ทำไม? ยุโรปจึงไม่มีชนชาติที่ครอบงำได้ทั่วยุโรป

ทำไม? ยุโรปจึงไม่มีชนชาติที่ครอบงำได้ทั่วยุโรป

ผู้ที่อ่านประวัติศาสตร์ ทั้งของยุโรปและจีนลึกๆ คงตั้งคำถามว่า ทำไม? ยุโรปจึงไม่มีเชื้อชาติใดที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะครอบงำเชื้อชาติอื่นๆ

ได้ทั่วทั้งยุโรป ในลักษณะเดียวกับเชื้อชาติฮั่น ครอบงำได้ทั่วทั้งประเทศจีน

ถ้าจะอ้างว่า จีนมีขนาดเล็กกว่า ครอบงำง่ายกว่าก็คงไม่ใช่ เพราะว่าจีนปัจจุบันมีเนื้อที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ขณะที่ยุโรปมีเนื้อที่ 10.2 ล้าน ตร.กม. ถ้ารวมมองโกเลียเข้าไปด้วย จีนในสมัยโบราณจะมีขนาด 11.2 ล้าน ตร.กม. ดังนั้นขนาดจึงไม่ใช่สิ่งที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

Chin Yu Ko, Mark Koyama, Tuan-Hwee Sng (2014) ได้เขียนบทความ “Unified China and Divided Europe” เพื่ออธิบายว่า ยุโรปประกอบด้วยประเทศเล็กๆ แต่จีนเป็นปึกแผ่นเพียงหนึ่งเดียว โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การรุกรานจากศัตรูภายนอกที่เข้มแข็งมากเพียงหนึ่งเดียว หรือศัตรูภายนอกขนาดเล็กๆ หลายราย

การมีศัตรูภายนอกที่เข้มแข็งรายใหญ่ ทำให้จีนจำเป็นต้องรวมกันอยู่เป็นประเทศขนาดใหญ่ เพื่อให้มีกำลังต่อกรกับศัตรูอย่างเพียงพอ ในขณะที่ยุโรปมีศัตรูภายนอกรายเล็กกว่า แต่มาจากหลายด้าน ทำให้แต่ละประเทศมีกำลังเพียงพอในการต่อกรกับศัตรูโดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากนัก โดยในบรรดา 10 ราชวงศ์ ที่สามารถปกครองจีนอย่างเป็นปึกแผ่นนั้น มี 3 ราชวงศ์ที่พ่ายแพ้ชนเผ่า 2 ราชวงศ์ที่มาจากชนเผ่า 2 ราชวงศ์ที่สร้างเสริมกำลังมากไปจนประชาชนเดือดร้อน และอีก 3 ราชวงศ์ที่เป็นยุคทองจากการปราบปรามชนเผ่าทางเหนือได้

แม้ว่าศัตรูภายนอกของจีน ณ ขณะใดขณะหนึ่งจะมีเพียงหนึ่งราย แต่ที่จริงแล้วชนเผ่าที่เป็นศัตรูมีจำนวนมาก ประวัติศาสตร์ดูจะไม่ได้กล่าวถึงขนาด แต่ถ้าดูตามประวัติศาสตร์แล้ว การพ่ายแพ้ของจีนมักจะเกิดขึ้นในเวลาที่ราชวงศ์อ่อนแอมากกว่า ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ที่สามารถปราบชนเผ่าที่แข็งแกร่งได้อย่างราบคาบ เช่น ราชวงศ์หมิง ก็มีอยู่ ขนาดของศัตรูจึงไม่น่าจะเป็นประเด็น

ดังนั้น ความเป็นปึกแผ่นของจีน น่าจะมาจากความบังเอิญทางประวัติศาสตร์หรืออาจเรียกว่า ดวงเมือง ก็ได้ กล่าวคือ จีนมี ฉินซีฮ่องเต้ ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 221 ก่อนคริสตกาล จากการปราบปรามประเทศย่อยๆ 6 ประเทศ แล้วทำไมจะต้องปราบทั้ง 6 ประเทศด้วยเล่า?... ประวัติศาสตร์ก็เขียนไว้เพียงนิดเดียวว่า “ถ้าไม่ปราบเขา เขาก็จะปราบเรา” และบังเอิญ “ฉิน” ก็มีศักยภาพเพียงพอเสียด้วย

