ชีวิตคือ ‘การถูกสุ่ม’​​

ชีวิตคือ ‘การถูกสุ่ม’​​

ยิ่งเห็นชีวิตมากขึ้นก็ยิ่งเห็นความไม่แน่นอน บางคนเสียชีวิตง่ายดายอย่างไม่คาดฝัน ทั้งที่ร่างกายแข็งแรง บางคนร่างกายอ่อนแอแต่มีชีวิตยืนยาว

การไม่สามารถพยากรณ์ชะตากรรมตนเองได้เป็นที่ทราบกันมานานจนต้องใช้วิธี “ปลงชีวิต” เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อมีชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขและสงบตามสมควร

ผู้เขียนได้พบหนังสือเล่มหนึ่งนานมาแล้ว ในนั้นมีประโยคที่ถูกใจคือ “life is random” (ชีวิตคือการถูกสุ่มยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งเห็นพ้องและท่องประโยคนี้อยู่บ่อยๆ เมื่อพานพบสิ่งที่ไม่คาดฝัน

randomness หรือการเกิดขึ้นของเหตุการณ์หนึ่งอย่างไม่มีแบบแผน หรือไม่สามารถพยากรณ์ได้ คู่กับมนุษยชาติ เมื่อไม่สามารถอธิบายการเกิดอย่าง “เดาสุ่ม” ของมันได้ มนุษย์ก็พยายามหาคำอธิบาย บ้างก็ว่าเพราะพระเจ้ากำหนดให้เป็นเช่นนั้น บ้างก็บอกว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ตามมา และบ่อยครั้งก็ไม่สามารถอธิบายได้เลย

ในข้อเขียนวันนี้จะไม่พาดพิงถึงหลักวิชาการทางสถิติ จะพูดถึงแต่เหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวมนุษย์เท่านั้น แต่กระนั้นก็ตามก็หลีกหนีวิชาสถิติไปไม่พ้น

ถ้าหญิงชายคู่หนึ่งมีอายุเท่ากัน มีการดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกันมามากมายตลอดชีวิต แต่ผู้ชายเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในวัยกลาง 40 ปี เหตุการณ์อย่างนี้ถึงจะเป็น “การถูกสุ่ม” ให้ไปสวรรค์แต่อายุยังไม่มาก แต่ก็พอเข้าใจได้ เพราะพันธุกรรมของเพศหญิงในวัยนี้ทำให้ยังไม่เป็นโรคหัวใจ

อย่างไรก็ดี ถ้าเดินทางด้วยรถยนต์ไปด้วยกันโดยนั่งข้างหลังและรัดเข็มขัดนิรภัย ผู้หญิงประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตแต่ผู้ชายรอดอย่างนี้เรียกได้ว่า “ชีวิตคือการถูกสุ่ม" เนื่องจากเกิดขึ้นอย่างไร้แบบแผนจนไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

อีกกรณีหนึ่งที่ชายตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดชนิดเลว (LDL) สูง ความดันโลหิตสูง โอกาสที่จะเป็นโรคNCD (Non-Communicable Diseases ซึ่งหมายถึงกลุ่มโรคซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ) ในอนาคตมีสูง ดังนั้น หากเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้พอเรียกได้ว่าชีวิตไม่ ”ถูกสุ่ม” เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์นี้อยู่แล้ว

มองในเรื่องที่เป็นมงคล การที่คนหนึ่งเกิดมาโชคดี มีพ่อแม่ดูแลอุปถัมภ์ ได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิตอยู่เสมอ ซึ่งตรงข้ามกับอีกคน อย่างนี้ก็เรียกได้ว่า “ชีวิตคือการถูกสุ่ม” ตอนที่อสุจิของพ่ออันเป็นสาเหตุแห่งการเกิดของตนนั้นฝ่าฟันต่อสู้แข่งขันกับพี่น้องอีก 250-280 ล้านตัว เพื่อปฏิสนธิกับไข่ของแม่หนึ่งฟองนั้น ตัวเราเองก็ไม่รู้เรื่อง และเลือกเกิดไม่ได้ เมื่อผลมันออกมาไม่ว่าจะหัวหรือก้อยก็เป็นเรื่องการ “ถูกสุ่ม” โดยใครก็ไม่รู้ (Warren Buffett มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกเรียกลูกเขาว่าเป็นสมาชิกของ Lucky Sperms Club)

มีผู้คนไม่น้อยในโลกเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับตนเอง ทั้งที่เป็นคนดีอยู่ในศีลในสัตย์ก็ตัดพ้อว่า “โลกไม่เป็นธรรม” คนเหล่านี้อาจลืมไปว่า “life is random” เสมอ และการถูกสุ่มหรือ randomness นั้น ไม่มีคำว่าปราณี ไม่มีความทรงจำ ไม่มีเหตุมีผล ไม่มีตรรกะ ฯลฯ มันเกิดของมันอย่างไม่มีแบบแผนและอย่างคาดคะเนไม่ได้

