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะเห็นผลพวงของความก้าวหน้าได้จากหลายๆ อุตสาหกรรม เช่นการเงินการธนาคาร ซึ่งประเมินกันว่างานหลายๆ อย่างเช่นการวิเคราะห์ข้อมูล การพิจารณาสินเชื่อสามารถใช้ระบบอันทันสมัยเหล่านี้ทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้หมดแล้ว

เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ก่อให้ตำแหน่งงานใหม่ๆ จำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็จะพบว่ามีตำแหน่งงานอีกมากที่จะถูกคอมพิวเตอร์เข้ามาทำหน้าที่แทนซึ่งประเมินกันว่าจะมีคนได้รับผลกระทบถึง 800 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2030

บทหนักจึงตกอยู่ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ต้องปรับตัวและเร่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะเหล่านี้ ซึ่งต้องใช้วิชาใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีการเรียนการสอนมาก่อน แต่เป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจในอนาคตต้องใช้จึงต้องวางแผนนับตั้งแต่วันนี้

อันดับที่ 5 คือช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ยังคงมีระยะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ประเมินกันว่ามีมหาเศรษฐีที่มีจำนวนเพียง 1% ของประชากรโลกถือครองทรัพย์สินรวมกันถึง 80% ของทั้งโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าคนอีก 99% ที่เหลือต้องแก่งแย่งชิงทรัพยากรของโลกที่มีโอกาสให้เขาเพียง 20% เท่านั้น

หากไม่มีการแก้ไขสถานการณ์สังคมในทุกวันนี้ก็จะเอื้อให้คนรวยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรส่วนใหญ่สะสมความมั่งคงได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบ ในขณะที่คนยากจนก็จะยิ่งขาดโอกาสและต้องประสบกับภาวะจนซ้ำซากไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลย

ข้อสุดท้ายคือ บทบาทของจีนในการเป็นโรงงานของโลกนั้นจะไม่มีใครสามารถทำตามได้อีก เพราะในอดีตก่อนที่ฐานการผลิตจะถูกย้ายมาสู่จีนนั้นแต่ละประเทศล้วนใช้ “แรงงานถูก” เป็นปัจจัยหลักในการดึงดูดนักลงทุนให้มาสร้างโรงงานในประเทศของตน

แต่ในทุกวันนี้แรงงานถูกไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดอีกต่อไป เพราะค่าจ้างแรงงานของจีนในวันนี้ก็ไม่ได้ถูกกว่าประเทศอื่นๆ เลยแต่ตัวแปรสำคัญอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างหุ่นยนต์ในสายพานการผลิตที่มีความแม่นยำสูง และคงคุณภาพของสินค้าได้แทบจะ 100% ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการการผลิตเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของจีนจนยากที่จะมีประเทศอื่นตามได้ทัน

ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์โลกที่จำเป็นต้องเรียนรู้และต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า จะมีเรื่องใดบ้างที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อตัวเราหรือต่อธุรกิจของเราในอนาคต