ทำไม? ยุโรปจึงไม่มีชนชาติที่ครอบงำได้ทั่วยุโรป

ภาพวาดใบหน้า "ฉินซี ฮ่องเต้"

สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้แต่มณฑลยูนนานและกวางสี ที่สุดหล้าฟ้าเขียวก็อยู่ภายใต้อำนาจของจีนมาตั้งแต่ ฉินซี ฮ่องเต้ แล้วการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งตรงจากส่วนกลาง ก็เริ่มต้นในสมัยฉินซี พระองค์ยังประกาศให้ใช้ภาษาและระบบชั่งตวงวัด ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้จีนกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ ไม่ว่าจะแตกออกไปสักกี่ครั้ง ภาพชีวิตประชาชนท่ามกลางขุนเขาลึกอาจมีเครื่องแต่งกายที่แตกต่าง แต่สิ่งก่อสร้างและภาษาที่เป็นทางการยังคงแสนจะจีนไม่เปลี่ยนแปลง

ข้ออ้างที่ว่า ยุโรปมีภูมิประเทศที่ยากต่อการรวบรวมดินแดนก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเทือกเขาสูงที่ต่อเนื่องกันมากมายในจีน

ในยุโรป อาณาจักรโรมัน ล่มสลายในศตวรรษที่ 5 ด้วยพวกเปอร์เซีย และพวกชนเผ่าในดินแดนเยอรมันปัจจุบัน อาณาจักร Carolingian เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 8 ครอบคลุมดินแดนบางส่วนของสเปน ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนีปัจจุบัน แต่ก็ล่มสลายไปอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 9 ด้วยพวก Magyars Vikings และ มุสลิม อย่างไรก็ดี ยุโรปไม่มีศัตรูภายนอกตั้งแต่ศตวรรษที่ 11-15 จึงเริ่มมีการคุกคามจากอาณาจักร Ottomans การคุกคามจากศัตรูในยุโรปที่ไม่มากเท่าในจีน ทำให้แต่ละประเทศต่างมุ่งไปที่การรบกับประเทศในยุโรปด้วยกันเอง จนกระทั่งจำนวนสงครามในยุโรปมีไม่น้อยกว่า 2 เท่าของจีน

แม้ว่ายุโรปจะมีศัตรูน้อยกว่า แต่ด้วยสงครามในยุโรปด้วยกันเอง ภาระค่าใช้จ่ายจึงตกอยู่แก่ประชาชนในรูปของภาษี ที่มีขนาด 5-8 เท่าตัวของในจีน เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจอยู่แล้ว เพราะว่าประเทศใหญ่ที่มีประชากรมาก ย่อมมีภาระเฉลี่ยต่อหัวที่ต่ำกว่า

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ สงครามที่มีจำนวนมากครั้งกว่า แต่ขนาดไม่ใหญ่ในยุโรป ส่งผลต่อการขยายตัวของประชากรและเศรษฐกิจน้อยกว่าในจีน ที่แต่ละครั้งของการคุกคามจะมีความรุนแรง และมีลักษณะของการกวาดล้างทั่วทั้งแผ่นดิน ส่งผลให้การลงทุน การผลิตลดลง และส่งผลให้แรงจูงใจสร้างนวัตกรรมลดลงด้วย นี่คือสิ่งที่อ้างเป็นสาเหตุให้นวัตกรรมในจีนต้องตามหลังยุโรป ภายหลังการครอบงำจีนของมองโกลเป็นต้นมา