บางคนอาจเถียงว่าการเจ็บป่วยและ/หรือเสียชีวิตด้วยโรคนั้น มีที่มาจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิต หรือการติดเชื้อ หรือการผิดพลาดของการรักษา ฯลฯ ซึ่งก็มีส่วนจริง แต่อย่าลืมว่าบ่อยครั้งที่แพทย์เองก็อธิบายไม่ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ ดังนั้นจึงไปลงที่ randomness อยู่บ่อยๆ

การผ่าตัดธรรมดาๆ ที่ไม่ซับซ้อนก็อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ ความเป็นไปได้นั้นถึงจะมีอยู่ต่ำ แต่มันก็เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะ randomness นั้น มันทำงานอย่างไม่หลับไม่นอน

Murphy’s Law ซึ่งบอกว่า If anything can go wrong, it will go wrong. (ถ้าจะมีอะไรที่สามารถผิดพลาดได้มันจะเกิดขึ้นนั้นทำงานเสมอ กฎข้อนี้โดยแท้จริงแล้วบอกว่า randomness มีอยู่ทุกแห่งหนและในทุกโอกาส จะสามารถเอาชนะมันได้เกือบทุกครั้งก็ด้วยการใช้ความรอบคอบเท่านั้น

ผู้เขียนมีเพื่อนคนหนึ่งที่มีคาถาประจำใจว่า “อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด” ซึ่งตรงกับ “whatever will be, will be” ซึ่งหมายความถึงว่าเราไม่รู้อนาคต อะไรจะเกิดมันก็จะเกิด คาถานี้ทำให้สามารถยอมรับสิ่งเป็นลบที่เกิดขึ้นในชีวิตได้เป็นอย่างดี งานนี้อีกเช่นกันที่ randomness เป็นตัวละครสำคัญ

ถ้ามนุษย์เราเข้าใจธรรมชาติของ randomness ว่ามันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (คนทุกคนจะไม่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีจำนวนหนึ่งที่ “ถูกสุ่ม” ให้เป็น ถ้าดูแลสุขภาพตัวเองดี โอกาส “ถูกสุ่ม” อาจมีน้อยลงบ้าง แต่ก็อาจหนีมันไม่ได้ก็เป็นได้) ความรู้ทางการแพทย์ก็ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมดว่าเหตุใดคนบางคนจึงโชคร้าย

สิ่งที่เรียกว่า known unknowns นั้น คือรู้ว่าไม่รู้อะไร เช่น ไม่รู้ว่ายีนตัวใดอย่างชัดเจน หรือสิ่งใด หรือสารเคมีใดที่ทำให้มนุษย์มีอายุยืน รู้ว่าไม่มียาตัวเดียวที่รักษาทุกโรคมะเร็ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ unknown unknowns กล่าวคือไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร (มีคนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้ กล่าวคือนึกว่าตนเองรู้ไปหมด ซึ่งโดยแท้จริงแล้วไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไรอีกมาก สำหรับบางคนนั้นรู้ทุกอย่าง ที่ไม่รู้อย่างเดียวก็คือไม่รู้จักตนเอง)

นักวิทยาศาสตร์ชอบที่จะจัดการ known unknowns เพื่อทำให้มนุษย์มีความรู้มากขึ้นและเอาสรรพสิ่งมารับใช้มนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แต่ไม่ชอบจัดการกับ unknown unknowns เพราะเป็นเรื่องยากกว่ามากที่จะรู้ว่าเราไม่รู้อะไร ตัวอย่างเช่นอาจมีสภาวะจิตใจลักษณะหนึ่งที่เอาชนะความเจ็บไข้ได้ทั้งหมดก็เป็นได้ แต่เราไม่รู้ว่าสภาวะจิตใจที่ว่านี้คืออะไร และการเอาชนะความเจ็บไข้นี้หมายความอย่างไร ปัญหาพื้นฐานก็คือถ้าเราไม่รู้ว่ามันมีตัวตนอยู่หรือไม่ เราก็ไม่รู้จะหามันได้อย่างไร ดังเช่นคนล้มป่วยลงด้วยโรคอะไรก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้สาเหตุก็ไม่สามารถรักษาได้

ลักษณะของ unknown unknowns เช่นนี้แหละที่ทำให้เราไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับชีวิตเรา ดังนั้น randomness จึงมีบทบาทในใจของเรามากยิ่งขึ้น เพราะเราไม่รู้จะโทษใคร เนื่องจากเราเต็มไปด้วยความไม่รู้

การยอมรับว่า “ชีวิตคือการถูกสุ่ม” ทำให้จิตใจเราสงบขึ้น แต่ก็ไม่ควรยอมรับให้มันกำหนดชะตาชีวิตของเราไปเสียทั้งหมด ในขอบเขตหนึ่งเราต้องกำหนดเองให้ได้ ส่วนที่เหลือนั้นก็ต้องยอมให้ “ถูกสุ่ม” อย่างหน้าชื่นตาบาน