: #DeleteFacebook กับความยากของการเลิกใช้เฟซบุ๊ค ***

 : #DeleteFacebook กับความยากของการเลิกใช้เฟซบุ๊ค ***

ตอนที่แล้วผู้เขียนเรียบเรียงข้อคิดจาก อีธาน ซุกเคอร์แมน (Ethan Zuckerman) ผู้อำนวยการ Center for Civic Media มหาวิทยาลัยเอ็มไอที

ซึ่งกำลังโค้ดเครื่องมืออย่าง Gobo - เว็บไซต์ https://gobo.social/ ขึ้นมาช่วยให้ผู้ใช้เฟซบุ๊คมองเห็นและครุ่นคิดถึงการทำงานของอัลกอริทึมเฟซบุ๊ค ในการเลือกและจัดอันดับเนื้อหาบน news feed มาให้เราอ่าน

ซุกเคอร์แมนเห็นว่า ตราบใดที่เฟซบุ๊คยังไม่ทำให้ผู้ใช้เป็น “ผู้จ่ายเงินซื้อ” แทนที่ “สินค้า” (ทำเงินจากการเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปขายโฆษณาแบบมุ่งเป้า และบริษัทอื่นที่อยากได้ข้อมูล) ตราบนั้นเฟซบุ๊คก็จะยังคงมีแรงจูงใจที่จะเอาใจบริษัทต่างๆ มากกว่าตัวเราซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลต่อไป

ซุกเคอร์แมนให้สัมภาษณ์ไม่ทันไร เฟซบุ๊คก็เผชิญกับมรสุมอีกหลายระลอกใหญ่ เริ่มจากการออกมาแฉของอดีตผู้ร่วมสร้างบริษัท Cambridge Analytica ว่า บริษัทนี้ใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊คกว่า 50 ล้านคน ในการทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งต่อมาชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี

ไม่ถึง 2 สัปดาห์ถัดมา เว็บไซต์ Ars Technica (ต้นฉบับ https://arstechnica.com/information-technology/2018/03/facebook-scraped-call-text-message-data-for-years-from-android-phones/)

ก็ตีพิมพ์บทความแฉว่า เฟซบุ๊คเก็บข้อมูลการโทรเข้าโทรออก และเนื้อหาข้อความทั้งหมดที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ (sms) ของผู้ใช้มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (android) ของกูเกิล ติดต่อกันมานานหลายปีแล้ว

ถึงแม้การออกมายอมรับกับทั้ง 2 ข่าวนี้ แต่ก็มีท่าทีปฏิเสธความรับผิดชอบ มากกว่าจะประกาศแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม โดยข่าวแรกเฟซบุ๊คอ้างว่า Cambridge Analytica เองนั่นแหละที่ผิดข้อตกลงกับเฟซบุ๊ค ส่วนข่าวที่สองอ้างว่า ผู้ใช้มือถือแอนดรอยด์เองนั่นแหละที่กด "ยินยอม" ให้เฟซบุ๊คเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งคนจำนวนมากก็แย้งว่า แค่ยินยอมให้เข้าข้อมูล contacts หรือเบอร์ติดต่อในมือถือ ไม่ได้แปลว่ายินยอมให้เก็บข้อมูลการโทรและข้อความทั้งหมดที่รับและส่ง เสียหน่อย

ท่าทีของเฟซบุ๊คยิ่งทำให้ผู้ใช้จำนวนมากโกรธบริษัท และดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นกระแสการ เลิกใช้เฟซบุ๊ก” แฮชแท็ก #DeleteFacebook บนทวิตเตอร์ เติบโตและขยายวงอย่างรวดเร็ว โดยมีดาราและคนดังจำนวนมากกระโจนเข้าร่วมวงไพบูลย์ด้วย แต่การดึงตัวเองออกจาก "ชีวิตที่ใช้ในเฟซบุ๊คและผ่านเฟซบุ๊คติดกันนานหลายปีนั้น ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเฟซบุ๊คได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคนจำนวนมหาศาลไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนย้ำว่า ผู้บริโภคในสหรัฐและอีกหลายประเทศอาจมีทางเลือกอื่นนอกจากเฟซบุ๊ค แต่สำหรับคนหลายล้านคนแล้ว "เฟซบุ๊คเป็นประตูสำคัญที่เปิดสู่โลกอินเทอร์เน็ต ที่จริงมันคืออินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่นเดียวที่หลายคนรู้จักด้วยซ้ำ ...มันมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในการสื่อสาร การสร้างชุมชน และการมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์” ในคำพูดของ ดร.ซาฟิยา โนเบิล (Safiya Noble) ผู้เขียนหนังสือ Algorithms of Oppression ซึ่งอธิบายว่าอัลกอริทึมเบื้องหลังกูเกิลนั้น "ผลิตซ้ำ" การเหยียดผิวในสังคมอย่างไร