งานเขียนอื่นๆ นอกจากบทความที่อ้างถึงนี้เกือบจะไม่มีเลย หรือแม้จะมีชิ้นหรือสองชิ้น ก็มีเนื้อหาที่ไม่ตรงนัก เช่น Brix (2002) “The Role of Culture in the Decline of European Empires” ควรจะเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น “The Role of Culture AS AN INDICATION OF the Decline of European Empires” ทั้งนี้เพราะว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในยุโรป เป็นสิ่งที่ชี้ว่าจักรวรรดิในยุโรปไม่มีอำนาจเพียงพอในการครอบงำชนชาติเล็กๆ จำนวนมากที่มีอยู่ได้

Schwart (2011) “State Formation in Early Modern Europe” ได้กล่าวถึงจักรวรรดิ 5 แห่ง ระหว่างศตวรรษที่ 17-18 ที่พยายามขยายอาณาเขตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาได้กล่าวใจความตอนหนึ่งที่น่าสนใจและมีความสำคัญมาก คือ “การขยายและรวมศูนย์อำนาจของจักรวรรดิไม่มีความพยายามอย่างจริงจัง ที่จะทำลายสถาบันตามประเพณีที่มีอยู่ เพียงแต่พยายามควบคุมให้อยู่ในกรอบเท่านั้น”

Charles Tilly (1992) ได้กล่าวไว้หลายต่อหลายครั้งใน Coercion, Capital, and European States ว่า ประเทศในยุโรปมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้นในการทำสงครามจากวิวัฒนาการของดินปืน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทำให้ต้องพึ่งนายทุนขุนนางในเมือง และนายทุนในท้องถิ่น กอรปกับการเริ่มเกณฑ์ทหารท้องถิ่นทดแทนทหารรับจ้าง รัฐบาลกลางจึงจำเป็นต้องควบคุมประชาชนอย่างใกล้ชิด ทั้งในเมืองและท้องถิ่น แล้วปล่อยให้ศูนย์อำนาจย่อยและประชาชนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น นี่คือการปกครองครองจักรวรรดิอย่างเป็นปึกแผ่นแรกๆ ของยุโรป ที่มาหลังจีนถึง 2,000 ปี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเกิดขึ้นได้ยากกว่า

ในประเทศจีน ความเป็นปึกแผ่นเริ่มต้นในปี 221 ก่อนคริสตกาล ด้วยการรวมศูนย์ ระบบสอบคัดเลือกข้าราชการที่ควบคุมจากส่วนกลาง เริ่มขึ้นในปี 605 สมัยราชวงศ์สุย เนื้อหาที่สอบอาจสรุปภายใต้สิ่งที่เรียกว่า 四经五书 ซึ่งกล่าวถึง จริยธรรม สภาพสังคม ประวัติศาสตร์ มารยาท ระบบและคำสั่งปกครอง และแนวคิดทางการเมือง เนื้อหาส่วนใหญ่เริ่มต้นขึ้นในสมัยขงจื้อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าชนชาติทั้งหลายในจีนจะมีความแตกต่างกันอย่างไร แต่เมื่อมาถึงจุดที่ว่า ผู้ใดต้องการความก้าวหน้า ก็ต้องถูกบังคับให้แนวคิด ภาษา ขนบธรรมเนียม อยู่ภายใต้กรอบของเนื้อหาเหล่านี้ แม้ผู้คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องการสอบคัดเลือก แต่ต้องการเป็นปัญญาชนก็คงใช้แนวทางที่ไม่แตกต่างกันมากนัก นี่คือสิ่งที่ผู้คนทุกยุคทุกสมัยในจีนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นักวิชาการตะวันตกหลายท่านกล่าวว่า ภาษาถิ่นที่มีจำนวนมากในจีนทำให้แตกแยก เพราะว่าพูดกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ชาวจีนสามารถฟังภาษาถิ่นอื่นๆ ได้เข้าใจมากคล้ายๆ กับภาษาย่อยต่างๆ ในยุโรป

ยุโรปไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้คนหรือชนชาติต่างๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ที่สำคัญคือ ไม่มีชนชาติใดที่มีความสามารถพอที่จะปราบปรามสยบชนชาติอื่นได้ทั้งหมด