ความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ กับความใส่ใจของผู้ให้บริการ

ความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ กับความใส่ใจของผู้ให้บริการ

สิ่งที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้งหลายควรตระหนักและใส่ใจคือทำอย่างไรเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด

แน่นอนว่าผู้ใช้หลายคนเมื่อก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์จะทราบดีว่าความเป็นส่วนตัวของคุณเริ่มหายไปแล้ว แต่สิ่งที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั้งหลายควรตระหนักและใส่ใจคือทำอย่างไรเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด

อย่างกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านคงหนีไม่พ้น เหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลของ “เฟซบุ๊ค” กว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งที่จริงแล้วเริ่มมาจากเมื่อปี 2556 ดร.อเล็กซานเดอร์ โคแกน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พัฒนาแอพพลิเคชั่นทายบุคลิกภาพที่ชื่อว่า thisisyourdigitallife และกลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมและมียอดดาวด์โหลดไปถึง 2.7 แสนคนทั่วโลก 

แต่ไม่จบเท่านั้นเพราะแอพพลิเคชั่นนี้ได้ขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ดาวน์โหลดรวมไปถึงเพื่อนในเฟซบุ๊คของผู้ดาวน์โหลดรวมถึง 50 ล้านคน และข้อมูลทั้งหมดถูกส่งต่อไปยัง สถาบันวิเคราะห์ข้อมูลแคมบริดจ์เพื่อการเลือกตั้ง (Cambridge Analytica) 

เมื่อเฟซบุ๊คทราบเรื่องได้สั่งแบนและให้ทางสถาบันวิเคราะห์ข้อมูลแคมบริดจ์ลบข้อมูลทั้งหมด แต่สุดท้ายแล้วไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องทั้งหมดแดงขึ้นอีกครั้งเมื่อได้รับรายงานว่าทางสถาบันวิเคราะห์ข้อมูลแคมบริดจ์นำข้อมูลลูกค้าทั้ง 50 ล้านคนไปหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว โดยมีกระแสว่าเบื้องหลังความสำเร็จในการเลือกตั้งของโดนัลล์ ทรัมป์ และการโหวตตัวเองของสหราชอาณาจักรออกจากเบร็กซิส

แม้ว่าเฟซบุ๊คจะเริ่มกังวล จึงเพิ่มนโยบายความเป็นส่วนตัวป้องกันไม่ให้แอพพลิเคชั่นที่ไม่เหมาะสมเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ และนักพัฒนาต้องได้รับอนุญาตก่อนขอข้อมูลผู้ใช้ และล่าสุดคือการแบนโคแกน แคมบริดจ์ และผู้เกี่ยวข้องออกจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊คทั้งหมด แต่เฟซบุ๊คได้สูญเสียครั้งใหญ่ไปแล้วนั่นคือความเชื่อใจของผู้ใช้งาน เห็นได้จากเกิดกระแสบอยคอตการใช้งาน เช่น #DeleteFacebook และตกย้ำกระแสบอยคอตเมื่อ อีลอน มัค (Elon Musk) นักธุรกิจชื่อดังและผู้มีอิทธิพลในวงการไอทีและนวัตกรรม จัดการลบบัญชีเฟซบุ๊คทั้งบัญชีส่วนตัว และแฟนเพจของเทสล่า และสเปซเอ็กซ์

บทเรียนครั้งนี้ทำให้เฟซบุ๊คต้องใส่ใจผู้ใช้มากขึ้น โดยล่าสุดมีประกาศปรับปรุงหน้าการตั้งค่าให้เหลือหน้าเดียวพร้อมเพิ่มเมนูลัดความเป็นส่วนตัวเข้าไป รวมไปถึงการจัดการสิทธ์การเข้าถึงข้อมูล การดาวน์โหลด หรือลบข้อมูลที่แชร์บนเฟซบุ๊ครวมไปถึงการยกเลิกโครงการโครงการข้อมูลเพื่อการซื้อโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย(Data Broker) 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ใช่ตัวอย่างหรือบทเรียนเดียวสำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างการขายข้อมูล Logins ของจีเมล หรือข่าวการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้ของดร็อปบอกซ์ที่ถูกขโมยไปถึง 68 ล้านบัญชี

เหตุการณ์เหล่านี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจของผู้ให้บริการทั้งหลายที่ต้องให้ความสำคัญความปลอดภัยต่างๆ และคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงผู้ใช้เองที่ต้องระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่โลกออนไลน์