จิลเลียน ยอร์ค (Jillian York) นักรณรงค์เสรีภาพเน็ตจาก Electronic Frontier Foundation (EFF) องค์กรโปรดของผู้เขียน เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เฟซบุ๊คติดกันมาหลายปี ตั้งแต่นโยบายในอดีตที่บังคับให้ผู้ใช้ระบุ “ตัวตน” ที่แท้จริงผ่านการใช้ชื่อจริง (ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่อยากออกมาแฉกรณีทุจริตหรือความไม่ชอบมาพากล แต่ไม่อยากเปิดเผยตัวตนเพราะกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้ง ในสังคมที่ยังขาดกลไกการคุ้มครองผู้ให้เบาะแสคอร์รัปชัน) และเธอก็เชื่อมั่นว่า บริษัทจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายและวิธีดำเนินธุรกิจอย่างสุดขั้ว ถ้าไม่อยากให้รัฐก้าวเข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้น

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยอร์คก็ยังคงใช้เฟซบุ๊ค และเข้าใจหัวอกของคนที่คิดว่า การเลิกใช้เฟซบุ๊คไม่ใช่คำตอบ

ยอร์ค ย้ำว่า ถึงแม้หลายคนจะมองว่าเฟซบุ๊คเป็นแหล่งแพร่ข่าวปลอม ข่าวลือไร้สาระ เรื่องบันเทิงเสียเวลา (มีแม้กระทั่งงานวิจัยที่บอกว่าการเล่นเฟซบุ๊คมีส่วนทำให้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า) เฟซบุ๊คก็ยังคงมีบทบาทสำคัญหลายเรื่องที่จริงจังกว่ากันมาก เธอยกตัวอย่างเพื่อนของตัวเองที่ป่วยเป็นโรคร้ายหายากที่มีคนเป็นน้อยมาก เพื่อนคนนี้พบว่า เฟซบุ๊คเป็นช่องทางเดียวที่เธอรู้จักที่มี "ชุมชนเสมือน" ของคนที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน ได้มาปรับทุกข์และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน เธอไม่อยากบอกชื่อจริงกับเฟซบุ๊ค เพราะไม่อยากเสี่ยงให้เพื่อนหรือนายจ้างหรือบริษัทประกันได้รับรู้ว่าเธอป่วยเป็นโรคนี้ ก็เลยตั้งโปรไฟล์หลอกๆ ขึ้นมาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนผู้ป่วย เพื่อนของยอร์คคนนี้บอกว่า ความรู้และกำลังใจที่เธอได้รับจากเพื่อนผู้ป่วยกลุ่มนี้มีค่ามาก และคนในกลุ่มนี้จึงไม่อยากเลิกใช้เฟซบุ๊คหรือย้ายไปที่อื่น

ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์ที่สินค้าหรือบริการอะไรสักอย่างมี "คุณค่าหรือประโยชน์มากขึ้นเมื่อมีคนใช้มากขึ้นว่า "ผลจากเครือข่ายหรือ network effect -เราใช้เฟซบุ๊คเพราะเพื่อนจำนวนมากที่เรารู้จักใช้เฟซบุ๊ค และยิ่งมีเพื่อนเราใช้มาก มันก็ยิ่งมีประโยชน์สำหรับเรา และในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นคนแรกที่เลิกใช้เฟซบุ๊ค เราก็จะรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเดียวดายทันทีและไม่สนุกเลย

สำหรับคนในกลุ่มเปราะบางอย่างเช่นชนกลุ่มน้อย ผู้ป่วยโรคร้าย หรือชนชาติที่ย้ายถิ่นฐานไปหางานนอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอน การเลิกใช้เฟซบุ๊คหมายถึงการทิ้ง "ตาข่ายสังคม" ที่อุ้มชูชีวิตของพวกเขา

ยังไม่นับว่าเฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว หรือ microentrepreneur นับล้านราย ที่อาศัยเฟซบุ๊คเป็นช่องทางหลักในการมองหาและเข้าถึงลูกค้า ศิลปินทุกแขนงจำนวนไม่น้อยอาศัยเฟซบุ๊กเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงาน สื่อพลเมือง อย่าง CSI LA ที่อาศัยเฟซบุ๊คเป็นช่องทางเปิดโปงเรื่องไม่ชอบมาพากลที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบใจ และนักกิจกรรมจำนวนมหาศาลก็อาศัยเฟซบุ๊คเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จัดการชุมนุมประท้วงหรือเดินขบวนในประเด็นที่พวกเขารณรงค์

ในเมื่อเฟซบุ๊คสำคัญขนาดนี้ แล้วเรามีทางเลือกอะไรบ้างในการมองหรือรับมือกับปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้น นักพัฒนาไอทีกับภาครัฐควรจะมีบทบาทอะไร?

โปรดติดตามตอนต่อไป

*** ชื่อเต็ม: สื่อในศตวรรษที่ 21 (16) : #DeleteFacebook กับความยากของการเลิกใช้เฟซบุ๊ค