นวัตกรรมหรือประสิทธิภาพ?

นวัตกรรมหรือประสิทธิภาพ?

ในยุคที่นวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นและเฟื่องฟูเช่นในปัจจุบัน ผู้บริหารจำนวนมากต่างมุ่งเน้นหรืออยากจะเห็นองค์กรของตนเองเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม

แต่ก็เริ่มมีกระแสอีกกระแสหนึ่งว่าการมุ่งเน้นแต่เรื่องของนวัตกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการมุ่งไปข้างหน้า เน้นในสิ่งใหม่ๆ และเรื่องของอนาคต แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการในสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสิ่งเดิมๆ ที่องค์กรทำอยู่ จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่?

ในทางวิชาการนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่า องค์กรควรจะมุ่งเน้นในการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ (Exploration) หรือควรจะมุ่งเน้นในการปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน (Exploitation) สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า องค์กรที่ดีนั้นควรมุ่งเน้นทั้งเรื่องของนวัตกรรมและประสิทธิภาพ หรือที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า Ambidextrous Organization

คำว่า Ambidextrous นั้นในอีกความหมายหนึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถใช้ทั้งมือซ้ายและมือขวาได้อย่างพอๆ กัน พอมาใช้ในด้านการบริหารจัดการ ก็หมายถึงองค์กรที่เน้นในทั้งสองด้าน นั่นคือด้าน exploration ที่เน้นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ความยืดหยุ่น ความกล้าที่จะเสี่ยง และความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสิ่งที่จะทำในอนาคต ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งคือด้าน exploitation ที่เน้นในด้านประสิทธิภาพ การดำเนินงาน และสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

องค์กรที่เน้นแต่การแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เป็นหลัก ก็มีความเสี่ยงของการทำสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งเสี่ยงในด้านของการเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว โดยไม่เน้นในการทำให้สิ่งที่มีอยู่ มีการพัฒนาและปรับปรุง แต่ขณะเดียวกันองค์กรที่เน้นในเรื่องของประสิทธิภาพและสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันเป็นหลัก ก็จะมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

จริงๆ เรื่องของ Ambidexterity ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงวิชาการ ในระยะหลัง จะเริ่มเห็นความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารของสถาบันชื่อดังทั้งในอเมริกาและยุโรป ต่างมีหัวข้อในเรื่องของ Ambidexterity เข้ามามากขึ้น ทั้งในการออกแบบองค์กรให้เป็น Ambidextrous Organization ที่สามารถมุ่งเน้นสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในระยะสั้นกับการเติบโตในระยะยาว หรือเรื่องของ Ambidextrous CEO ที่จะต้องมุ่งเน้นทั้งเรื่องการเติบโตและความมั่นคงในธุรกิจหลัก (Core business) กับการแสวงหาโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจใหม่ๆ

มีงานวิจัยที่ออกมารองรับว่าองค์กรที่ใช้กลยุทธ์แบบ Ambidexterity นั้นจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยองค์กรที่มีความสมดุลระหว่างนวัตกรรมและประสิทธิภาพจะมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของรายได้ ขณะที่ถ้าไม่มีความสมดุลระหว่างทั้งสองด้าน จะส่งผลในเชิงลบต่อการเติบโตของรายได้

บทเรียนเรื่องของ Ambidexterity นั้นเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ผู้บริหารจะต้องบริหารองค์กรด้วยความสมดุล หรือการเดินสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา จริงอยู่ที่นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเติบโตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเช่นในปัจจุบัน แต่ผู้บริหารก็ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตในธุรกิจใหม่ กับการรักษาเสถียรภาพและเติบโตในธุรกิจเดิม หรือการกล้าที่จะเสี่ยง มีความยืดหยุ่นในการบริหาร กับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เป็นต้น

ความยากไม่ได้อยู่ที่เรื่องของหลักการ แต่อยู่ที่การจะสร้างองค์กรให้มีลักษณะที่สามารถมุ่งเน้นในทั้งสองด้านพร้อมๆ กันได้อย่างไร? ทั้งเรื่องของโครงสร้าง เรื่องของการจัดสรรทรัพยากร เรื่องของระบบบริหารงานบุคคล หรือเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร อีกทั้งความท้าทายยังอยู่ที่ตัวผู้นำที่จะสามารถที่จะมุ่งเน้นทั้งการให้ความสำคัญกับสิ่งที่องค์กรดำเนินอยู่ในปัจจุบัน กับโอกาสในการเติบโตต่อไปในอนาคต

สรุปคือนวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ ในอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็นที่องค์กรจะต้องมุ่งเน้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอย่าลืมที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เป็นพื้นฐาน และเป็นรากเหง้าขององค์กร ที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพและมีการดำเนินงานที่ดีด้วย