อาเซียนภายใต้พลวัตทุนนิยมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

อาเซียนภายใต้พลวัตทุนนิยมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงปริมาณ (Quantitative Changes) เชิงคุณภาพ (Quanlitative Changes) และเกิดขึ้นทุกมิติ

 มีลักษณะเป็น Disruptive Technology เคลื่อนตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สู่เศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม (Knowledge and Innovation-Based Economy) มากขึ้นตามลำดับ และ อุตสาหกรรมก็เคลื่อนตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 เกิดการพลิกผันในอุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมอย่างรุนแรง 

นักอนาคตศาสตร์มองว่า รูปแบบของสื่อ อาชีพในอุตสาหกรรมสื่อ บันเทิงจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและจะเปลี่ยนแปลงอีกระลอก จากผลกระทบทางเทคโนโลยี 5G, Blockchain และ AI ที่ทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมได้อย่าง Realtime และ Peer-to-Peer บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะว่าภายในปี 2020 โทรศัพท์ 5G Smartphone จะติดตั้งซอฟต์แวร์ Blockchain, AI และมีปริมาณความจุข้อมูล (Data Storage) ที่สถาบันการเงินเคยสามารถทำได้ทั้งหมดบรรจุอยู่บน Smartphone ทุกเครื่อง  

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมในเชิงโครงสร้าง พลังนี้ควรจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกบูรณาการกันมากขึ้น (Integration) มากขึ้น

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนในช่วงปี 1980-2017 ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลก จากการเกินดุลการค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน ประเทศจีนจึงกลายเป็นประเทศที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งดำรงสถานะมหาอำนาจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็น “เอกอัครมหาอำนาจ” หลังสิ้นสุดสงครามเย็น หลังการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต 

อนาคตโลกในระยะต่อไปจึงขึ้นอยู่กับการพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างซับซ้อน ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐ และจีน หากทั้ง 2 ประเทศยังสามารถรักษารูปแบบความสัมพันธ์แบบ “การแข่งขันแบบร่วมมือ” (Cooperative Competition) โลกก็ไม่น่ามีความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามขนาดใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม การที่จีนแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีวาระ ทำให้ระบอบอำนาจนิยมแข็งตัวยิ่งขึ้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองเป็นเวลานานของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเดิม จะกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด พลังของผู้ประกอบการที่เติบโตจากระบบทุนนิยมแบบจีนหลังยุค “เติ้ง เสี่ยวผิง” จะท้าทายต่อการรวมศูนย์อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค “สี จิ้นผิง”  มากขึ้น ขณะที่สหรัฐก็ได้ผู้นำจากการเลือกตั้งที่มีสไตล์การบริหารแบบอำนาจนิยม มีการดำเนินนโยบายแบบไม่คงเส้นคงวา และบางครั้งสวนทางกับการเปิดเสรีในระบบการค้าโลก

ในช่วง 1-2 ทศวรรษข้างหน้า ไทยรวมทั้งอาเซียนจะเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงบทบาท อำนาจ และผลประโยชน์ของ 2 มหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐ กุศโลบายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จึงมีความสำคัญยิ่ง สำหรับไทยซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศอาเซียนได้ จึงต้องเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ หากดำเนินการหรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไม่ดีพอ อาจนำประเทศเข้าสู่ทศวรรษแห่งความถดถอยได้ หากวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย หากไม่ฉกฉวย มุ่งมั่นในบรรลุเป้าหมายแล้ว โอกาสก็จะผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดาย

ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างที่มีกลุ่มบูรณาการทางเศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา อันมีสหรัฐและกลุ่มเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นผู้นำ กลุ่มอียู โดยมีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นผู้นำ กลุ่มเอเชียตะวันออก โดยมีจีนเป็นผู้นำ ลักษณะเป็น ไตรภาพ (Tri-Polars) และคงต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไปของภูมิภาคตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา ว่าจะขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างไร 

การเติบโตขึ้นของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและข้อตกลงทางการค้าในระดับภูมิภาค จะส่งผลอย่างไรต่อระบบการค้าโลก ภูมิภาคนิยมจะส่งผลอย่างไรต่อระบบการค้าแบบพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลกเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม 

ล่าสุด การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ไทยและอาเซียนที่เพิ่งผ่านพ้น โดยรวมน่าจะได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งอย่างจำกัด เพราะยังขาดยุทธศาสตร์ในการเจรจา และประเทศไทยก็ยังไม่มียุทธศาสตร์อาเซียน และ ยุทธศาสตร์อาเซียน-ออสเตรเลีย ที่ชัดเจน ถ้อยแถลงของรัฐบาลหลังการประชุมยังเป็นหลักการและแนวทางกว้างๆ เท่านั้น อาเซียนโดยรวมก็ได้รับประโยชน์อย่างไม่เต็มที่เช่นเดียวกัน ขาดการทำยุทธศาสตร์ร่วมกันในบางเรื่อง ควรยกระดับจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบ FTA สู่การเป็น สหภาพทางภาษีศุลกากร หรือ Customs Union อันนำไปสู่การมีนโยบายการค้าร่วมกันต่อประเทศภายนอกอาเซียน

ในอาเซียนก็มีปัญหาการฟอกเงินและคอร์รัปชันมาก รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางประเทศ จึงมีการชุมนุมประท้วงโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในออสเตรเลีย เวลาหารือกันจึงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงและถกแถลงกันได้ไม่เต็มที่ หรือ Controversial

เส้นทางการรวมกลุ่มอาเซียนเป็นกระบวนการอันยาวนาน เพียงแต่ว่าปลายปี 2558 มีการตั้งเป้าหมายว่า ข้อกีดกันทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะภาษีศุลกากรจะไม่มีอีกต่อไป สินค้า บริการ แรงงานฝีมือ (8 สาขาวิชาชีพ) จะได้มีการเคลื่อนย้ายเสมือนไม่มีพรมแดนทางเศรษฐกิจอีกต่อไป จุดเปลี่ยนนี้มีผลต่อไทยอย่างมาก และเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบอย่างยิ่ง ช่วงเวลาแห่งทศวรรษหน้านี้ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ

ระบบทุนนิยมโลกในศตวรรษที่ 21 นั้นมีความซับซ้อน (Complex) พึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) มากยิ่งกว่าทุนนิยมโลกในศตวรรษที่ 20 และการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง (Structural Transformation) ที่ค่อนข้างรวดเร็ว และบทบาทของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น การชี้นำสังคมในด้านต่างๆ มิใช่เป็นเรื่องผูกขาดโดยกลุ่มชนชั้นนำอีกต่อไป บทบาทของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นนี้เป็นผลมาจากระบบที่เปิดกว้างมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศสื่อสารโทรคมนาคมได้ทำลายข้อกีดกั้นต่อการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ ปัญหาต่างๆ ของโลกก็มีลักษณะปัญหาแบบข้ามพรมแดนข้ามชาติมากขึ้นอีกด้วย การมีระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลผ่านองค์กรเหนือชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญมากขึ้น