ภาวะการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่สดใดดังคาด

ภาวะการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่สดใดดังคาด

ไตรมาสแรกของปี 2018 ผ่านไปแล้ว รวมทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามคาด แต่ภาวการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นนั้น

ไม่ได้เป็นไปตามการคาดหวังของนักลงทุนเลย กล่าวคือแม้ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าการลงทุนในปีนี้จะสดใส เพราะแม้การปรับขึ้นของดอกเบี้ยจะทำให้หุ้นและสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมีความน่าลงทุนน้อยลง (หุ้นราคาแพง) แต่ก็มีความเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวอย่างกว้างขวางและพร้อมเพรียงกันของเศรษฐกิจโลก จะทำให้ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยถ้วนหน้า 

ทั้งนี้ นักลงทุนยังมีความมั่นใจ เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ สามารถทำให้รัฐสภาเห็นชอบการออกกฎหมายงบประมาณที่ปลดล็อกเพดานงบประมาณรายจ่าย ทั้งที่เกี่ยวกับกิจการภายในประเทศของรัฐบาล และงบประมาณด้านการทหาร ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังที่เพิ่มเติม จากการออกกฎหมายปรับลดภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคล เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้เป็นนโยบายที่ทรงพลังอย่างมาก

แต่ปรากฏว่าตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เลย (และปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดของดัชนี เมื่อปลายเดือนมกราคม) ทางธนาคารอเมริกาเมอร์ริล ลินซ์ (BAML) พันธมิตรของภัทรฯ ยอมรับว่า เริ่มมีนักลงทุนตั้งคำถามว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น ที่จริงแล้วกำลังอ่อนตัวลงแล้วหรือไม่ โดย BAML ประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งขยายตัวประมาณ 2.9% ในไตรมาส 3 ของปี 2017 นั้น ได้ลดตัวลงเป็น 2.3% ในไตรมาส 4 ของปี 2017 และ คาดการณ์ว่า จีดีพีของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจขยายตัวเพียง 1.5-2.0% ในไตรมาสแรกของปี 2018

BAML เตือนว่าตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาสแรกจะดูไม่แจ่มใสเท่าที่ควร แต่มั่นใจว่าการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากสาเหตุสุดวิสัยที่ส่งผลเพียงชั่วคราว เช่นการที่กรมสรรพากรของสหรัฐส่งคืนภาษีเงินได้ให้ประชาชนล่าช้า เพราะพยายามปฏิบัติตามกฎหมาย (ลด) ภาษีอย่างเข้มงวด นอกจากนั้น ปรากฏว่าอากาศในไตรมาสแรกโดยเฉพาะในเดือน มี.ค.นั้น หนาวเย็นเกินคาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ (มีพายุหิมะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสหรัฐในเดือนมีนาคม ซึ่งควรเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว เป็นต้น) กล่าวคือเศรษฐกิจน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป เนื่องจากตัวแปรบางตัว เช่น ยอดสั่งซื้อทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและภาคบริการยังขยายตัวดี การลงทุนของภาคเอกชนก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และความมั่นใจของผู้บริโภคก็ขยับตัวสูงขึ้น เพราะการจ้างงานเพิ่มขึ้น

สิ่งที่นักลงทุนบางส่วนกังวลคือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวร้อนแรงเกินคาด ทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับตัวขึ้นสูงเกินเป้าหมาย ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ถึง 4 ครั้งในปีนี้ แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ยังคาดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะปรับตัว 3 ครั้ง 

อย่างไรก็ดี ความกังวลเรื่องของเงินเฟ้อและการปรับขึ้นของค่าจ้างที่สูงเกินคาด ทำให้เกิดความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา และดอกเบี้ยระยะยาวคือ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณ 2.1% ในเดือน ก.ย. ขึ้นมาใกล้ 3% ในเดือน ก.พ. แต่ในระยะหลังนี้ก็ปรับลดลงไปอยู่ที่ 2.82-2.84% เรื่องของเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของค่าจ้าง และการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐก็คงจะยังเป็นเรื่องที่ตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดปีนี้

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินดอลลาร์ที่เสียงส่วนใหญ่นักวิเคราะห์คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นนั้น กลับอ่อนค่าลง ตรงนี้ดูเหมือนจะแย้งกับมุมมองที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐ มีความโดดเด่นน่าลงทุน (และควรมีการขนกำไรกลับประเทศ โดยบริษัทข้ามชาติของสหรัฐ) ซึ่งผมสรุปว่าเป็นเพราะตลาดยังไม่วางใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และในระยะหลังนี้มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันการค้าที่เป็นรูปธรรมของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะการกดดันให้จีนต้องลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐลง 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี (จากปัจจุบัน 375,230 ล้านดอลลาร์ต่อไป) ปัจจุบันสหรัฐส่งออกไปจีนเพียง 130,370 ล้านดอลลาร์ แต่นำเข้าจากจีน 505,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 

การกีดกันการนำเข้าสินค้าจีนอย่างกว้างขวาง จะส่งผลกระทบ 2 ประการ คือ หนึ่ง จีนต้องตอบโต้ (โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่งจะรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในเดือนที่ผ่านมา) และ สอง อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐน่าจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะสินค้าจีนช่วยลดต้นทุนการผลิตและการบริโภค ซึ่งทั้ง 2 ประการ เป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ที่น่าเป็นห่วงคือ การกีดกันทางการค้านั้นได้รับการสนับสนุนทางการเมือง ทั้งจากพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่จีนซึ่งกีดกันและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐมายาวนาน ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ มีจังหวะที่จะตอบโต้การละเมิดดังกล่าว โดยการดำริว่าจะปรับขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าของจีน 50,000-60,000 ล้านดอลลาร์ หากเกิดการตอบโต้ทางการค้ากันระหว่างสหรัฐกับจีนก็อาจทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว ดังที่คาดเอาไว้ในปีนี้ครับ​